บทความพิเศษ ศักยภาพอาหารฮาลาลของไทยในเขตหนิงเซี่ย

บทความพิเศษ ศักยภาพอาหารฮาลาลของไทยในเขตหนิงเซี่ย

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,263 view

เขียนโดย ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย-จีน ณ นครซีอาน   

จุดเชื่อมความร่วมมือไทย - หนิงเซี่ย

จากสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เริ่มสนใจศึกษาประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในมณฑลและเขตปกครองตนเองที่มีชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมากตั้งถิ่นฐานอยู่ เช่น ชนชาติหุยในเขตหนิงเซี่ย และชนชาติอุยกูร์ในเขตซินเจียง โดยเฉพาะความสำเร็จในนโยบายผสมกลมกลืนของสังคมหลากชนเผ่า แต่สามารถอยู่ร่วมกันกับชาวจีนฮั่น (จีนแท้) ได้อย่างสันติสุข  และไม่ประสบปัญหาก่อเหตุรุนแรงและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ  ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2550 คณะผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่เขต    ซินเจียงและเขตหนิงเซี่ย และเดือนสิงหาคม 2550 คณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และ ศอ.บต. นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายเกริกไกร จีระแพทย์) ได้เข้าพบหารือกับผู้นำรัฐบาลเขตหนิงเซี่ย เพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของสองฝ่าย  ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล  โดยมีศาสนาอิสลามเป็นจุดเชื่อมความร่วมมือระหว่างกัน

เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย เป็น 1 ใน 5 เขตปกครองตนเอง (ฐานะเทียบเท่าระดับมณฑล)  ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน  มีพื้นที่ 66,400 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 6.1 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ เช่น ถ่านหิน (ปริมาณสำรอง 31,000 ล้านตัน)  GDP ปี 2550 เท่ากับ 83,400 ล้านหยวน อัตราการขยายตัวในรอบ 5 ปีเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี รายได้ประชากรต่อหัว 13,742 หยวนต่อปี นับเป็นมณฑลที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกของจีน ซึ่งเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2541 หนิงเซี่ยเป็นมณฑลขนาดเล็ก จึงมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงในการเร่งรัดพัฒนาและเปิดประตูสู่โลกภายนอก

ประชากรร้อยละ 35.5 ของเขตหนิงเซี่ยหรือจำนวน 2.17 ล้านคนเป็นชนชาติหุย หนิงเซี่ยจึงถือเป็นมณฑลที่มีชนชาติหุยมากที่สุดของจีน โดยทั่วเขตหนิงเซี่ยมีมัสยิตมากกว่า 4,000 แห่ง ในชั้นนี้ประมาณกันว่ามีชนชาติหุยอาศัยอยู่ทั่วประเทศจีนทั้งหมด 11 ล้านคน (มีอำเภอทั่วจีนเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ไม่มีชนชาติหุยอาศัยอยู่) และยังมีชนกลุ่มน้อยของจีนอีก 9 ชนชาติที่นับถืออิสลามเช่นเดียวกับชนชาติหุยอีก 13 ล้านคน ชนกลุ่มน้อยที่นับถืออิสลามทั่วประเทศจีนจึงมีจำนวนมากถึง 24 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 1,500 ล้านคน โดยมูลค่ารวมสินค้าส่งออกอาหารฮาลาลทั่วโลกสูงถึง 150,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี                

การค้าและการลงทุนไทย-หนิงเซี่ย

มูลค่าการค้ารวมไทย-หนิงเซี่ยปี 2550  เท่ากับ 42 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากหนิงเซี่ย 23 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สินค้าที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์Tantalum, Silecoferite, Carbon Additive, เวชภัณฑ์Tetracycline และยาฆ่าแมลง เป็นต้น และไทยส่งออก 19 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สินค้าที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากยางพาราธรรมชาติ         

ปัจจุบัน มีบริษัทไทยจดทะเบียนลงทุนในหนิงเซี่ยรวม 7 แห่ง โดยลงทุนด้านเวชภัณฑ์ อาหาร เกษตรและปศุสัตว์ บันเทิง โรงแรม และการค้า เป็นต้น มูลค่าการลงทุนรวม 19 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ความร่วมมือในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม

ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา หนิงเซี่ยได้เคยส่งคณะผู้แทนเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจการค้า และตลาดแรงงานของไทย ความสัมพันธ์ได้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเขตหนิงเซี่ยตัดสินใจร่วมมือส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม โดยฝ่ายไทยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเปิดตลาดต่างประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์และสินค้าจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่หนิงเซี่ยต้องการความร่วมมือจากฝ่ายไทยในด้านเงินทุน ตลาดสินค้า และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปภาคการเกษตร

เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางเยือนเขตหนิงเซี่ยเพื่อร่วมพิธีเปิดงานอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมนานาชาติครั้งที่ 2 (China (Ningxia) International Halal Food and Muslim Commodities Festival with Ningxia Investment and Trade Fair)  ที่นครอิ๋นชวน เขตหนิงเซี่ย  และร่วมหารือกับประธานเขตหนิงเซี่ย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศรวม 24 ประเทศ และภาคเอกชนไทยที่เข้าร่วม 32 ราย (จากกรุงเทพฯ 5 ราย และจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 25 ราย) ได้นำสินค้าและอาหารฮาลาล เช่น น้ำผลไม้ น้ำปลาทูน่า อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผัก ผลไม้และอาหารทะเลแปรรูป เป็นต้น เข้าร่วมจัดแสดงในงาน การจัดงานครั้งที่ 2 ดังกล่าว หนิงเซี่ยได้มีการลงนามโครงการความร่วมมือต่าง ๆ รวม 120 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมการลงทุน 67,510 ล้านหยวน          

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2550  นายหลี่ รุ่ย (Li Rui)  ผู้ช่วยประธานเขตหนิงเซี่ย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานเขตหนิงเซี่ย) ได้เดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของกระทรวงพาณิชย์  ทั้งสองฝ่ายได้หารือรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาสินค้าและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยกับหนิงเซี่ย โดย เฉพาะการจัดตั้งกลไกการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล โดยสถาบันหรือหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างกันโดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือดังกล่าวระหว่างสถาบันมาตรฐานอาหาร   ฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยกับศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลเขตหนิงเซี่ย 

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าฮาลาลโลกครั้งที่ 2 ที่เขตหนิงเซี่ยของไทย และการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลระหว่างประเทศไทยกับเขตหนิงเซี่ย  สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ประสงค์จะผลักดันธุรกิจอาหารฮาลาลสู่เวทีโลก ขณะที่รัฐบาลเขตหนิงเซี่ยก็อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายเร่งรัดให้เขตหนิงเซี่ยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและสินค้ามุสลิมกับต่างประเทศของจีน  โดยเฉพาะการเป็นแหล่งผลิตและแปรรูป รวมทั้งกระจายสินค้าต่อไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลาง  เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์  ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มประเทศมุสลิมบางส่วนได้เริ่มสนใจเข้าไปบุกเบิกและเจรจาร่วมมือกับภาคธุรกิจของหนิงเซี่ยด้วยแล้ว

เมื่อวันที่ 2-5 มีนาคม 2551 คณะผู้แทนศอ.บต. ได้เดินทางเยือนหนิงเซี่ยเพื่อหารือในประเด็นความต่อเนื่องในการร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมให้มีความต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ล่าสุดรัฐบาลหนิงเซี่ยประสงค์ที่จะผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2551 นายหลี่ รุ่ย รองประธานเขตหนิงเซี่ยพร้อมคณะซึ่งเดินทางเข้าร่วมการจัดงานการค้าการลงทุนในภูมิภาคตะวันตกที่นครซีอาน มณฑลส่านซีได้เข้าพบหารือกับหัวหน้าสำนักงานกงสุล ณ นครซีอาน เพื่อยืนยันการเข้าร่วมงาน “งานแสดงสินค้าอาหาร 2551” (THAIFEX-World of Food ASIA 2008) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 2551 ตามคำเชิญของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือด้านอาหารฮาลาลไทย-หนิงเซี่ยให้มีผลในทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และนายหลี่ รุ่ยเน้นย้ำว่าหนิงเซี่ยมีความจริงจังและจริงใจในการพัฒนาความร่วมมือในทุก ๆ ด้านกับฝ่ายไทย โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมที่เป็นจุดเชื่อมความร่วมมือระหว่างกัน  

อาหารฮาลาล ศักยภาพความร่วมมือในอนาคต 

ที่ผ่านมาเขตหนิงเซี่ยได้พยายามปรับปรุงและพัฒนาให้เขต หนิงเซี่ยเป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและสินค้ามุสลิมที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และปัจจุบันได้ร่วมลงนามสัญญาให้การรับรองตราสัญลักษณ์ Halal ซึ่งกันและกันกับองค์กรอนุมัติรับรองตราสัญลักษณ์ Halal ของไทยและมาเลเซีย หากนักธุรกิจไทยสนใจจะลงทุนในหนิงเซี่ยจำเป็นต้องพิจารณาเศรษฐกิจของหนิงเซี่ย กำลังซื้อของประชาชนในเขตหนิงเซี่ยยังไม่สูงเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ของจีน แต่หนิงเซี่ยมีความได้เปรียบที่อาจเป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจไทยดังนี้

           1.)   นโยบายดึงดูดการลงทุนที่รัฐบาลกลางและเขตหนิงเซี่ยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และพร้อมร่วมมือกับต่างประเทศ

           2.)   ค่าครองชีพที่ต่ำทำให้การบริหารด้านต้นทุนแรงงานต่ำ

           3.)   ความได้เปรียบของหนิงเซี่ยในแง่ความใกล้ทางภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลาง ซึ่งไทยสามารถเปิดตลาดสู่ประ้เทศเหล่านี้ 

           4.)   การคมนาคมและโลจีสติกส์ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ดีและอยู่ระหว่างการพัฒนาที่ทำให้การขนส่งสินค้าเชื่อมมณฑลต่าง ๆ ของจีนมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยสู่เขตหนิงเซี่ย หากส่งเข้าจีนทางท่าเรือเทียนจินจะมีการตรวจมาตรฐานสินค้าที่ปักกิ่งเพียงครั้งเดียว ก่อนขนส่งตรงสู่เขตหนิงเซี่ย หรืออาจขนส่งโดยใช้บริการของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด ซึ่งเปิดบริการบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ -ซีอาน และเมื่อผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่ซีอานแล้ว จึงขนส่งตรงสู่เขตหนิงเซี่ยได้ทั้งทางบกและรถไฟ

ยุทธศาสตร์และโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารและสินค้ามุสลิมไทยมิได้อยู่ที่การผลิตเพื่อมุ่งแต่จำหน่ายให้ประชาชนในเขต หนิงเซี่ย แต่อยู่ที่การใช้หนิงเซี่ยเปิดตลาดอาหารฮาลาลในจีนและต่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าหนิงเซี่ยเหมาะที่จะเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตเพื่อแปรรูปอาหารและสินค้าฮาลาล เพื่อส่งจำหน่ายแก่ชาวจีนผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งกระจุกตัวกันอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และการส่งออกเพื่อมุ่งเปิดตลาดอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมในตะวันออกกลางโดยใช้หนิงเซี่ยเป็นฐาน

จากการแถลงข่าวของรัฐบาลเขตหนิงเซี่ยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 เกี่ยวกับการจัดงาน China (Ningxia) International Halal Food and Muslim Commodities Festival with Ningxia Investment and Trade Fair ครั้งที่ 3 ที่เขตหนิงเซี่ยระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2551 มีกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย

             1.)     การประชุมนักธุรกิจชนชาติหุยครั้งที่ 1

             2.)     China (Ningxia) International Cashmere Expo ครั้งที่ 2 ทั้งนี้ปริมาณการผลิต cashmere ของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของโลก และหนิงเซี่ยมีปริมาณการแปรรูปผลิตภัณฑ์ cashmere คุณภาพเยี่ยมที่ดีที่สุดราว 4,000 กว่าตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของจีน

             3.)      นิทรรศการ Western China Featured Agriculture Products Exhibition & Cooperation ครั้งที่ 4

              4.)        Forum on International Halal Industries’ Transferring to the Western Regions

             5.)       การประชุมการค้าและความร่วมมือระหว่างหนิงเซี่ยและไต้หวัน

 

โดยที่ปี 2551 เป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาเขตหนิงเซี่ย รัฐบาลเขตหนิงเซี่ยจะใช้เวทีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ จึงน่าจะเป็นประโยชน์หากภาคเอกชนและนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมจะสนใจเข้าร่วมงานครั้งที่ 3 ดังกล่าว เพื่อแสวงหาลู่ทางความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในเขตหนิงเซี่ยที่เป็นรูปธรรมต่อไป

บทสรุป

หากพิจารณาในระยะสั้น  ดูเสมือนว่าการเปิดตลาดสินค้าด้านอาหารฮาลาลอาจไม่คุ้มค่าสำหรับฝ่ายไทยมากนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องที่จัดโดยรัฐบาลหนิงเซี่ย ซึ่งยังมีมูลค่าทางธุรกิจค่อนข้างต่ำ  อย่างไรก็ดี  สำหรับในระยะยาว  ความร่วมมือด้านสินค้าและอาหารฮาลาล      ไทย-หนิงเซี่ยน่าจะยังประโยชน์สำหรับฝ่ายไทยได้เป็นอย่างดี 

ที่ผ่านมา  ภายใต้การส่งเสริมของรัฐบาลกลาง  รัฐบาลเขต หนิงเซี่ยให้ความสำคัญในระดับสูงและเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  เนื่องจากเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่หากสำเร็จด้วยดี  ก็จะนำไปสู่ความร่วมมือในภาพรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา ฯลฯ  ทั้งระหว่างเขตหนิงเซี่ยกับประเทศไทย และกับประเทศอื่น ๆ  ขณะที่ฝ่ายไทยควรผลักดันความร่วมมือในด้านนี้ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  เพื่อประโยชน์ในความพยายามคลี่คลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้  และแสวงประโยชน์ในการใช้หนิงเซี่ยเป็นฐานการกระจายสินค้าและเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลจากไทยในประเทศจีน ซึ่งนับว่ามีศักยภาพสูงมาก ทั้งในแง่ของการส่งสินค้าสำเร็จรูป  กึ่งสำเร็จรูป และการร่วมลงทุนเพื่อการผลิตภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมของนครอิ๋นชวน เพื่อการจำหน่ายภายในเขตหนิงเซี่ย  ภาคตะวันตกและภาคตะวันตกเฉียงเหนือและทั่วประเทศจีน  ตลอดจนการส่งออกไปยังเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งเขตหนิงเซี่ยมีความได้เปรียบในแง่ความใกล้ทางภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างจีนกับประเทศเหล่านี้ 

ดังนั้น  จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องจะร่วมส่งเสริมผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาลที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยน การติดต่อระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจของไทยและเขต หนิงเซี่ย และการนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้าฮาลาลที่จัดขึ้นระหว่างกันเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงตลาดจีน ซึ่งมีศักยภาพสูงและพื้นฐานความร่วมมือที่ดีดังกล่าว    

จัดทำโดย

นายวศิน เรืองประทีปแสง

นางสาวดุจเนตร อาจหาญศิริ

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 15 มี.ค. 2551

ปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2551

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Thursday, 15 May 2008 )

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ