Flavours of Thailandโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างแดน

Flavours of Thailandโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างแดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ต.ค. 2564

| 5,042 view

เขียนโดย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย-จีน ณ นครซีอาน   

 “ประเทศไทยนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องของการอยู่การกิน เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมาเป็นเวลายาวนาน และเมื่อรับทราบข่าวว่า มีการจัดเทศกาลอาหารไทยขึ้น พวกเขาจึงไม่รีรอที่จะเข้ามาลิ้มลองรสชาติของความเป็นไทย แม้ว่าจะไม่เคยเดินทางไปประเทศไทยเลยก็ตาม...”

เทศกาลอาหารไทย ถือเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายเชิงรุกที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจด้านพาณิชย์และบริการของไทยในต่างประเทศ อันจะส่งผลทางอ้อมต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถดึงดูดความสนใจของชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรมและอื่น ๆ ของประเทศสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย หันมาให้ความสนใจในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ผ่านการจัดเทศกาลอาหารไทยในต่างแดนอย่างต่อเนื่อง         

วัตถุประสงค์หลักของการจัดเทศกาลอาหารไทย นอกจากจะเป็นช่องทางสำหรับนักลงทุนที่ต้องการทำธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งก็คือการเปิดร้านอาหารไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในสายตาของชาวต่างชาติในประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในนครซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซี ทางภาคตะวันตกของจีน โดยในระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – วันที่ 8 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา โรงแรม Sofitel on Renmin Square, Xi’an ได้ร่วมมือกับโรงแรมโซฟิเทล สีลม (ประเทศไทย) จัดงาน Flavours of Thailand ครั้งที่ 2 ขึ้น ซึ่งถือเป็นงานเทศกาลอาหารไทยที่จัดขึ้นโดยภาคเอกชน มีลักษณะเป็นการจำหน่ายอาหารไทยแบบบุฟเฟ่ต์ช่วงกลางวันและค่ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อประชาสัมพันธ์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และเป็นการแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

การจัดงานเทศกาลอาหารไทยในครั้งนี้มีระยะเวลานานถึง 10 วัน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้รับเชิญร่วมลิ้มลองอาหารไทยในรสชาติที่คุ้นเคย และยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับแม่ครัวใหญ่หรือเชฟใหญ่ คือคุณวรรณา แสงบัวงาม จากโรงแรมโซฟิเทล สีลม ของไทย ตลอดจนทีมงานจากโรงแรมเดียวกันอีก 2 คน คือคุณวัชระ ลิ่มภัทรพงศ์ และคุณณัฐติกานต์ กระแสสินธุ์ ทำให้เกิดความคิดว่าเทศกาลอาหารไทยน่าจะเป็นถนนสายสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่จะนำพาวัฒนธรรมไทย และประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ของเชฟใหญ่ในการร่วมงานเทศกาลอาหารไทยใน ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะที่นครซีอานซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว พบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารต่างประเทศของนักท่องเที่ยว หรือคนท้องถิ่นที่เป็นชาวจีนในนครซีอาน ส่วนมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจที่จะเรียนรู้และมีความกล้า เรียกได้ว่า “กล้ากิน” หรือ ทดลองรับประทานอาหารต่างชาติมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากที่เคยพบเห็นในประเทศไทย โดยคนไทยจะมีพฤติกรรมการกินที่ยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ คือ หากมีอาหารไทยให้เลือก ก็จะรับประทานแต่อาหารไทย แต่สำหรับในซีอานแล้ว จะเห็นได้ว่า ทุกคนจะรับประทานอาหารทุกอย่างที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตเดิม ๆ กล่าวคือ จะรับประทานอาหารทุกอย่างที่ไม่เคยรู้จัก หรือสัมผัสกับรสชาติมาก่อน ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้คิดต่อไปว่า อาหารไทยนั้น เป็นอาหารที่มีลักษณะโดดเด่นในด้านรสชาติและเครื่องปรุงที่ไม่เหมือนใคร น่าจะสามารถเข้าไปอยู่ในความทรงจำของชาวต่างชาติได้ดีไม่แพ้อาหารของชาติอื่นเลยทีเดียว

ในด้านของศักยภาพในการแข่งขันของอาหารไทยและอาหารของชาติอื่น ๆ อาหารไทยได้เปรียบที่ประเทศไทยนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องของการอยู่การกิน เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมาเป็นเวลายาวนาน และเมื่อรับทราบข่าวว่า มีการจัดเทศกาลอาหารไทยขึ้น พวกเขาจึงไม่รีรอที่จะเข้ามาลิ้มลองรสชาติของความเป็นไทย แม้ว่าจะไม่เคยเดินทางไปประเทศไทยเลยก็ตาม เชฟใหญ่กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่า มีชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งที่เข้าพักในโรงแรมนี้ เมื่อได้ยินว่าโรงแรมมีเทศกาลอาหารไทย ต่างก็รีบร้อนและตรงเข้ามาที่งาน เพื่อที่จะสัมผัสและลิ้มรสอาหารแบบไทย ๆ ในทันที 

ในแง่ของการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในนครซีอาน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศจีน เชฟใหญ่ให้ความเห็นว่า มีโอกาสที่จะทำได้ดี ขึ้นอยู่กับนักลงทุน หรือนักธุรกิจที่จะเข้ามาดำเนินกิจการ ต้องศึกษาความนิยม ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งที่เป็นคนในท้องถิ่น และชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในซีอาน อย่างไรก็ตามธุรกิจดังกล่าวควรจะดำเนินควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของไทยให้ชนชาติอื่นได้รับรู้ และอยากที่จะสัมผัสกับวัฒนธรรมดังกล่าวด้วยตนเอง อันจะเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชฟใหญ่ยังได้กล่าวต่อไปว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านเทศกาลอาหารไทยนั้น สิ่งที่สำคัญคือภาพลักษณ์ของประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะต้องจับมือกันในฐานะของประเทศไทย ในการสอดแทรกศิลปะ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามต่างๆ ของไทย เช่น การละเล่นไทย มวยไทย ศิลปการแสดง นาฏศิลป์ไทยต่าง ๆ เป็นต้น ให้ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในความรู้สึกของชาวต่างชาติ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยมีสิ่งที่ดีงามอย่างไรบ้าง เพราะการประชาสัมพันธ์นั้น ปัจจัยที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือ อันเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้การเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศประสบผลสำเร็จและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งนี้การเผยแพร่วัฒนธรรมจะได้ผลเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสำคัญ

ท้ายที่สุด เชฟใหญ่ได้ให้ข้อคิดในการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างแดนไว้สั้น ๆ คือ จะทำธุรกิจใด ๆ ต้องใจใหญ่ อย่าคำนึงถึงแต่ผลกำไร ต้องใส่ความจริงใจ สร้างความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจกับการส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย แสดงให้เห็นว่าชาวต่างชาติไม่ได้มีความคิดที่จะมาเอาเปรียบคนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว และย้ำให้คิดการณ์ไกล ทำธุรกิจจะประสบผลสำเร็จ อย่าคิดแสวงหาแต่ผลประโยชน์ให้ตัวเอง ต้องคิดถึงประเทศชาติ และพยายามที่จะเผยแพร่ชื่อเสียงและวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศให้เป็นที่รู้จักไปพร้อม ๆ กันด้วย

เมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวและชาวซีอานได้รับในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการที่ชื่อของประเทศไทย ได้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งในความทรงจำของพวกเขาแล้ว อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไทยมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายประการ เป็นที่รู้จักในสายตาชาวต่างชาติเป็นอย่างดี อีกทั้งคนไทยเป็นผู้มีอัธยาศัย นิสัยของการต้อนรับ และให้บริการที่ดีอยู่แล้ว ประกอบกับเสน่ห์อันชวนหลงใหลของอาหารไทย บวกกับการเปิดกว้างทางความคิดของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นในซีอาน น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมไทย การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การได้ซึมซับความเป็นไทย ทั้งด้านศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมด้านอาหาร การแต่งกาย ภาษา และเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทยอื่น ๆ อีกด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือเสน่ห์ของอาหารไทย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะดึงดูดให้ผู้คนสนใจที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมและท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อสัมผัสกับกับวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่ำมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเทศกาลอาหารไทยในวันนี้ คงไม่สามารถจะหยุดอยู่เพียงแค่เมือง หรือมณฑลใดของจีนเท่านั้น แต่หมายถึงการที่คนไทยทุกคนจะต้องค้นหาเสน่ห์ของอาหารไทยให้ได้อย่างแท้จริง เพื่อผลักดันให้เทศกาลอาหารไทยเป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อถึงเวลานั้น งานเทศกาลอาหารไทยนอกจากจะจำหน่ายอาหารไทยได้ดีแล้ว ยังจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทยให้ฝังสถิตย์อยู่ในหัวใจของชาวต่างชาติได้อีกด้วย  

จัดทำโดยนางสาวชนิดา อินปา นักพัฒนาระบบราชการ (ศึกษาดูงาน ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน)

เรียบเรียงโดย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 12 มิถุนายน 2551

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Sunday, 15 June 2008 ) 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ