อุตสาหกรรมการบินส่านซี อีกหนึ่งฐานการผลิตด้านอากาศยานที่สำคัญของประเทศจีน

อุตสาหกรรมการบินส่านซี อีกหนึ่งฐานการผลิตด้านอากาศยานที่สำคัญของประเทศจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,519 view

อุตสาหกรรมการบินส่านซี อีกหนึ่งฐานการผลิตด้านอากาศยานที่สำคัญของประเทศจีน

อุตสาหกรรมการบินของจีน ถือเป็นอีกหนึ่งวิสาหกิจชั้นนำของประเทศที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงสิบปีให้หลัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติซึ่งได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ปัจจุบันประเทศจีนมีฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบอากาศยานกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนอาทิ นครเทียนจิน ฉงชิ่ง เฉิงตูเป็นต้นในส่วนของมณฑลส่านซีเอง ถือเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ของจีน  ที่ทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ใช้ในการพาณิชย์และกองทัพ

ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินมณฑลส่านซี

เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2501 ซึ่งเป็นฐานการผลิตและฐานประกอบอากาศยานขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยมีแรงงานทั้งสิ้นกว่า 20,000 คน นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมการบินของมณฑลส่านซียังคงกระจายฐานที่ตั้งไปยังเมืองอื่นๆด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมณฑลส่านซีมีฐานการผลิตอากาศยานระดับชาติจำนวน 1 แห่งและกลุ่มบริษัทรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตและประกอบอากาศยานอีก 2 แห่งด้วยกันได้แก่

 

1.ฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง (Xi’an Yanliang National Aviation Hi-tech Industrial Base)

เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครซีอาน ฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง เป็นเขตอุตสาหกรรมผลิตอากาศยานชั้นสูงของนครซีอานที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งด้านการวิจัย ออกแบบ ผลิต และประกอบชิ้นส่วนและตัวเครื่องบิน ตลอดทั้งยังเป็นเขตฝึกอบรมทางด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย ประกอบไปด้วยฐานการผลิตอากาศยานขนาดต่างๆรวม 4 แห่งด้วยกันได้แก่

          1.1 เขตการผลิตอากาศยานเอี๋ยนเหลียง (Yanliang Aviation manufacturing zone) ด้วยพื้นที่ครอบคลุมกว่า 40 ตร.กม. เป็นฐานการผลิตและพัฒนาเครื่องบินทั้งลำ และเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่

          1.2 เขตอุตสาหกรรมการบินทั่วไปผู่เฉิง (Pucheng General Aviation industrial park) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของมณฑลส่านซี โดยอาศัยประโยชน์จากสนามบินภายในผู่เฉิงที่รัฐบาลตั้งเป้าให้เขตอุตสาหกรรมการบินแห่งนี้สามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อยอด อาทิการแปรรูปวัสดุและชิ้นส่วนขนาดเล็กรวมไปถึงยังเป็นฐานการฝึกอบรมนักบิน  

          1.3 สวนอุตสาหกรรมการบินสนามบินนานาชาติเสียนหยาง (Xianyang AirportIndustrial Park) ด้วยพื้นที่จำนวน 12 ตร.กม. ใช้เป็นฐานการซ่อมบำรุงอากาศยานและรองรับระบบโลจิสติกส์

          1.4 ศูนย์ฝึกอบรมการบินเฟิ่งเสียง (Baoji FengxiangFlightTrainingPark) เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมการบินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านการฝึกบินทั้งหมด

2. กลุ่มบริษัท AVIC Xi’an Aircraft Industry (Group) Company

หรือที่รู้จักกันในนาม ซีเฟยกรุ๊ป ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ผลิตและประกอบอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลส่านซี ทั้งเครื่องบินพลเรือนและที่ใช้ในการพาณิชย์ ตั้งอยู่ในฐานการผลิตอากาศยานแห่งชาติเอี๋ยนเหลียง ปัจจุบัน “ซีเฟย” ครอบคลุมการผลิตและออกแบบรวมไปถึงการประกอบชิ้นส่วนเครื่องบิน และเป็นเขตการฝึกอบรมทางด้านการบินขนาดใหญ่อีกด้วย

“ซีเฟย” กลุ่มบริษัทชั้นนำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวม “หัวกระทิ”ชั้นนำระดับประเทศอีกด้วย ในปัจจุบัน “ซีเฟย”เป็นแหล่งรวมของบรรดานักวิจัยและออกแบบรวมกว่า 800 คน ร่วมกันวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมอากาศยาน อาทิเทคโนโลยี CAD และ CAM เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นโดยฝ่ายออกแบบของศูนย์เทคโนโลยี คิดค้นระบบ PDM-CAX โดยประกอบไปด้วยห้องเครื่อง CAD ห้องเครื่อง CAE รวมไปถึงห้องปฏิบัติการอัตโนมัติและระบบการประมวลผลระบบสามมิติเพื่อความสมจริงของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้เดินหน้าพัฒนาการออกแบบอากาศยานด้วยการเพิ่มปริมาณของห้องออกแบบอากาศยาน ห้องควบคุมและทดลองการบิน ห้องปฏิบัติการทางด้านความกดอากาศ พลังงานเชื้อเพลิง ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

ในส่วนของความร่วมมือระดับนานาชาติ ซีเฟยกรุ๊ปเริ่มความร่วมมือกับประเทศที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับด้านการสร้างและประกอบเครื่องบินครั้งแรกในปีพ.ศ. 2523 ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งต่อมาซีเฟย กรุ๊ปได้เริ่มการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของหางเครื่องบินโบอิ้ง 737-700,747 ผลิตชิ้นส่วนประตูให้แก่บ.แอร์ฟรานซ์  ชิ้นส่วนเครื่องบินในรุ่น CL415 ให้แก่สายการบินแอร์แคนาดา

นอกจากการดำเนินงานในด้านของการผลิตและประกอบอากาศยานแล้ว “ซีเฟยกรุ๊ป”ยังได้เน้นการดำเนินงานในแผน ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หลากหลาย ปัจจุบัน “ซีเฟยกรุ๊ป”ได้เริ่มทำการ diversify กิจการของตนเองเข้ากับธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ รวมไปถึงยังมีการก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อต่อยอดการผลิตในด้านต่างๆข้างต้น ดังนี้

-          Xi’an Aircraft International Corporation เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนและโครงสร้างอากาศยานและรถยนต์

-          Xi’an Silver bus Corporation กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถบัสวอลโว่ (VOLVO) รวมไปถึงเป็นผู้ผลิตรถบัสขนส่งขนาดใหญ่ภายใต้แบรนด์ “西沃”(Silver Bus)

-          Xi’an XAC Aluminium Company เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ต่อยอดการผลิตโดยนำเเร่อลูมิเนียมมาแปรรูปเป็นแผ่นอลูมิเนียมจำหน่ายทั่วประเทศ

-          Shaanxi Xiqing Electronics Co.,Ltd เป็นกลุ่มบริษัทที่เกิดจากการรวมตัวกันของ ซีเฟยกรุ๊ป บ.ซิตี้ทรี เทคโนโลยี ศูนย์วิจัยวิศวกรรมทางด้านถ่านหิน มหาวิทยาลัยชิงฮวา และบ.ซินยวี ดำเนินธุรกิจในด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

-          Xi'an Aircraft Industry Decoration Corporation ให้บริการในด้านการจัดการและการตกแต่ง อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รวมไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์

3. Shaanxi Aircraft Corporation (陕西飞机制造集团有限责任公司)

หรือเรียกสั้นๆว่า “ส่านเฟย” เป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอากาศยานที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2512 ณ อ.ฮั่นจง เน้นการผลิตเครื่องบินทางการทหารเป็นหลัก ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานรวมแล้วกว่า 10,000 คน โดยประกอบไปด้วยนักวิจัยระดับชาติจำนวน 20 คน นักวิจัยระดับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม 50 คนและพนักงานระดับปฎิบัติการอีกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันฐานการผลิตอากาศยานและชิ้นส่วนแห่งที่สองแห่งนี้มีความร่วมมือทางด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์กับบริษัทการบินชั้นนำของโลกอาทิ Boeing Airbus Air Canada Alitalia

นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานในอนาคตของมณฑลส่านซี

1.การพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ภายหลังจากการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมอากาศยานระดับประเทศไปแล้ว ล่าสุดทางการยังมีแผนการเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมการบินขนาดกลางและขนาดเล็ก

2.มาตรการจูงใจแก่นักลงทุน

อาทิการให้การสนับสนุนมาตรการทางด้านภาษี เงินทุนสนับสนุน การให้สินเชื่อแก่นักลงทุน รวมไปถึงการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยาน การก่อตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินทั่วไป

3.ดำเนินการให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการส่งออกให้แก่วิสาหกิจการบินทั่วไป

รวมไปถึงการให้การสนับสนุนนโยบายทางด้านการเงินให้แก่วิสาหกิจที่ทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง

4.สนับสนุนให้มีการบูรณาการและความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจและองค์กรระหว่างประเทศ

 เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

5.สร้างเครือข่ายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน

อาทิการสนับสนุนการก่อตั้งสมาคมผู้ผลิตเครื่องบิน รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการวางนโยบายในอุตสาหกรรมการบิน

6.สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ผลักดันอุตสาหกรรมการบินของมณฑลให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อการบิน

รวมทั้งผลักดันความร่วมมือเพื่อเเลกเปลี่ยนและนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อาทิ โครงการผลักดันความร่วมมือกับ Boeing เพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตขึ้นที่นครซีอาน นโยบายสร้างแรงจูงใจในด้านการวิจัย

7.พัฒนาบุคลากร

ปัจจุบันมณฑลส่านซีมีสถาบันทางการศึกษาที่เปิดสอนทางด้านการบินและการอวกาศถึง 10 แห่ง มีวิทยาลัยเฉพาะทางที่ฝึกอบรมวิชาชีพ 4 สถาบัน ในทุกๆปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในด้านวิศวกรรมอากาศยานรวมกว่า 20,000 คน นอกจากนี้ยังมีตลาดรองรับแรงงานจบใหม่ด้วยวิสาหกิจการบนภายในมณฑลที่มีมากถึง 67 แห่ง

บทส่งท้าย

อุตสาหกรรมการบินของมณฑลส่านซีในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนและผลักดันโดยรัฐบาลกลางเป็นหลักทั้งในส่วนของภาคการผลิตและประกอบชิ้นส่วนอากาศยานและภาคการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจการผลิตที่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงในการผลิต ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการบินมณฑลส่านซีกลายเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑล รวมไปถึงแนวโน้มของตลาดการบินภายในประเทศจีนที่รัฐบาลกลางออกมาประกาศถึงตัวเลขแนวโน้มการขยายตัวของผู้โดยสารในประเทศที่จะสูงขึ้นถึงร้อยละ 89 ในปีพ.ศ. 2563[1] ที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งบอกการเติบโตของธุรกิจการบิน อย่างไรก็ดีแม้จะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลมาโดยตลอด แต่อุตสาหกรรมการบินส่านซียังคงต้องเร่งสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในด้านทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ เพราะถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ตะวันตกของจีนให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับพื้นที่ชายฝั่งของจีน

[1] บทความ Govt seeks sonic boom for aviation industry http://usa.chinadaily.com.cn/epaper/2012-07/13/content_15577574.htm

ข้อมูลอ้างอิง

1.Xi’an Yanliang National Aviation Hi-Tech Industrial Base. http://www.globalsecurity.org/military/world/china/avic-base-xian.htm

2. Vigorous Developing General Aviation Industry and Creating New Growth Pole of Shaanxi’s economy

http://english.shaanxi.gov.cn/channel/print.shtml?/news/governmentnews/201108/28778_1

3. www.shanfei.com

4. www.xac.com.cn

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. แอร์ฟรานซ์ลุยตลาดเอเชีย เตรียมตั้งโรงซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มในนครเซี่ยงไฮ้และนครซีอาน

2. ซีอานเตรียมเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม China Private Aviation Industry Development ครั้งที่ 1

3. Airbus จัดพิธีเปิดกิจกรรม “Fly Your Ideas 2013” ณ Northwestern Polytechnic University นครซีอาน 

4.บริษัทซีเฟยส่งเครื่องบิน 7 ลำให้สายการบินอินโดฯ

5.เครื่องบินภูมิภาครุ่นใหม่ของจีนผ่านทดสอบ stall test ครั้งแรกแล้วที่ซีอาน

6.ลงทุน 5,000 ล้านหยวน สร้าง “โลกแห่งการบิน” ที่เขตเอี๋ยนเหลียงนครซีอาน

7.ซีเฟยส่งมอบเครื่องบิน MA60 ลำที่ 2 ให้ Ok Air

8.ซีอานจัดเซ็นสัญญาความร่วมมือพัฒนาระบบควบคุมการบินเครื่องบินโดยสาร C919

9.ซีเฟยผลิต MA60 กว่า 170 ลำแล้ว

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ