ซอกแซกเมืองฉินซีฮ่องเต้ อาหารพื้นเมืองส่านซี เสน่ห์ตะวันตกของเมืองจีน

ซอกแซกเมืองฉินซีฮ่องเต้ อาหารพื้นเมืองส่านซี เสน่ห์ตะวันตกของเมืองจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 7 ต.ค. 2564

| 5,239 view

เขียนโดย adminxian   

นครซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซี มีชื่อเสียงในเรื่องอาหารพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องด้วยดินแดนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อารยธรรมความเป็นมากว่า 3,000 ปี เป็นที่ตั้งเมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมที่ทำให้เกิดการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ฮั่นและถัง ซึ่งเป็นยุคที่การค้ารุ่งเรือง มีการติดต่อกับต่างชาติจนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกัน อันหมายรวมถึงวัฒนธรรมอาหารการกิน นอกจากนี้ ชนชาวหุยซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็ได้ช่วยเพิ่มสีสันให้ดินแดนแห่งนี้มีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

         ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานได้รับความช่วยเหลือจาก Mr. Yang Chao (ชาวซีอานที่ใช้ชีวิตในนครแห่งนี้มาแล้วกว่า 38 ปี) ได้พาไปรู้จักอาหารพื้นเมืองที่สืบทอดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมายาวนาน พร้อมเล่าเกร็ดประวัติความเป็นมาของอาหารเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยให้ได้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวซีอานมากขึ้น          

          Mr. Yang เล่าว่า อาหารเด่นของชาวส่านซีมักทำจากแป้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่มาส่านซี หากไม่ได้ลิ้มลองก๋วยเตี่ยวท้องถิ่นของที่นี่ก็เรียกได้ว่ามาเสียเที่ยวกันเลยทีเดียว

1. 葫芦หูลู่โถว (หูลู่ แปลว่า น้ำเต้า)
ลักษณะ ใช้ขนมปังพื้นเมืองก้อนกลมสีขาวนวล ซึ่งลูกค้าจะต้องบิขนมปังออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาด 2 เซนติเมตรด้วยตนเอง  เมื่อบิเสร็จบริกรจะส่งต่อให้พ่อครัว เพื่อนำขนมปังที่บิแล้วดังกล่าวไปลวกในน้ำซุปไก่ร้อนจัด 3 - 4 ครั้ง เพื่อให้ซุปเข้าถึงเนื้อในของขนมปัง แล้วจึงเติมวุ้นเส้น ไส้หมูที่ลวกสุกแล้ว พร้อมราดน้ำซุปกระดูกไก่เสริฟแก่ลูกค้า

ร้านนี้ทำไส้หมูได้นุ่มลิ้นจริง ๆ และหอมกลิ่นน้ำซุปไก่มาก

 เกร็ดประวัติ

          นายซุน ซือเหมี่ยว (孙思邈)  แพทย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ถัง (ราชวงศ์ถัง : ค.ศ. 618-917) ได้ถูกโจรจี้ระหว่างเดินทางกลับบ้าน แต่โชคดีที่นายหวาง ต้าลี่ (王大利)ได้เข้าช่วยไว้ทัน และพากลับมายังที่พักของตน
          นายหวาง ต้าลี่ เดิมมีอาชีพขายเนื้อหมู แต่เนื่องด้วยราคาเนื้อหมูในสมัยนั้นไม่แน่นอน จึงมักขาดทุน ต่อมาจึงเปลี่ยนอาชีพมาขายแกงเครื่องในหมูแทน 
          หลังจากที่นายหวางพานายซุนเข้ามาพักในร้านของตน จึงได้นำแกงเครื่องในหมูออกมาเลี้ยงรับรอง ซึ่งแกงดังกล่าวมีกลิ่นและรสชาติที่คาวมาก นายซุนจึงมอบน้ำเต้าที่พกติดตัวพร้อมกล่าวกับนายหวางว่า เราชื่อซุนซือเหมี่ยว มีอาชีพเป็นหมอเก็บสมุนไพรจีน ข้างในน้ำเต้านี้มีสมุนไพรที่ช่วยดับกลิ่นคาว ท่านเพียงนำไปผสมในน้ำแกงเพียงเล็กน้อย แกงของท่านก็จะให้รสและกลิ่นที่หอมกลมกล่อม
             หลังจากนายซุนได้จากไปแล้ว นายหวางจึงทำตามคำที่นายซุนกำชับ ทำให้แกงเครื่องในหมูที่ต้มมีกลิ่นหอมหวนจนผู้คนที่เดินผ่านร้านอดใจไม่ไหวต้องแวะเข้ามาชิม จากนั้นร้านของนายหวางก็มีชื่อเสียงและมีลูกค้าแน่นร้านตลอดมา และเพื่อรำลึกถึงบุณคุณของนายซุน นายหวางจึงเปลี่ยนชื่อร้านของตนเป็นชื่อ หูลู่โถว ซึ่งหมายถึงน้ำเต้านั่นเอง
          นอกจากนี้ มีผู้สันนิษฐานว่า เนื่องด้วยรูปทรงของลำไส้หมูคล้ายรูปทรงส่วนหัวของน้ำเต้า นี่จึงอาจเป็นที่มาของชื่อเรียกอาหารชนิดนี้
ร้านแนะนำ ชุนฟาเซิง  发生 อยู่ใกล้หอระฆ้ง (กรุณาคลิกเพื่อดูรายละเอียดที่ตั้ง)
          Mr. Yang แนะนำว่าร้านดังกล่าวเปิดบริการมากว่า 80 ปี มีรสชาติที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองไว้ ถือเป็นร้านต้นตำรับหูลู่โถวที่เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงที่สุดในส่านซี แม้แต่ผู้็มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์อย่างเจียง ไคเช็ค (蒋介石) และนายพลจาง เสวียเหลียง (张学良)ก็ยังเคยเป็นแขกสำคัญของร้านนี้ในช่วงปีค.ศ. 1935 – 1936 ปัจจุบันร้านดังกล่าวมีหูลู่โถวบริการหลากหลายรสชาติให้ลูกค้าลิ้มลอง เช่น รสดั้งเดิม รสไก่ และรสทะเล   เป็นต้น
ราคา มีให้เลือกตั้งแต่ 10 - 52 หยวน (รูปด้านบนเป็นรสชาติดั้งเดิมราคา 15 หยวน)
เคล็ดลับ
          Mr. Yang แนะนำว่าให้บิขนมปังให้มีขนาดราว 2 เซนติเมตร เนื่องจากขนมปังดังกล่าวสุกอยู่แล้ว (วิธีบิขนมปังต่างจากอาหาร หนิวหยางโย่วเพ่าโหมว” 牛羊肉泡ซึ่งจะแนะนำเป็นเมนูที่  3) และแม้บางร้านอาจมีบริการขนมปังที่บิไว้ด้วยเครื่องหั่นที่ทุ่นแรงอยู่แล้ว แต่ Mr. Yang แนะนำว่า การบิขนมปังด้วยตนเองจะทำให้น้ำซุปไก่เข้าถึงเนื้อขนมปังได้ดีกว่า และอร่อยกว่าการบิด้วยเครื่องหั่น เพราะขนมปังที่บิด้วยเครื่องหั่นจะมีขนาดหนาและมีหน้าตัดที่เท่ากันทั้ง 4 ด้าน

 

2.     葫芦鸡  หูลู่จี หรือ “ไก่น้ำเต้า” ได้รับสมญานามว่า รสชาติเป็นเลิศแห่งฉางอาน (นครซีอานเดิมเรียกว่า “ฉางอาน”)

ลักษณะ ไก่ที่เนื้อกรอบนอกนุ่มใน เนื่องจากผ่านขั้นตอนการปรุงอย่างพิถีพิถันตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ไก่ที่ชื่อ โวโว (倭倭鸡)จากหมู่บ้านสานหยาวทางตอนใต้ของนครซีอาน (西安城南三爻村)ซึ่งจะต้องเลี้ยงไว้ 1 ปี จนมีน้ำหนักได้ราว 1 กิโลกรัม จึงนำไปปรุงอาหาร           เหตุที่เรียกไก่ทอดนี้ว่า หูลู่จี เนื่องจาก ลักษณะของไก่ที่ปรุงเสร็จมีรูปร่างคล้ายน้ำเต้า

เกร็ดประวัติ         

          ในสมัยจักรพรรดิถัง ซวนจงแห่งราชวงศ์ถัง (唐玄宗) เสนาบดีฝ่ายพิธีการนามว่า เหว่ยจื้อ (韦陟)ได้กำชับให้พ่อครัวปรุงไก่ให้มีรสชาติกรอบนอกนุ่มใน พ่อครัวคนที่หนึ่งใช้วิธีนำไก่ไปตุ๋นก่อน แล้วจึงนำไปทอดกรอบ แต่หลังจากที่เหว่ยจื้อได้ชิมกลับรู้สึกว่าเนื้อไก่เหนียวเกินไป ได้รสชาติไม่ตรงตามความต้องการของตน จึงโกรธกริ้วและสั่งลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี 50 ครั้ง จนพ่อครัวถึงแก่ความตาย          
          พ่อครัวคนที่สองใช้วิธีนำไก่ไปต้มก่อน แล้วจึงนำมานึ่ง สุดท้ายจึงนำไปทอดกรอบ แม้ได้ความกรอบนอกนุ่มในตรงตามความต้องการของเหว่ยจื้อแล้ว แต่เนื่องด้วยไก่ผ่านความร้อนมาถึง 3 ขั้นตอน จึงทำให้เนื้อไก่ไม่ติดกระดูก และแยกออกเป็นชิ้น ๆ  เหว่ยจื้อจึงสงสัยว่าพ่อครัวได้แอบขโมยกินเนื้อไก่เสียแล้ว จึงสั่งจับไปเฆี่ยนตีจนถึงแก่ความตาย โดยไม่ฟังคำอธิบายของพ่อครัว
          พ่อครัวคนที่สามได้เรียนรู้ประสบการณ์ของพ่อครัวทั้งสองคนแล้ว จึงใช้วิธีนำเชือกเส้นเล็กมามัดไก่ทั้งตัวไว้ ก่อนจะนำไปต้ม ตามด้วยนึ่ง และทอดกรอบ ทำให้ไก่ที่ได้ไม่เพียงแต่กรอบนอกนุ่มใน แต่ยังทำให้ไก่ทั้งตัวไม่เละแตกออกเป็นชิ้น อีกทั้งไก่ยังมีรูปร่างเหมือนน้ำเต้าอีกด้วย ทำให้เหว่ยจื้อพอใจเป็นอย่างมาก จากนั้นผู้คนจึงเรียกวิธีปรุงไก่ดังกล่าวว่า “หูลู่จี” หรือ “ไก่น้ำเต้า” นั่นเอง
ร้านแนะนำ ซีอานฟั่นจวง 西安饭庄 (ที่อยู่ : ถนนตงต้าเจีย ใกล้หอระฆัง)         
          เป็นร้านที่เปิดดำเนินการมากว่า 80 ปีเช่นกัน โดย Mr. Yang แนะนำว่า ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำไก่น้ำเต้าได้อร่อยที่สุด นอกจากนี้ ร้านดังกล่าวยังมีบริการขนมพื้นเมืองท้องถิ่นหลากชนิดของส่านซี ซึ่งทำขนาดพอคำ และได้ปรับปรุงรสชาติของขนมให้เข้ากับนักท่องเที่ยวต่างถิ่น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาท่องเที่ยวในซีอานจำกัด
ราคา   50 หยวน

 

3.     牛羊肉泡馍  หนิวหยางโย่วเพ่าโหมว
ลักษณะ  อาหารดั้งเดิมของชาวอิสลาม มี 2 รสชาติให้เลือกคือ รสเนื้อวัว หรือ รสเนื้อแพะ มีลักษณะและวิธีการปรุงคล้ายหูลู่โถว ต่างกันที่เนื้อและน้ำซุปซึ่งทำจากเนื้อวัวหรือเนื้อแพะ เนื่องจากชาวมุสลิมไม่ทานเนื้อหมูนั่นเอง

วิธีรับประทาน คล้ายอาหาร “หูลู่โถว” ดังนี้

  1. บิขนมปังออกเป็นชิ้นขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลืองด้วยตนเอง เนื่องด้วยขนมปังชนิดนี้เป็นขนมปังกิ่งสุกกิ่งดิบ
  2. แจ้งแก่บริกรว่าต้องการรสชาติเนื้อวัว หรือ เนื้อแพะ (หนิวโย่ว=เนื้อวัว, หยางโย่ว=เนื้อแพะ)

ข้อระวัง ห้ามพูดว่า จูโย่ว ซึ่งแปลว่าเนื้อหมูเด็ดขาด เพราะอาจโดนบริกรชาวมุสลิมตะเพิดออกจากร้านได้
    3. เมื่อบิขนมปังเสร็จบริกรจะส่งต่อให้พ่อครัว เพื่อนำขนมปังที่บิแล้วไปลวกในน้ำซุปเนื้อวัว หรือ เนื้อแพะ ร้อนจัด 3 - 4 ครั้ง เพื่อให้น้ำซุปเข้าถึงเนื้อในของขนมปัง แล้วจึงเติมวุ้นเส้น และเนื้อวัวตุ๋นหรือแพะตุ๋นแก่ลูกค้า
เกร็ดประวัติ 
          บันทึกทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า อาหาร “หนิวหยางโย่วเพ่าโหมว” มีวิวัฒนาการมาจากแกงเนื้อแพะของสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อนคริสตศักราช 1,066 - 771 ปี) ซึ่งสมัยนั้นเป็นอาหารของชาววังที่ใช้รับรองกษัตริย์หรือขุนนางชั้นผูู้้ใหญ่ จนกระทั้งสมัยราชวงศ์สุย (คศ. 581 -618) แกงเนื้อแพะดังกล่าวจึงเริ่มใช้แป้งเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหาร
          ในสมัยจักรพรรดิถัง ซู่จง (คศ. 757) บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายไม่สงบ จนต้องขอให้กองทัพทหารจากประเทศเพื่อนบ้านมาช่วยป้องกันเมืองหลวง ซึ่งสมัยนั้นมีเมืองหลวงอยู่ 2 เมืองคือ เมืองลั่วหยาง (ปัจจุับันตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน) และเมืองฉางอาน (ปัจจุบันคือนครซีอาน) เมื่อทหารเหล่านี้ออกรบมักพกขนมปังเป็นเสบียงติดตัวไว้เสมอ แต่เนื่องจากสงครามกินระยะเวลายาวนาน ทำให้ขนมปังที่นำมาทั้งแห้งและแข็งจนเคี้ยวไม่ลง พวกเขาจึงต้องนำขนมปังมาลวกในน้ำแกงเนื้อแพะก่อน จึงจะสามารถกินได้ ต่อมา เมื่อทหารเหล่านี้ได้ตั้งรกรากในเมืองฉางอาน ชาวบ้านทั่วไปจึงได้รับอิทธิพลการกินขนมปังลวกน้ำซุปด้งกล่าว
          สมัยราชวงศ์ซ่ง (คศ. 960 - 1279) มีการเล่าขานกันว่า ซ่งไท่จู่ (宋太祖)หรือ จ้าว ควงอิ้น (赵匡胤) ปฐมกษัตรย์ของราชวงศ์ซ่ง เมื่อมีอายุราว 23 ปีและยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ มีชีวิตความเป็นอยู่ยากแค้นมาก ต้องร่อนเร่พเนจรไปยังเมืองต่าง ๆ มีอยู่วันหนึ่งได้เดินทางมาถึงเมืองฉางอาน แต่ทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือเพียงขนมปังที่แห้งและแข็งจนกัดไม่เข้าเพียง 2 ก้อน โชคดีที่ข้างทางมีร้านขายเนื้อแพะตุ๋น จ้าว ควงอิ้นจึงได้เข้าไปร้องขอน้ำแกงเนื้อแพะ 1 ชามเพื่อนำมาลวกขนมปังกิน เจ้าของร้านเห็นเข้าก็สงสารจึงให้จ้าว ควงอิ้น นำขนมปังที่พกมาบิออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำมาลวกในน้ำแกง  10 ปีให้หลัง หรือคศ. 960 จ้าว ควงอิ้นได้ครองราชย์ขึ้นเป็นปฐมกษัตรย์ของราชวงศ์ซ่ง นาม ซ่งไท่จู่ มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะเสด็จประพาสเมืองฉางอาน ได้เห็นร้านขายแกงเนื้อแพะตุ๋นที่เคยเสวยเมื่อครั้งตกทุกข์ได้ยาก จึงสั่งให้หยุดรถและเสด็จเข้าไปในร้านนั้น พร้อมสั่งให้เจ้าของร้านทำขนมปังลวงแกงแพะตุ๋นถวาย เจ้าของร้านตกใจลนลาน เพราะร้านของตนแต่ไหนแต่ไรไม่ขายขนมปัง จึงกำชับภรรยาให้รีบนวดแป้งทำขนมปัง แต่ด้วยความรีบร้อนขนมปังที่ได้จึงยังแข็งและยังไม่สุก เจ้าของร้านเกรงว่าพระองค์เสวยแล้วอาจประชวรได้ จึงได้นำขนมปังดังกล่าวมาบิออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มในแกงเนื้อแพะ และเติมเนื้อแพะตุ๋นลงไปก่อนนำถวาย ซึ่งกษัริตย์ซ่งไท่จู่พอพระทัยในรสชาติเป็นอย่างมาก จึงได้พระราชทานเงินรางวัลแก่เจ้าของร้านถึง 100 ชั่ง เรื่องปฐมกษัตรย์ซ่งไท่จู่โปรดเสวยขนมปังลวกแกงเนื้อแพะนี้เป็นที่เลื่องลืออย่างมาก จนชาวบ้านทั่วไปต่างต้องการแวะมาลองชิมอาหารที่ซ่งไท่จู่เสวย “หนิวหยางโย่วเพ่าโหมว” จึงกลายเป็นอาหารขึ้นชื่อแห่งเมืองฉางอานนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เคล็ดลับ เนื่องจากขนมปังชนิดนี้ยังไม่สุก ดังนั้นยิ่งบิได้ชิ้นเล็กมากเพียงใดยิ่งดี เพราะจะทำให้น้ำซุปเข้าถึงเนื้อขนมปังได้ง่าย เวลาทานห้ามใช้ตะเกียบคนไปมา เพราะจะทำให้รสชาติและความร้อนระเหย อาหารชนิดนี้เมื่อทานแล้วจะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เหมาะสำหรับทานในหน้าหนาวอย่างมาก
ร้านแนะนำ
1. 老刘家 เหล่าหลิวเจีย เปิดบริการเวลา 06.00 – 14.00 ของทุกวัน อยู่ใกล้ถนนมุสลิม (หุยหมินเจีย回民街) ในนครซีอาน
          ร้านเหล่าหลิวเจียเป็นร้านท้องถิ่นเก่าแก่ที่ไม่ได้ปรับปรุงร้านให้ดูใหม่สะอาดตาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ความเด็ดของร้านนี้อยู่ที่รสชาติดั้งเดิมที่คงเอกลักษณ์ความเป็นอาหารท้องถิ่นไว้
2. 孙家 เหล่าซุนเจีย ถนนตงต้าเจีย(东大街)ย่านหอระฆัง (钟楼)
       หากนักท่องเที่ยวที่ชอบความสะดวกสบายอาจลองเลือกร้านเหล่าซุนเจีย ซึ่งเป็นร้านที่ได้ปรับปรุงสภาพของร้าน และประยุกต์รสชาติให้เหมาะสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว  อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่า อย่าไปร้านนี้ในช่วงที่ลูกค้าแน่นร้าน เพราะเราจะไม่ได้บิขนมปังด้วยตนเอง แต่บริกรจะใช้เครื่องหั่นขนมปังเป็นชิ้นเล็ก ๆ สำเร็จรูปอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่ารสชาติไม่อร่อยเท่าการบิขนมปังด้วยตนเองแน่นอน

 

4.  岐山臊子面 ฉีซานเส้าจื่อเมี่ยน หรือ บะหมี่ฉีซาน (คลุกน้ำขลุกขลิกที่เรียกว่าเส้าจื่อ)
ลักษณะ  ก๋วยเตี๋ยวเนื้อหมู มีส่วนประกอบของไข่ เต้าหู้ แครอท และถั่วฝักยาวที่หั่นเป็นลักษณะลูกเต๋าขนาดเล็ก มีทั้งแบบน้ำ (น้ำซุปข้นสีเข้ม) และแห้ง เน้นรสชาติเปรี้ยว และเผ็ด และใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวสีเหลืองอ่อน เส้นเล็กและบาง แต่เหนียว นุ่ม ลื่น ความสำคัญอยู่ที่น้ำขลุกขลิกปรุงรสที่นำเนื้อหมูไปผลัดและคลุกเคล้าเครื่องปรุงต่าง ๆ โดยเน้นรสชาติน้ำส้มสายชูและน้ำพริกพื้นเมือง

ประวัติ           

         คำว่าฉีซาน เป็นชื่อของตำบลหนึ่งในเมืองเป่าจี มณฑลส่านซี (ชื่อของนายหวาง ฉีซาน Wang Qishan รองนรม.จีน และอดีตนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นชาวส่านซีก็ใช้ชื่อเดียวกันนี้) มีตำนานเล่าขานว่า ในสมัยปลายราชวงศ์ซาง อ๋องโจว เหวินหวาง (周文王)ได้นำทัพมาถึงบริเวณตำบลฉีซาน ข้างแม่น้ำเว่ย ขณะนั้นได้เห็นมังกรตัวหนึ่งกระโจนขึ้นจากน้ำ โจว เหวินหวางจึงสั่งให้ทหารระดมยิงธนูใส่มังกรตัวดังกล่าวจนสามารถจับตายได้ จากนั้นจึงนำเนื้อมังกรมาถอดเกร็ดและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อนำไปต้ม เนื่องจากโจว เหวินหวางต้องการให้ทหารทุกคนได้ชิมน้ำซุปเนื้อมังกร เมื่อกินก๋วยเตี๋ยวเสร็จจึงเทน้ำแกงกลับลงหม้อ นี่จึงเป็นที่มาของการทำน้ำขลุกขลิก เส้าจื่อ(臊子)นั่นเอง         
          อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มีครอบครัวหนึ่ง พี่ชายคนโตได้สู่ขอสาวนางหนึ่งมาเป็นภรรยา ซึ่งภรรยาผู้นี้ฉลาดรอบรู้และทำอาหารเก่ง โดยเฉพาะการทำก๋วยเตี๋ยวที่ใครได้ชิมก็ต้องติดใจ ต่อมา น้องชายของชายดังกล่าวสอบเข้่ารับราชการได้ จึงต้องไปทำงานต่างเมือง แต่เนื่องด้วยติดใจในรสชาติก๋วยเตี๋ยวที่พี่สะใภ้ทำ จึงมักกลับบ้านเกิดเพื่อมากินก๋วยเตี๋ยวของพี่สะใภ้อยู่เป็นประจำ และมักเรียกก๋วยเตี๋ยวของพี่สะใภ้ว่า ก๋วยเตี๋ยวพี่สะใภ้ ซึ่งภาษาจีนอ่านว่า ก๋วยเตี๋ยวเส่าจื่อ (嫂子面) ซึ่งต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น เส้าจื้อ (臊子) ฉะนั้นแล
ร้านแนะนำ เจิ้งต้าฉีซานเมี่ยน  正大岐山面 (ที่อยู่ :  西安新城区,尚勤路市二医院旁)
ราคา   5 - 6 หยวน/ชาม

 

5.     ก๋วยเตี๋ยวเปี๋ยงเปี๋ยง
ลักษณะ ก๋วยเตี๋ยวแห้งเส้นใหญ่คลุกน้ำขลุกขลิก และโรยหน้าหมูสับเล็กน้อย ความพิเศษอยู่ที่ความกว้างและใหญ่ของเส้นก่วยเตี๋ยว บางร้านทำขนาดของเส้นได้ใหญ่เท่าขนาดของเข็มขัดคาดเอวทีเดียว   

          นอกจากนี้ตัวอักษร “เปี๋ยง” ถือได้ว่าเป็นตัวอักษรจีนที่ประหลาดและมีจำนวนขีดมากที่สุด คือ 56 ขีด โดยประกอบจากตัวอักษรจีนถึง 8 ตัวรวมเข้าด้วยกัน อีกทั้งไม่มีการบันทึกตัวอักษรนี้ในพจนานุกรมฉบับใด ๆ ทั้งสิ้น

          เหตุที่เรียกก๋วยเตี๋ยวชนิดนี้ว่า เปี๋ยงเปี๋ยง เนื่องจากเป็นคำเลียนเสียงของเส้นก๋วยเตี๋ยว ดังนี้
1. เวลานวดแป้ง ขณะที่แป้งถูกดึงเป็นเส้นและกระทบกับเขียง จะส่งเสียงดัง เปี๋ยงเปี๋ยง
2. เวลานำเส้นไปลวกในน้ำเดือด จะได้ยินเสียง เปี๋ยงเปี๋ยง
3. เวลาที่พ่อครัวนำเส้นมาคลุกเครื่องปรุง จะได้ยินเสียง เปี๋ยงเี๊ปี๋ยง
4. เวลาเคี้ยวเส้นในปาก จะได้ยินเสียง เปี๋ยงเปี๋ยง

 

ร้านแนะนำ 记biangbiangหรือ ฉุยจี้เปี๋ยงเปี๋ยงเมี่ยน อยู่ตรงข้ามร้านฉุนฟาเซิง

ราคา 6 - 7 หยวน/ชาม

 

6.     夹馍 (อ่านว่า โย่เจียหมัว)  แฮมเบอร์เกอร์หมูสับส่านซี
ลักษณะ เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่มีลักษณะพิเศษที่ตัวขนมปัง คือ ใช้ขนมปังท้องถิ่นสีขาวซึ่งอบให้ผิวกรอบนอกนุ่มในแล้ว จึงใส่ไส้หมูสับคลุกน้ำขลุกขลิก 

 

ความพิเศษ ชื่อเรียกในภาษาจีน 肉夹馍 แปลตรงตัวเป็นไทยได้ว่า “เนื้อไส้ขนมปัง”  ซึ่งทำให้คนทั่วไปฉงนว่าควรจะเรียกว่า “ขนมปังไส้เนื้อ”  น่าจะถูกต้องกว่า เรื่องนี้ Mr. Yang เฉลยว่า อันที่จริง อาหารชนิดนี้มีมาแต่โบราณ ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกอาหารชนิดนี้ว่า 肉夹于馍 ซึ่งแปลว่า เนื้อห่อในขนมปัง แต่เนื่องจากชื่อยาวเกินไป ต่อมา ผู้คนจึงเรียกสั้น ๆ โดยตัดคำว่า ซึ่งแปลว่า อยู่ใน” ทิ้งไป ทำให้ความหมายกลายเป็นเนื้อห่อขนมปัง นั่นเอง
ร้านแนะนำ  ตงกวานจี๋เสียง 东关吉祥 (ที่อยู่ : 北关正街1-3号)
ราคา ประมาณ 3-4 หยวน/ชิ้น แนะนำให้ชิมรสดั้งเดิมที่น้ำขลุกขลิกสีน้ำตาล

 

จัดทำโดย  
ดุจเนตร อาจหาญศิริ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน
วันที่ 28 กรกฎาคม 2551
ภาพโดย : ดุจเนตร อาจหาญศิริ   

ขอขอบคุณ
Mr. Yang Chao ชาวซีอานท้องถิ่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกและร่วมถ่ายทอดเกร็ดเรื่องราวอาหารพื้นเมืองได้อย่างถึงแก่น
นางสาว ชนิดา อินปา (นักพัฒนาระบบราชการ ซึ่งศึกษาดูงาน ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน) สำหรับรูปภาพอาหาร “ไก่น้ำเต้า” (เมนูที่ 2)

แหล่งข้อมูล
คำบอกเล่าของ Mr. Yang Chao
รายงายข่าวต่าง ๆ จากเวปไซต์
www.xianholiday.com
http://news.huash.com
www.xawb.com
www.sn.xinhuanet.com
www.snwh.gov.cn

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ