การมอบเงินบริจาคโรงเรียนยากจนในนครซีอาน มิตรไมตรีจากประชาชนชาวไทยสู่ประชาชนชาวส่านซี

การมอบเงินบริจาคโรงเรียนยากจนในนครซีอาน มิตรไมตรีจากประชาชนชาวไทยสู่ประชาชนชาวส่านซี

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ต.ค. 2565

| 1,249 view

ไทย-จีน ร่วมทุกข์ร่วมสุขเสมือนหนึ่งลงเรือลำเดียวกัน

           นับแต่ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2518 ความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีระหว่างไทย-จีนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งนำไปสู่การขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ตลอดจนได้ร่วมคลี่คลายและแก้ไขปัญหาที่ต่างฝ่ายประสบระหว่างกัน โดยเฉพาะยามเมื่อภัยธรรมชาติได้ท้าโถมเข้าใส่ จึงกล่าวได้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขเสมือนหนึ่งลงเรือลำเดียวกัน มิตรสัมพันธ์ประดุจ “ครอบครัวเดียวกัน” (中泰 - 家亲)

           การเกิดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ทำให้พี่น้องทางภาคใต้ของไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องประสบภัยพิบัติอย่างหนัก ผู้คนนับหมื่นสูญหายและเสียชีวิต หลายคนไร้ที่อยู่อาศัย เด็กน้อยจำนวนมากต้องกำพร้าพ่อแม่ภายในชั่วพริบตา ในเวลานั้นจีนเป็นกลุ่มประเทศหลักสำคัญที่ให้ความช่วยเหลือไทยอย่างใกล้ชิดและทันท่วงที การบริจาคเงินช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและประชาชนชาวจีน โดยเฉพาะโครงการสร้าง ”หมู่บ้านมิตรภาพกาชาดจีน-ไทย” ที่สภากาชาดของ 2 ประเทศได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ประสบภัยสึนามิ 170 ครัวเรือนที่จังหวัดพังงา เป็นมิตรไมตรีที่ประชาชนชาวจีนยื่นให้กับมิตรชาวไทย ได้นำรอยยิ้มและความหวังให้ปรากฎบนใบหน้าของประชาชนทางภาคใต้ของไทยอีกครั้งหนึ่ง

           ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองเวิ่นชวน มณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของนครเฉิงตู มีความรุนแรง 8 ริกเตอร์ ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดของจีนในรอบหลายทศวรรษ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลายหมื่น บาดเจ็บนับแสน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไปยังประธานาธิบดีจีน ขณะเดียวกันสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสิ่งของและทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ผู้ประสบภัยชาวจีน รวมทั้งภาครัฐและประชาชนชาวไทยต่างบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวจีนเช่นกัน ถือเป็นน้ำใจและมิตรภาพที่สองประเทศมีให้ต่อกัน รวมทั้งมีนัยเป็นความรักและความห่วงใยระหว่างประชาชนไทย-จีน

 

ความช่วยเหลือของไทยต่อมณฑลส่านซี

            ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซีนับวันยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน การไปมาหาสู่ระหว่างกันสองฝ่ายได้ขยายตัวยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว เมื่อครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เมืองเวิ่นชวน มณฑลเสฉวนเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2551 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานได้ร่วมบริจาคเงินสมทบจำนวน 20,000 หยวน (ประมาณ 100,000 บาท) ผ่านรัฐบาลมณฑลส่านซี (ส่านซีเป็นมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มากเป็นอันดับ 3 ของจีน รองจากเสฉวนและกานซู มีผู้เสียชีวิตประมาณ 120 คน บาดเจ็บ 3,000 คน) เพื่อใช้ในกิจการกู้ภัยและช่วยเหลือประชาชนชาวส่านซีผู้ประสบภัย เพื่อแสดงถึงมิตรภาพไทย-จีน และแสดงความห่วงใยที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีต่อรัฐบาลและประชาชนชาวส่านซี นับเป็นเงินบริจาครายแรกที่ส่านซีได้รับจากองค์กรต่างประเทศในมณฑล

           เมื่อต้นเดือนก.ย. 2551 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานได้ประสานงานกับสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งระดับมณฑลส่านซีและนครซีอาน ในการคัดเลือกโรงเรียนในเขตพื้นที่ยากจนของมณฑลส่านซีหรือนครซีอาน เพื่อสถานกงสุลใหญ่ฯจะมอบเงินบริจาคสำหรับใช้ประโยชน์ในกิจการด้านการศึกษาแก่โรงเรียนที่เหมาะสม และต่อมาสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอานได้คัดเลือกและกำหนดให้โรงเรียนประถมเถียนพอในอำเภอหลานเถียนเป็นโรงเรียนในโครงการขอรับเงินบริจาคจากสถานกงสุลใหญ่ฯ

           โรงเรียนประถมเถียนพอ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเถียนพอ ตำบลอานชุน อำเภอหลานเถียน นครซีอาน ก่อตั้งเมื่อปี 2503 ปัจจุบันมีครู 9 คน นักเรียนประมาณ 180 คน มี 7 ชั้นเรียน คือ ระดับเตรียมประถม 1 ห้อง และประถม 1 - 6 อย่างละ 1 ห้อง นักเรียนเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวยากจนในหมู่บ้านเถียนพอ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนในเขตรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร โรงเรียนอยู่ในสภาพเก่าและทรุดโทรม อาคารเรียนบางหลังและห้องน้ำได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.0 ริกเตอร์ที่มณฑลเสฉวนเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2551 

           โรงเรียนมีคอมพิวเตอร์รุ่นเก่า 1 เครื่อง ทำให้วิชาเทคโนโลยีด้านข่าวสารไม่สามารถเปิดสอนได้ เสาสนามบาสเก็ตบอลและอุปกรณ์กีฬายิมนาสติกมีสภาพเก่าและชำรุดอย่างเห็นได้ชัด ทุกครั้งเมื่อฝนตกสวนผลไม้และทางเดินในโรงเรียนจะกลายเป็นดินโคลนสีแดงโดยพลัน คุณครูต้องสวมรองเท้าบูทไปสอนหนังสือและเด็ก ๆ ก็เช่นกัน เมื่อฝนไม่ตกและสนามกีฬาแห้งแล้วจึงจะใช้เป็นลานกีฬาในชั่วโมงวิชาพละศึกษา ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาและโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ครูใหญ่และคณะกรรมการหมู่บ้านได้หารือโครงการก่อสร้างถนนลาดยางกว้าง 2 เมตร ยาว 100 เมตร รอบบริเวณสวนของโรงเรียนทำเป็นทางเดินเพื่อความสะดวกของครูและนักเรียน ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่ม 5 เครื่อง เพื่อเปิดสอนวิชาเทคโนโลยีด้านข่าวสาร ส่วนสนามกีฬาจะลาดคอนกรีตหนา 15 เซนติเมตร และซื้ออุปกรณ์กีฬา เพื่อให้นักเรียนรวมทั้งเด็กในหมู่บ้านมีสถานที่ออกกำลังกายที่เหมาะสม

           เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2551   นายวศิน เรืองประทีปแสง รักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานและคณะได้เดินทางเยี่ยมชมสภาพปัจจุบันและการเรียนการสอนของโรงเรียนประถมเถียนพอ โดยมีนายไป๋ อานส่วน (Bai Anxuan) ปลัดอำเภอหลานเถียน นายจ้าว หย่งเซิง (Zhao Yongsheng) ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอาน และนางจาง จือเสีย (Zhang Zhixia) ครูใหญ่ ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลของโรงเรียน ในโอกาสดังกล่าว รักษาการกงสุลใหญ่ฯได้มอบเงินบริจาคจำนวน 30,000 หยวน (150,000 บาท) แก่โรงเรียนประถมเถียนพอ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอานเป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงและบูรณะอาคารเรียนที่ทรุดโทรมและใช้ในกิจการด้านการศึกษาของโรงเรียน

           ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2551 รักษาการกงสุลใหญ่ฯและคณะ ได้ร่วมพิธีมอบเงินบริจาคที่โรงเรียนประถมเถียนพออย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยมีปลัดอำเภอหลานเถียน ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอาน นายจาง ลี่หลง (Zhang Lilong) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำตำบลอานชุน นายหยู ฉวินถง (Yu Quntong) รองผู้อำนวยการกองกงสุล สำนักงานการต่างประเทศมณฑลส่านซี ครูใหญ่และนักเรียนทุกชั้นเรียนเข้าร่วมในพิธี

             รักษาการกงสุลใหญ่ฯได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงวัตถุประสงค์การบริจาคเงินครั้งนี้ว่า แม้เงินบริจาคจะไม่มากนัก แต่ก็เป็นน้ำใจของมิตรชาวไทยที่มีต่อครูและนักเรียนจีนในหมู่บ้านเถียนพอแห่งนี้ และเพื่อสนับสนุนกิจการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน ซึ่งนับเป็นการบริจาคเพื่อการศึกษาของประเทศไทยในมณฑลส่านซีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทย-จีนและไทย-ส่านซี รวมทั้งมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างประชาชนของสองประเทศ 

           ปลัดอำเภอหลานเถียน และผู้อำนวยการสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอาน ได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งต่อการที่สถานกงสุลใหญ่ฯในนามรัฐบาลและประชาชนชาวไทยที่ได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจการด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและด้านการศึกษาของอำเภอหลานเถียน ซึ่งสะท้อนถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งระหว่างประชาชนสองฝ่าย ประชาชนชาวเถียนพอจะจดจำมิตรไมตรีที่ได้รับจากประชาชนชาวไทยมิรู้ลืม และรับปากจะใช้เงินบริจาคของไทยดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการศึกษาของโรงเรียนฯทุกบาททุกสตางค์

 

อำเภอหลานเถียนกับการแก้ไขปัญหาความยากจน

            อำเภอหลานเถียน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ราบกวานจง อยู่ในเขตนครซีอาน มณฑลส่านซี ห่างจากนครซีอาน 22 กิโลเมตร แบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 22 ตำบล 519 หมู่บ้าน มีประชากร 637,000 คนโดยเป็นเกษตรกรประมาณ 570,000 คน มีพื้นที่ 1,969 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นพื้นที่ภูเขากว่าร้อยละ 80 ระหว่างปี 2528 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศให้เป็นอำเภอยากจน ในตอนนั้นเกษตรกรมีรายได้น้อยกว่า 300 หยวนมากถึง 268,000 คน คิดเป็นร้อยละ 52.4 ของประชากรทั้งอำเภอ

            ตามแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรจีนปี 2544-2553 และแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนมณฑลส่านซีปี 2544-2553 มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เกษตรกรอำเภอหลานเถียนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำกว่า 865 หยวนให้เหลือเพียง 115,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนเกษตรกรทั้งอำเภอ ประชากรที่ยากจนของอำเภอหลานเถียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามเขตภูเขา หมู่บ้านที่ยากจนมาก ๆ มี 166 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 32 ของหมู่บ้านทั้งหมดในอำเภอหลานเถียน และหนึ่งในนั้นก็คือ หมู่บ้านเถียนพอ

            เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรและให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น สำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอานและอำเภอหลานเถียนได้ร่วมกันตัดถนนเข้าสู่โรงเรียน และพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีขึ้น ส่งเสริมการเพาะปลูกโดยอบรมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้ เพื่อนำไปสู่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งเร่งผลักดันเศรษฐกิจในเขตยากจนให้พัฒนายิ่งขึ้น

 

แวะอำเภอหลานเถียน

            อำเภอหลานเถียนถูกขนามว่าเป็นเมืองแห่งหยก เมืองแห่งมนุษย์วานร เมืองแห่งพ่อครัว และเมืองแห่งน้ำพุร้อน

เมืองแห่งหยก อำเภอหลานเถียนมีทรัพยากรแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ มีการค้นพบแร่ธาตุ 38 ชนิด เป็นแร่โลหะที่สำคัญมากมายเช่น ทองคำ เงิน ตะกั่ว โมลิบดินัมและหินอ่อน แต่แร่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอหลานเถียนและมณฑลส่านซีคือ หยกหลานเถียน ซึ่งเป็นหยกที่มีความแข็งมาก (ต่างจากหยกเหอเถียนของซินเจียงและหยกของพม่าที่มีความอ่อน สามารถแกะเป็นงานชิ้นเล็กได้อย่างปราณีต) เนื้อหยกมีสีขาวนวล ไม่เขียวเข้ม มักนิยมนำมาแกะทั้งก้อนใหญ่ ๆ เพื่อการตกแต่งบ้านมากกว่าการสวมใส่

เมืองแห่งมนุษย์วานร อำเภอหลานเถียนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เชื่อกันว่าเมื่อประมาณ 1.15 ล้านปีมาแล้ว อำเภอหลานเถียนได้ก่อกำเนิดมนุษย์วานรเป็นที่แรก และอาศัยอยู่บริเวณเขตแม่น้ำป้าเหอ ชาวจีนมีเรื่องเล่าว่าเมื่อ 8,000 กว่าปีก่อน พระมารดาหัวซวีซื่อ (华胥氏) ได้สร้างต้นตระกูลผู้หญิงที่อำเภอแห่งนี้

เมืองแห่งพ่อครัว อำเภอหลานเถียนได้รับรางวัลป้ายอักษรทองคำว่าเป็น “เมืองแห่งพ่อครัว” เพราะชาวหลานเถียนทำอาหารอร่อย พ่อครัวเดินทางไปต่างเมืองได้สร้างชื่อเสียงจนเป็นที่เลื่องลือ อาหารท้องถิ่นและของทานเล่นของอำเภอหลานเถียนได้กระจายไปทั่ว จนเกิดเป็นร้านอาหารท้องถิ่นมากมายทั่วซีอาน เช่น ร้านอาหารตู๋ซิ่ว เม่าเซิ่ง และจิ่วต้าหว่าน เป็นต้น

เมืองแห่งน้ำพุร้อน อำเภอหลานเถียนมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจชื่อว่า ทะเลสาบทังวี่ หรือบ่อน้ำพุร้อนทังวี่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอหลานเถียน 20 กิโลเมตร บ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้มีแร่ธาตุมากมาย เช่น โปรแตสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก แคลเซียม และไอโอดีน อุณหภูมิอยู่ประมาณ 50 องศาเซนเซียส มีผลดีต่อร่างกายมนุษย์ในกระบวนการเผาผลาญและการฆ่าเชื้อโรค มีประโยชน์ในการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง โรคข้ออักเสบ และปวดตามกล้ามเนื้อและเอว

 

มิตรภาพ ”

การบริจาคเงินแก่โรงเรียนประถมเถียนพอของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน โดยผ่านสำนักงานกิจการแก้ไขปัญหาความยากจนนครซีอานดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่แห่งการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐบาลกับรัฐบาล ประชาชนกับประชาชน และประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นที่หวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยผูกไมตรีและสร้างความนิยมประเทศไทยในหมู่ผู้บริหารด้านการศึกษา ครู นักเรียนและประชาชนในพื้นที่  ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่องานส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยกับมณฑลส่านซีได้เป็นอย่างดีในอนาคต

 

แหล่งข้อมูล

จากการเดินทางไปโรงเรียนเถียนพอและอำเภอหลานเถียนร่วมกับรักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน

http://www.lantian.gov.cn

 

ขอขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากเวปไซด์

http://www.w-nikro.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=355855&Ntype=4

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ