เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันนวมินทรมหาราช” ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานขอเผยแพร่พระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เพื่อน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2566

| 352 view

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนพระดาบส รวมทั้งทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ เป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ โรงเรียนร่มเกล้า ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กในพื้นที่ชายแดนห่างไกลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้ง ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และพระราชทานทุนวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ทุนเล่าเรียนหลวงและทุนอานันทมหิดล สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เรียนดีมีคุณธรรม ทุนนวฤกษ์ สำหรับนักเรียนยากจน และทุนการศึกษาสงเคราะห์ ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทุนพระราชทานเหล่านี้ เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ และมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลอย่างต่อเนื่อง เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตของชาติ

ด้วยทรงเห็นว่าการให้การศึกษาจะเป็นการสร้างอนาคตของชาติ จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้ทั้งในและต่างประเทศสามารถศึกษาหาความรู้ได้ทุกเวลา พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ เพื่อจัดทำหนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงให้เยาวชนได้อ่าน นับแต่เริ่มโครงการจนถึงพุทธศักราช ๒๕๕๙ จัดทำแล้ว ๔๑ เล่ม เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งพระราชทานพระราชบรมราโชวาทแก่เหล่าบัณฑิตใหม่เป็นประจำทุกปี ด้วยทรงมุ่งหวังให้บัณฑิตผู้ซึ่งเป็นอนาคตของชาติได้นำความรู้ที่เล่าเรียน มาไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นเสมือนครูของแผ่นดิน ดังเห็นได้จากบทพระราชนิพนธ์ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ต่างสอดแทรกด้วยข้อคิด คติธรรม และปรัชญาชีวิต เพื่อเตือนใจคนไทยให้ดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร เช่น พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก สอนเรื่องการบำเพ็ญความเพียร พระราชนิพนธ์เรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และเพลงพระราชนิพนธ์ความฝันอันสูงสุด สอนเรื่องการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนและพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง สอนเรื่องความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ