เตือนภัยธุรกิจ

เตือนภัยธุรกิจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 4 พ.ย. 2565

| 6,763 view

บทความ “เตือนภัย ผู้ประกอบการไทย อย่าชะล่าใจในการทำธุรกิจกับจีน”

----------------------------------

      ปัจจุบัน การทำการค้ากับต่างประเทศเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการทำการค้ากับจีนเนื่องจากเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก มีตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็มีสินค้าส่งออกราคาไม่แพงซึ่งที่เป็นที่ถูกใจผู้บริโภคชาวไทยมากมายหลายชนิด           

      อย่างไรดี ด้วยความก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ทำให้มิจฉาชีพที่แอบแฝงมาในคราบของผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจ สามารถพัฒนารูปแบบในการหลวงลวงหรือฉ้อโกงได้ง่ายดายยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายแก่ทางธุรกิจและทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่สุจริตอย่างมากมาย รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่ถูกฉ้อโกงจากคู่ค้าจีน

      ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (ศูนย์ BIC) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานได้รับการร้องเรียนจากวิสาหกิจไทยหลายรายว่า ถูกฉ้อโกงจากคู่ค้าชาวจีน ทั้งในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ อาทิ การขอรับเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ล่วงหน้า การโอนเงินชำระค่าสินค้าในทันทีที่ลงนามในสัญญาซื้อขายโดยมิได้ตรวจสอบสถานะที่แน่ชัดของคู่สัญญาชาวจีน  ซึ่งกว่าผู้ประกอบการไทยจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

      ดังนั้น ศูนย์ BIC จึงขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์จะทำธุรกิจกับผู้ประกอบการจีน เพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบ ไม่ตื่นเต้นกับยอดการสั่งซื้อสินค้ามากเกินไปจนอาจกลายเป็นเหยื่อของการหลอกลวงฉ้อโกง ทั้งนี้ศูนย์ BIC ขอเสนอแนะข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของท่าน ดังนี้    

  1. ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทคู่ค้าจีน เพื่อประกอบการพิจารณา ที่เว็บไซต์ gsxt.gov.cn (National Enterprise Credit Information Publicity System) ซึ่งเป็นเว็บฐานข้อมูลทะเบียนพาณิชย์สาธารณะของกระทรวงพาณิชย์จีน
  2. ตรวจสอบข้อสัญญาและรายละเอียดการสั่งซื้ออย่างรอบคอบและสมเหตุผลตามหลักธุรกิจสากล ทุกครั้งที่ได้รับคำสั่งซื้อสินค้า 
  3. หากพบข้อสงสัยหรือไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล ค้นหาข้อมูลโดยการพิมพ์ชื่อบริษัทคู่ค้าผ่านช่องทางออนไลน์หรือค้นหาชื่อผ่านเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดที่รวบรวมข้อมูลการฉ้อโกง อาทิ fraudslist.com และหากพบชื่อบริษัทคู่ค้าในเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดเหล่านี้ ตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า อาจเป็นคำสั่งซื้อปลอมหรือ       มีเจตนาฉ้อโกงแอบแฝง ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ในเว็บไซต์ของบริษัทจีนเหล่านี้ มักมีแต่หน้าภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบริษัทมากนัก หรือข้อมูลสินค้าของบริษัทก็มักเป็นเพียงรูปภาพ ไม่มีรายละเอียด รวมถึงข่าวสารของบริษัทก็มักเป็นข่าวภาษาอังกฤษที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เหมือนเป็นการคัดลอกมาจากเว็บไซต์ต่าง ๆ
  4. พิจารณาขอรับเอกสาร/หลักฐานทางการค้าที่ออกให้โดยหน่วยงานภาครัฐ จากบริษัทคู่ค้าจีน อาทิ  หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หนังสือรับรองการอนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้า และหนังสือรับรองความน่าเชื่อถือทางการเงินจากธนาคารของจีน

*************