ไทย-กานซูกับโอกาสความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมสัมมนาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีน (กานซู)

ไทย-กานซูกับโอกาสความร่วมมือ ผ่านกิจกรรมสัมมนาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีน (กานซู)

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ส.ค. 2566

| 404 view

“การมาเยือนนครหลานโจวครั้งนี้ ได้เห็นถึงศักยภาพของมณฑลกานซู ที่ไทยพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมกันแสวงหาความรุ่งเรืองที่ยั่งยืน หวังว่าเวทีการสัมมนาในครั้งนี้จะสามารถต่อยอดความร่วมมือไทย-กานซู ไม่เพียงเฉพาะในมิติความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน แต่อาจพิจารณาขยายไปยังการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพและความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร” นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวในปาฐกถาเปิดงานสัมมนาเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีน (กานซู)

เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศเกียรติยศในงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนนครหลานโจวครั้งที่ 29 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานร่วมกับกรมพาณิชย์มณฑลกานซู สำนักงานการต่างประเทศมณฑลกานซู และศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมณฑลกานซู จัดสัมมนาส่งเสริมอุตสาหกรรมและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าขึ้น ซึ่งถือเป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ศักยภาพประเทศไทยครั้งแรกของมณฑลกานซู ที่มุ่งเชื่อมโยงทุกความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมณฑลกานซูให้มากยิ่งขึ้น

ภายในงานมีนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง และนายหม่า ถิงลี่ (Ma Tingli: 马挺利) รองประธานสภาประชาชนแห่งมณฑลกานซู ร่วมเป็นประธานในพิธีพร้อมกล่าวสุนทรพจน์ มีนายเฉิน เต๋อไห่ (Chen Dehai:陈德海) เอกอัครราชทูตประจำกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายสือ จงจวิ้น (Shi Zongjun:史忠俊) เลขาธิการใหญ่ศูนย์จีน-อาเซียน เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง พร้อมกันนี้ ได้รับเกียรติจากนางอรพินทร์ หาญชาญชัยกุล กงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน นางดลพร อัชววรกุล กงสุลการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ นายเฉิน เฟิงเหยียน (Chen Fengyan:陈锋彦) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจมณฑลกานซู นายหม่า จี้หลิน (Ma Jilin:马继林) รองประธานบริหาร CP Group มณฑลกานซู นางเถียน ย่าหนาน (Tian Yanan:田亚男) ผู้จัดการใหญ่บริษัท Lanzhou Foci International Business Co., Ltd และนายสยามณัฐ พนัสสรณ์ อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นวิทยากรให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมงานชาวจีนมากกว่า 120 ราย

ภายในงาน ยังได้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านช่วงถาม-ตอบ ซึ่งผู้ประกอบการชาวกานซูได้ให้ความสนใจในข้อมูลการลงทุนด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่, การแลกเปลี่ยนสมุนไพรไทย-จีน ตลอดจนโอกาสในการนำแนวคิดการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการขับเคลื่อนนโยบาย “Bio-Circular-Green Economy” หรือ BCG Model ของประเทศไทยมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายมณฑลแห่งอุตสาหกรรมสีเขียว (Green and Low Carbon Industrial) ของมณฑลกานซู นอกจากนี้ ภายนอกห้องประชุมยังได้มีการจัดส่วนประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นของไทยและมณฑลกานซู อาทิ ผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง, เห็ด, เก๋ากี้, ทุเรียนสดและแบบอบกรอบ, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวโดยสารสกัดธรรมชาติ, น้ำมันมะพร้าวสกัดสำหรับใช้กับร่างกาย, เครื่องปรุงรสและอาหารไทยกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการที่ร่วมงานเป็นจำนวนมาก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ