เจาะส่านซี พาไปชมสินค้าเกษตรของดีของส่านซี ที่ใครหลายๆคนอาจยังไม่รู้ ตอนที่ 1

เจาะส่านซี พาไปชมสินค้าเกษตรของดีของส่านซี ที่ใครหลายๆคนอาจยังไม่รู้ ตอนที่ 1

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 16 ก.พ. 2564

| 1,515 view

 1. แอปเปิ้ลลั่วชวน

แอปเปิ้ลถือเป็น 1 ใน 4 ของราชาผลไม้世界大水果(ได้แก่ องุ่น ส้ม กล้วย และแอปเปิ้ล) แอปเปิ้ลมีสารสำคัญคือ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และเส้นใยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ได้แก่เพคติน มีกรด 2 ชนิด คือ กรดมาลิคและกรดทาร์ทาริก ช่วยในการย่อยอาหารจำพวกโปรตีนและไขมัน นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงสรรพคุณ บำรุงหัวใจ ลดคลอเลสเตอรอล ลดความดัน ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

สำหรับความเป็นมาของการปลูกแอปเปิ้ลของเมืองลั่วชวนเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2590 กว่า 60 ปีของการพัฒนาทำให้อ.ลั่วชวนกลายเป็นฐานการปลูกและผลิตแอปเปิ้ลที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน

ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินประโยคที่กล่าวกันว่า “ความหวังแอปเปิ้ลจีนฝากไว้ที่ส่านซี ความหวังแอปเปิ้ลส่านซีฝากไว้ที่ลั่วชวน” อำเภอลั่วชวนตั้งอยู่ในนครเหยียนอานตอนกลางของมณฑลส่านซี มีสภาพอากาศอุ่นร้อนกึ่งร้อนชื้น “ลั่วชวน” ได้ขึ้นชื่อว่ามีพื้นที่ปลูกแอปเปิ้ลมากที่สุดของประเทศจีน ปัจจุบันพบสถิติว่าอ.ลั่วชวนมีพื้นที่ปลูกแอปเปิ้ลถึง 1,200,000 ไร่ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลั่วชวนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลที่ใหญ่และคุณภาพดีที่สุดของจีน BIC ซีอานขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

เหตุผลหลักที่แอปเปิ้ลลั่วชวนมีคุณภาพดีกว่าที่อื่นๆ อันดับแรกเป็นเพราะสภาพอากาศหลักที่ “เย็น” และ “แห้ง” ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 7-15 องศาเซลเซียส สภาพดินที่มีความลึกมาก ทำให้สามารถระบายน้ำได้ดี อีกทั้งได้รับปริมาณแสงแดดที่เพียงพอเหมาะกับการปลูกแอปเปิ้ล รวมไปถึงการจัดการพื้นที่เพาะปลูกอย่างมืออาชีพปัจจุบันอ.ลั่วชวนมีพื้นที่การปลูกแอปเปิ้ลรวมกว่า1.2 ล้านไร่ โดยที่มีสายพันธุ์หลักจำนวน 7 ชนิดซึ่งแบ่งออกตามระยะเวลาการเก็บเกี่ยวซึ่งสามารถตอบสนองโครงสร้างการผลิตและแปรรูปเเอปเปิ้ลได้ตลอดทั้งปี และสืบเนื่องจากการพัฒนาขั้นตอนการผลิตให้ได้มาตรฐานมาตลอด ปัจจุบันผลผลิตแอปเปิ้ลจากอ.ลั่วชวนได้รับตรารับรองรวมไปถึงรางวัลการันตีต่างๆมากมายอาทิ ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่อำเภอสาธิตการปลูกแอปเปิ้ลไร้สารพิษจากสถาบันวิจัยผลไม้แห่งชาติ รางวัลรับรองพื้นที่สาธิตการผลิตแอปเปิ้ลดีเด่นจากกระทรวงเกษตรแห่งชาติ นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองจากรัฐบาลให้เป็นพื้นที่การผลิตแอปเปิ้ลสีเขียวกว่า 7.2 แสนไร่

แอปเปิ้ลลั่วชวนนอกจากจะมีรสชาติอร่อยและดีต่อสุขภาพแล้วยังสามารถนำมาใช้เป็นยาได้อีกด้วย สรรพคุณของแอปเปิ้ลในทางการแพทย์จีนบัญญัติไว้ว่ามีฤทธิ์เป็นกลาง รสหวาน มีฤทธิ์ในการบำรุงโลหิต ดับกระหายและช่วยเจริญอาหาร ทั้งยังมีสรรพคุณในการต่อต้านมะเร็งอีกด้วย

แอปเปิ้ล 100 ต้น เปลี่ยน 1 ครอบครัวให้ร่ำรวย (百棵苹果树,能富一个) คือเสียงเล่าถึงประสบการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ลเป็นอาชีพ อาชีพปลูกแอปเปิ้ลในอ.ลั่วชวนเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่เกษตรกรได้มากมาย โดยการปลูกแอปเปิ้ล 1 หมู่ (2.4ไร่) ให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการปลูกสูงถึง 6-7 เท่า ประกอบกับปัจจุบันฐานะและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ปริมาณความต้องการบริโภคแอปเปิ้ลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยทำให้ “แอปเปิ้ล”กลายเป็นต้นไม้ทำเงินให้แก่เกษตรกรอ.ลั่วชวน จากข้อมูลล่าสุดพบว่าเมื่อปีพ.ศ.2554 ปริมาณการผลิตรวมของแอปเปิ้ลอ.ลั่วชวน 7.4 แสนตัน มีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านหยวน

ในด้านการส่งออก ข้อมูลจากนายจาง กวงหลุนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสินค้าการเกษตรแห่งมณฑลส่านซีกล่าวว่าปัจจุบันแอปเปิ้ลลั่วชวน ส่งออกไปยังกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยตลาดเดิมที่มียอดการนำเข้าสูงสุดได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียนกว่าโดยสถิติการนำเข้าของกลุ่มอาเซียนล่าสุด(ปี 2553) อยู่ที่ 212,000 ตัน โดยประเทศไทยมียอดปริมาณการนำเข้าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกว่า 113,000 ตัน และยังถือเป็นประเทศที่มียอดการนำเข้าแอปเปิ้ลส่านซีมากที่สุดอีกด้วย

ปัจจุบันยังพบข้อมูลว่ามีผู้ชำนาญการจากสถาบันวิจัยผลไม้แห่งชาติเข้ามาสอนและเผยแพร่เทคโนโลยีเกี่ยวกับการปลูกและดูแลแอปเปิ้ลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร นอกเหนือจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามีนักวิจัยจากประเทศอิตาลี ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันมาศึกษาดูงานที่เมืองแห่งนี้อีกด้วย

2. ผลิตภัณฑ์รักดิบธรรมชาติ จากเมืองอันคัง

หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่าของดีของเด่นของเมืองอันคัง นอกจากจะโดดเด่นในเรื่องของใบชาจื่อหยางและยาสมุนไพรจีนแล้ว เมืองอันคังยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น้อยคนนักจะทราบถึงของดีประจำถิ่นชนิดนี้ นั่นก็คือ รักดิบ(生漆) นั่นเอง รักดิบหรือยางรักได้มาจากต้นรัก โดยใช้มีดกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นให้เป็นรอยยาว ก็จะมียางรักออกมา ผลิตภัณฑ์จากรักนอกจากจะมีอยู่ในประเทศจีนแล้ว ยังกระจายอยู่ในเขตประเทศญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เวียดนาม พม่า อินเดีย อิหร่านและประเทศไทย อีกด้วย

รักดิบธรรมชาติของเมืองอันคัง ได้ถูกนำเอามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์รักของเมืองอันคังได้ถูกแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เคลือบเงาไม้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันการเสียดสี ทำให้วัสดุทนทานต่อกรด ความชื้น รวมไปถึงสารละลายต่างๆ โดยแบรนด์ดังของเมืองอันคังมีชื่อว่า “牛王漆” ใช้สัญลักษณ์ของเขาวัวเป็นเครื่องหมายการค้าถือเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่องจากมีลักษณะเฉพาะตัวมีความแวววาว มีอัตราส่วนของน้ำผสมอยู่น้อยและมีความทนทานต่อสภาพอากาศต่างๆได้ดี ปัจจุบันการปลูกต้นรักเป็นอาชีพได้แพร่หลายไปยังหลายพื้นที่ในมณฑลส่านซีอีกด้วยโดยเฉพาะอ.ผิงลี่และอ.หลันเกา ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกต้นรักเพื่อกรีดเอายางรักส่งโรงงานแปรรูป ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีบริษัทแปรรูปรักดิบหลายรายเข้าไปรับซื้อยางรักดิบจากสวนของเกษตรกร

 

ในส่วนของภาครัฐบาลก็ได้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางรักอาทิเช่น นโยบายเร่งการพัฒนาและการปฎิรูปสหกรณ์จำหน่ายสินค้า” ซึ่งได้กล่าวถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปรักว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปรัก ได้ถูกจำแนกไว้ให้อยู่ในความดูแลของสหกรณ์การค้า ซึ่งหากสามารถใช้โอกาสนี้ในการในการพยายามที่จะจัดตั้งสมาคมที่สามารถหมุนเวียนสินค้าเกษตรรวมไปถึงการร่วมมือกันของสหกรณ์การผลิตยางรักที่มีความเป็นมืออาชีพ หากสามารถบรรลุเป้าหมายทั้ง 2 ข้อนี้ได้ ก็จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปรักให้เติบโตยิ่งขึ้นได้ รวมไปถึงการจัดการประชุมทางด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปรัก”งานประชุมอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปรักนานาชาติประจำปี 2554” ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2554 ณ นครซีอาน ซึ่งมีประเด็นเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจคือการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันของสมาคม ตัวแทนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อให้เกิดศักยภาพในการทำตลาดและการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นจากตัวแทนนักชำนาญการจากนานาประเทศ ในส่วนของประเทศไทยก็ได้ส่งดร.ศิริชัย หวังเจริญตระกูล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเข้าร่วมงานในครั้งนั้นอีกด้วยนอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุม

 

 

3.เหล้าหมักหวงกุ้ย(黄桂稠酒) เหล้าโบราณของนครซีอาน

นครซีอาน นอกจากจะเป็นเมืองทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์แล้ว ยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมทางด้านอาหารการกินอย่างหลากหลาย วันนี้ BIC ซีอานขอนำเสนอเหล้าหมักพื้นเมืองของนครซีอาน

เหล้าหมักหวงกุ้ยหรือเรียกอีกชื่อว่าเหล้าหมักซีอาน ในสมัยโบราณเคยได้รับสมญานามเป็น “玉液琼浆”ว่ากันว่าเป็นเหล้าที่มเหสีของเง็กเซี่ยนฮ่องเต้ใช้ต้อนรับแขก ในสมัยโบราณเหล้าหมักชนิดนี้มีราคาที่สูงมาก รวมไปถึงเป็นที่นิยมในบรรดาขุนนางและเศรษฐีสมัยก่อน

เหล้าหมักโบราณของซีอาน ทำมาจากข้าวเหนียว มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากนั่นก็คือ ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเหล้าแต่กลับมาลักษณะคล้ายน้ำนม ซึ่งก็ได้มีกลอนบรรยายถึงลักษณะและรูปรสของเหล้าหมักชนิดนี้ไว้ว่า 状如牛奶,色白如玉,汁稠醇香,锦甜适口”(หน้าตาเหมือนนม สีขาวดั่งหยก น้ำเหล้าหอมมัน รสชาติถูกปาก)เหล้าหมักชนิดนี้เป็นเหล้าที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่สันทัดการดื่มเหล้าที่มีดีกรีแรงๆ เพราะเหล้าหมักชนิดนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่เพียง 15% เท่านั้น นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยปริมาณกรดอะมิโนอยู่ถึง 18 ชนิดสามารถช่วยเจริญอาหาร กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ดับกระหาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายผลิตเหล้าหมักชนิดนี้ออกมาวางจำหน่ายมากมาย หลากหลายบรรจุภัณฑ์ ดังรูปภาพประกอบ

 

4. พริกแดงฉิน ราชาพริกของจีน

พริกฉิน(秦椒) ได้รับการขนานนามว่าเป็น “椒中之王”ราชาพริกของประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งของดีของชาวมณฑลส่านซี พริกฉินลักษณะภายนอกมีสีแดงสด รสผ็ดจัด เนื้อพริกหนามีน้ำมันมาก เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกของมณฑลส่านซี

เพราะเหตุใดจึงได้เรียกพริกชนิดนี้ว่า “พริกฉิน” จากข้อมูลพบว่าพริก เริ่มเข้ามาสู่ประเทศจีนในรัชสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งในสมัยนั้นพริกสดมีชื่อเรียกหลากหลายมาก อาทิ 番椒,海椒,班椒,椒茄 และอีกมากมาย ที่มาของการเรียนพว่า พริกฉิน(秦椒) เล่ากันว่าในรัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้เสวยอาหารรสเลิศนานาชนิดมาแล้ว ซึ่งพระองค์ทรงเบื่อในรสชาติอาหารเดิมๆ จึงมีรับสั่งแก่ห้องเครื่องให้เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร เป็นรสชาติใหม่ที่พระองค์ยังไม่เคยได้ลิ้มลอง มีอยู่วันหนึ่ง นางต้นเครื่องได้ออกไปเสาะแสวงหาเครื่องปรุงอาหารใหม่ๆในป่าลึกด้วยตนเองซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วง ได้บังเอิญไปพบกับผลของต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งสีเขียว แดงจึงนำกลับเข้าวังเพื่อปรุงอาหารถวายแก่จิ๋นซีฮ่องเต้ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเรียกพริกชนิดนี้ว่า พริกฉิน

พริกฉิน ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเเค่การนำมาปรุงแต่งรสชาติอาหารเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิเช่น ช่วยเจริญอาหาร ช่วยในระบบย่อยอาหาร ป้องกันโรคนิ่ว รวมไปถึงมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียอีกด้วย

ในส่วนของตลาดพริกฉินในปัจจุบัน บ.宝鸡法门寺天马贸易有限公司(Baoji Famenshi Tian ma Trade Co.,Ltd))นครเป่าจีถือเป็นบริษัทที่มีการผลิตและแปรรูปพริกชนิดนี้ออกจำหน่ายมากที่สุด ในขณะที่บ. 扶风联达贸易公司(Fufeng Lianda Trade Company)เป็นบริษัทที่ส่งออกพริกฉินแปรรูปไปยังต่างประเทศถึง 658 ตัน โดยส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียมากที่สุดและอีกหลายประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงบ.宝鸡鑫农贸易公司(Baoji Xinnong Trade Co.,Ltd) มีการส่งออกพริกฉินที่ผ่านการแปรรูปแล้วไปยังต่างประเทศถึง 970 ตัน

สถิติของปี 2550 พบว่านครเป่าจี ส่งออกพริกชนิดนี้105 ล๊อต จำนวน 1,758 ตัน มูลค่ากว่า 3.39 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ1 ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นนครเป่าจียังสนับสนุนให้มีการขยายเขตพื้นที่การปลูกพริกชนิดนี้ไปยังอ. เฟิ่งเสียง อ.ฝูเฟิง อ.เหมยเซี่ยน และอ.ฉีซาน โดยสนับสนุนให้เป็นพื้นที่การแปรรูปพริกขนาดใหญ่ของมณฑล ซึ่งปัจจุบันผลผลิตการแปรรูปพริกจากอ.เฟิ่งเสียง ยังได้จดทะเบียนการค้าภายใต้ชื่อ “ซานฉินหง” (三秦红) ออกจำหน่ายทั่วประเทศ ล่าสุดรัฐบาลท้องถิ่นนครเป่าจียังสนับสนุนให้อ.หลงเซี่ยน นำผลผลิตพริกฉินส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยกำหนดให้ตำบลตงหนัน หมูบ้านจางเจียจ้วง เป็นพื้นที่สาธิตการปลูกและขยายพันธุ์พริกฉินบนเนื้อที่ 500 หมู่ (1,200 ไร่) โดยยึดหลักการณ์การบูรณาการ 4 สิ่งต่อไปนี้ 公司 (บริษัท) +农户 (เกษตรกร) +科技 (วิทยาศาสตร์) +基地 (ฐานการผลิต)”เข้าด้วยกัน รวมไปถึงนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกพริกฉินแบบไร้สารพิษ โดยตั้งเป้าทั่วทั้งอำเภอ 20,000หมู่ (48,000 ไร่) 2

 

5. ทับทิม ผลไม้ทำเงินของเขตหลินถง

ทับทิมถือเป็นผลไม้โบราณของประเทศจีนอีกชนิดหนึ่ง จากข้อมูลพบว่าเดิมทีทับทิมเป็นผลไม้ของประเทศอิหร่าน เข้าประเทศจีนมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทางฝั่งทิศตะวันตกของจีน ในสมัยโบราณถือเป็นผลไม้ที่ถวายแก่ฮ่องเต้ ไม่เพียงแต่เป็นผลไม้ที่จัดว่าหน้าตาสวย สรรพคุณของทับทิมยังเรียกได้ว่า “ครอบจักรวาล”เลยทีเดียว ว่ากันว่าเกือบทุกส่วนของทับทิมสามารถนำมาทำเป็นยาได้ ไม่ว่าจะเป็นเปลือก ดอก ใบ ราก ซึ่งนำมาโรคบิด ท้องร่วง ริดสีดวง รวมไปถึงความดันโลหิตสูง

เขตหลินถง ตั้งอยู่บนบริเวณตอนกลางของที่ราบกวนจง เคยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของนครซีอาน ปัจจัยหลักที่ทำให้ทับทิมจากเขตนี้คุณภาพดีและเป็นที่นิยมมากก็เพราะ สภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศเป็นหลัก เนื่องจากด้านหลังของเขตหลินถงติดกับภูเขาม้าดำ(骊山) หันหน้าเข้าหาแม่น้ำเว่ยและที่ราบกวนจง มีบ่อน้ำแร่ อุณหภูมิเหมาะสมแก่การเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของการได้ผลผลิตทับทิมที่มีรสชาติรวมไปถึงคุณภาพที่ยอดเยี่ยม

 

ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของทับทิมหลินถงเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2520 มีการนำพันธุ์ทับทิมไปปลูกยังอนุสรณ์สถานประธานเหมา หลังจากนั้น “ทับทิม” ก็เริ่มเป็นผลไม้ที่รู้จักและแพร่หลายในหมู่ประชาชน

ทับทิมของเขตหลินถงมีอยู่ด้วยกันกว่า 17 ชนิด ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม อาทิ临潼净皮甜,临潼天红蛋,临潼鲁峪蛋 เป็นต้น

ทิศทางการตลาดและการส่งออกของทับทิมเขตหลินถง จากข้อมูลพบว่าทับทิมจากเขตหลินถงเริ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2551 ข้อมูลจากเว็บไซด์ข่าวประจำภาคตะวันตก(cnwest.com) รายงานว่า ทับทิมจากเขตหลินถงที่เตรียมส่งออกไปยังต่างประเทศล๊อตแรก ได้ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนจากกรมควบคุมและกักกันโรคประจำมณฑลส่านซี ส่งออกไปยังประเทศรัสเซียประเทศแรกจำนวน 32 ตัน ปัจจุบันหน่วยรัฐบาลมณฑลส่านซีได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชรวมไปถึงการควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี รวมไปถึงการเร่งพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกทับทิมให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรองรับจำนวนความต้องการทับทิมของตลาดโลก1   และการขึ้นทะเบียนพื้นที่สวนปลูกทับทิมซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3,360 ไร่ ล่าสุดผลผลิตปี 2554 ที่ผ่านมา ผลผลิตรวมของทับทิมหลินถงอยู่ที่ 60,000 ตัน นอกจากการจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปยังฮ่องกง มาเก๊า และประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมกว่า 10,000 กิโลกรัม พื้นที่การเพาะปลูกในปัจจุบันขยายกว้างไปถึง 288,000 ไร่แล้ว นับเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวและเติบโตเร็วอีกชนิดหนึ่งของส่านซี

 

รอพบกับสินค้าเกษตรยอดฮิตของมณฑลส่านซี ตอนที่ 2 เร็วๆนี้

___________________________________________

1.ข้อมูลจากshaanxi.mofcom.gov.cn (陕西商务之窗:地县商务:宝鸡)

2.ข้อมูลจาก baoji.mofcom.gov.cn (陕西宝鸡商务之窗:县级商务:正文) 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ