นครหยินชวนเร่งพัฒนาโรงงานอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล

นครหยินชวนเร่งพัฒนาโรงงานอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ก.ค. 2568

| 69 view

          นครหยินชวนเร่งเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตสมัยใหม่ด้วยการนำระบบ “โรงงานอัจฉริยะ” มาปรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยอาศัยเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ และระบบข้อมูลดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยมีการดำเนินงานที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม 2 โครงการ ดังนี้

          (1) การผลิตและจำหน่ายโกจิเบอร์รี่ด้วยระบบอัจฉริยะ บริษัท Ningxia Qixiang Goji ได้เปิดโรงงานระบบอัจฉริยะแปรรูปโกจิเบอร์รี่และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมดำเนินงานแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบรรจุน้ำโกจิเบอร์รี่ไปจนถึงการพับกล่องบรรจุภัณฑ์ โดยเมื่อเทียบกับแรงงานคน หุ่นยนต์สามารถทำงานได้แม่นยำและเร็วขึ้นกว่า 4–5 เท่า ช่วยลดข้อผิดพลาดและช่วยลดภาระของแรงงานคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการผลิตของโรงงานดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับระบบการขายแบบเรียลไทม์ โดยในช่วงเทศกาล “Shopping 618” ซึ่งเป็นเทศกาลการจับจ่ายออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของจีน บริษัทฯ ได้รับคำสั่งซื้อมากถึง 20,000 รายการ/วัน มียอดขายสูงถึง 1.25 ล้านหยวน เมื่อมีคำสั่งซื้อระบบจะประมวลผลอัตโนมัติตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบ การจัดตารางการผลิต ไปจนถึงการควบคุมเครื่องจักรแต่ละสายงาน ซึ่งสามารถแจ้งสถานะการจัดส่งภายใน 3 ชั่วโมง และส่งมอบภายใน 24 ชั่วโมง ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 บริษัทฯ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำกว่า 50 แห่ง ครอบคลุมผู้บริโภคกว่า 70 ล้านรายทั่วประเทศ มียอดจัดส่งต่อวันมากกว่า 50,000 ชิ้น และสร้างรายได้กว่า 400 ล้านหยวน ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ และกำลังขยายสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในเขตฯ หนิงเซี่ย

          (2) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก้ปัญหาของเสียจากอุตสาหกรรม บริษัท Ningxia Zhongsheng Building Materials Technology ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ “ขี้เถ้าลอย” (Fly Ash) ซึ่งเป็นของเสียอุตสาหกรรมที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โดยนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในโรงงานอัจฉริยะของบริษัทฯ กระบวนการทำงานในทุกขั้นตอนถูกควบคุมโดยระบบดิจิทัล เมื่อรถขนส่งวัสดุเข้าสู่บริเวณโรงงาน ระบบจะชั่งน้ำหนัก บันทึกข้อมูลโดยอัตโนมัติ และส่งข้อมูลไปยังคลังวัตถุดิบ ซึ่งมีระบบควบคุมกลางคอยตรวจสอบสถานะแบบเรียลไทม์ หากพบวัตถุดิบใกล้หมดหรือมีความผิดปกติ ระบบจะแจ้งเตือนโดยทันที โดยเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมและสั่งการผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ นอกจากการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติแล้ว บริษัทฯ ยังได้พัฒนาโรงงานต้นแบบโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “Digital Twin” ซึ่งเป็นการจำลองสายการผลิตและกระบวนการทำงานของโรงงานจริงในรูปแบบเสมือนบนระบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริหารสามารถติดตามสถานะการทำงานของเครื่องจักร กระบวนการผลิต ปริมาณวัตถุดิบ คลังสินค้า และคำสั่งซื้อได้แบบเรียลไทม์ ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับลดความยืดหยุ่นในการวางแผนการผลิต และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างทันที ผู้อำนวยการของบริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า การปรับเปลี่ยนโรงงานสู่รูปแบบดิจิทัลช่วยให้สายการผลิตสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 15–20%

          นครหยินชวน เร่งส่งเสริม “โรงงานอัจฉริยะ” และตั้งเป้าหมายพัฒนาจาก “โรงงานดิจิทัล” ไปสู่ “โรงงานแห่งอนาคต” โดยมีการจัดตั้งพื้นที่โรงงานต้นแบบกว่า 73 แห่ง และสร้างกลไกประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ
ที่ช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตของนครหยินชวนก้าวสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

          ที่มา : https://mp.weixin.qq.com/s/1KERZqsDULP1Rq69xccx2w

 

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน

                                                                                                ผู้เรียบเรียง : อรัญญา รุ่งเรือง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ