ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจ BIC

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจ BIC

รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เตรียมทุ่มเงินสนับสนุนวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่

รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เตรียมทุ่มเงินสนับสนุนวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2565

| 1,516 view

รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เตรียมทุ่มเงินสนับสนุนวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่

The Economic Information Daily รายงานถึงแผนสนับสนุนเงินทุนแก่วิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industry) ในหลายมณฑลของจีน ได้แก่ มณฑลชานซี มณฑลซานตง และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย โดยแผนดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีศักยภาพซึ่งจะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจีนในอนาคต โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission : NDRC) ได้ลงนามร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (China Development Bank : CDB) ในความร่วมมือด้านเงินทุนสนับสนุนแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรมดังกล่าวจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP) ภายในปี 2563      

ในส่วนของรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ประกาศจะสนับสนุนงบประมาณแก่วิสาหกิจท้องถิ่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทคที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสำหรับการวิจัยเทคโนโลยีและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยได้อนุมัติงบประมาณครั้งแรกแล้วจำนวณ 20 ล้านหยวน (ราว 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานใน 13 โครงการไฮเทคขนาดใหญ่ในพื้นที่ คาดการณ์ว่า เมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้ราว 3,650 ล้านหยวน (ราว 544.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

รู้จักกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในเขตฯ หนิงเซี่ยหุย

 แม้ว่าเขตฯ หนิงเซี่ยหุย จะได้ชื่อว่าเป็นมณฑลที่ห่างไกลความเจริญและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก    แต่นั่นถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลเขตฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ซึ่งตั้งเป้าให้มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของเขตฯ หนิงเซี่ยหุยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ภายในปีนี้ และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 12 ภายในปี 2563

ปัจจุบัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยให้การสนับสนุนได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการผลิตยา และ (2) อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 30 และ 10 ตามลำดับ นอกจากนี้ รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยยังวางเป้าหมายยกระดับศักยภาพในอุตสาหกรรมข้างต้นให้เป็น (1) อุตสาหกรรมการผลิตไฮเอนด์ (High-end manufacturing) เพื่อเพิ่มโอกาสการทำตลาดในกลุ่มลูกค้าชั้นดีที่มีกำลังซื้อสูงและมีรสนิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ชั้นเยี่ยม และ (2) อุตสาหกรรมกลุ่ม Green low carbon ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวของรัฐบาลเขตฯ ด้วยการสร้างระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนดำเนินงานระยะสั้น ได้แก่ โครงการก่อสร้าง Double Demonstration Base (双创示范基地)1 ณ เขตเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครหยินชวน (Ningxia Hui Autonomous Region Yinchuan Economic and Technological Development Zone) เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการลงทุน และเป็นฐานสาธิตนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัยของประเทศ

บทสรุป

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุย มีความพยายามในการยกระดับความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยในปี 2560 รัฐบาลเขตฯ ได้วางเป้าหมายทางเศรษฐกิจ อาทิ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 อัตราการเติบโตของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ดัชนีเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 3 รวมไปถึงความพยายามในการสร้างสังคมนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติในการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพความเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยนครหยินชวนได้รับเลือกให้เป็นเมืองอัจฉริยะนำร่อง (National Pilot Smart City) ซึ่งรัฐบาลเขตฯ ได้เริ่มการลงทุนในโครงการต่างๆ บ้างแล้ว เช่น โครงสร้างสังคมนวัตกรรมผ่านโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น ศูนย์บริการความปลอดภัยสาธารณะ (การติดตั้งเครื่องบันทึกใบหน้าในอาคารที่พักอาศัยและโรงพยาบาล (Facial Recognition)) โครงการก่อตั้งหมู่บ้านอัจฉริยะ เป็นต้น ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญในพื้นที่ ซึ่งความพยายามดังกล่าวอาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่หากสามารถทำได้ก็จะสามารถทำให้ เขตฯ หนิงเซี่ยหุยเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. Double Demonstration Base (双创示范基地) เป็นหนึ่งในรูปแบบการก่อตั้งพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ปัจจุบัน มีพื้นที่สำคัญในแต่ละมณฑลได้รับอนุมัติแล้วกว่า 109 แห่งทั่วประเทศ โดยมากกระจายอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ โดยในมณฑลส่านซีมีพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติจัดตั้ง Double Demonstration Base แล้วที่เขตใหม่ซีเสียนและเขตสาธิตเกษตรไฮเทคหยางหลิง ส่วนในมณฑลกานซู่อยู่ที่เขตเฉิงกวน นครหลานโจว เพื่อเป็นฐานสาธิตการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรให้ทัดเทียมไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีนยุคใหม่      

ข้อมูลอ้างอิง

1. http://www.nxdofcom.gov.cn/zcfggjzc/2975.jhtml

2. http://www.globaltimes.cn/content/1058705.shtml

3. http://www.gov.cn/zhengce/content/2016-05/12/content_5072633.htm

4. http://news.cnr.cn/native/gd/20170727/t20170727_523870207.shtml

5. http://www.jjckb.cn/2017-07/12/c_136438373.htm