ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย

ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ม.ค. 2565

| 2,064 view

ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – ส่านซีมีอนาคตที่สดใส( Public )

 

 

เขียนโดย adminxian   

เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรหยางหลิง
          เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรหยางหลิง เป็นเขตสาธิตทางอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศเพียงแห่งเดียว จากเขตอุตสาหกรรมไฮเทคระดับชาติทั่วประเทศจีน 54 แห่ง ที่ถือว่าเป็น Agro – Science City และได้รับสมญานามว่าเป็น Silicon Valley ของจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 และบริหารงานโดยคณะกรรมการระดับชาติ โดยผู้แทนของ 19 กระทรวงและรัฐบาลมณฑลส่านซี   ซึ่งมีความสำคัญคือเป็นพื้นที่พัฒนาด้านทรัพยากรการเกษตรและน้ำที่สำคัญของประเทศ มีสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์วิทยา วัฒนธรรม ระบบกฎหมายที่ดีที่สุด มีความร่วมมือด้านการลงทุน และการศึกษาวิจัย กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิสราเอล ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม แคนาดา ฮ่องกง และไต้หวัน

          เขตสาธิตฯ หยางหลิง มีฐานะเทียบเท่าระดับเมือง (City) ของมณฑลส่านซี และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูงมาก มีพื้นที่ทั้งหมด 94 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เขตสาธิตใหม่ตามโครงการ 22.12 ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมดประมาณ 160,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรกว่า 80,000 คน   

          วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเขตสาธิตฯ หยางหลิง เพื่ออาศัยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผลักดันการพัฒนาด้านเกษตรกรรมในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ปรับความล้าหลังด้านการเกษตรให้ทันสมัยขึ้น และเป็นแหล่งอารยธรรมด้านการเพาะปลูกทางด้านกสิกรรมที่มีชื่อเสียงต่อไป ทั้งนี้เขตสาธิตฯ หยางหลิงมีเป้าหมายที่สำคัญ 4 ประการคือ 1) เมืองชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร 2) เมืองอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า 3) เมืองระบบนิเวศวิทยาที่มีสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่นและสวยงาม และ 4) เมืองท่องเที่ยวชั้นนำ
          เขตสาธิตฯ หยางหลิง ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ครบครัน ประกอบด้วย น้ำประปา ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ พลังงานความร้อน การคมนาคมขนส่งที่ต่อเนื่อง และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเมืองอื่นได้อย่างคล่องตัว นอกจากนี้ภายในเขตสาธิตฯ หยางหลิง ยังมีการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก ได้แก่ บริษัท CAS Environmental Engineering จำกัด ซึ่งวิจัยนวัตกรรม “Forest Moveable” หรือ เทคนิคการย้ายปลูกต้นกล้าไม้ยืนต้นทุกขนาด โดยใช้กระถางที่ทำจากวัสถุพลาสติก PE ซึ่งมีรูและปุ่มควบคุมการเติบโตของรากฝอยไม่ให้งอกยาวออกนอกตัวกระถาง แต่รากในกระถางจะเติบโตและมีจำนวนรากฝอยเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 30 – 50 เท่า จึงช่วยให้ต้นกล้าเติบโตได้รวดเร็วกว่าปกติร้อยละ 30 – 50 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้การปลูกลักษณะนี้ยังช่วยให้รากไม่ได้รับความเสียหายขณะย้ายปลูก และสามารถย้ายปลูกได้ทั้งต้น โดยไม่ต้องตัดทอนลำต้นหรือกิ่งไม้เหมือนการย้ายปลูกทั่วไป ช่วยให้การย้ายปลูกต้นไม้มีอัตราการรอดสูงถึงร้อยละ 98 ตลอดจนสามารถย้ายปลูกได้ทั้งปี เหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงการปลูกป่าทดแทนหรือการปลูกพืชในพื้นที่กว้าง นอกจากนี้ยังมี เรือนสาธิตอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิการเกษตรหยางหลิงซินเทียนตี้ โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย Northwest Science & Technology University of Agriculture & Forestry เพื่อศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชสวนและไม้ดอกต่างฤดูได้ตลอดปี เนื่องจากส่านซีมีอุณหภูมิในแต่ละฤดูที่แตกต่างกันมาก จุดเด่นคือ เรือนเพาะปลูกควบคุมอุณหภูมิ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยระบายความร้อน และเพิ่มความอบอุ่นแก่พืช โดยใช้ดินที่ผลิตจากปูนขาวเป็นส่วนผสมในการปลูกและให้น้ำและปุ๋ยน้ำทางท่อเจาะ ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้สูงกว่าการปลูกทั่วไป 3 – 4 เท่า

           เขตสาธิตฯ หยางหลิง นอกจากจะมีพื้นที่สาธิตนวัตกรรมทางการเกษตรแล้ว ยังมีการจัดตั้งศูนย์การทดลองและวิจัยระดับชาติและระดับมณฑลรวม 26 แห่ง เพื่อการวิจัยและพัฒนาผลผลิตด้านการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีแปลงสาธิตทั้งหมด 154 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับมณฑลส่านซี นอกจากนี้ภายในเขตสาธิตฯ หยางหลิง ยังมีมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกสองแห่ง ได้แก่ The Northwest Agriculture and Forest University และ Yangling Vocational and Technical College โดยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอก 58 หลักสูตร ปริญญาโท 78 หลักสูตร และมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโททั้งหมด 2,000 คน ซึ่งมีผลงานด้านการเกษตรที่มีชื่อเสียงระดับมณฑลและระดับชาติหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพาะพันธุ์ข้าวสาลี การอนุรักษ์พันธุ์พืช การวิจัยปุ๋ยบำรุงดิน การปลูกพืชแห้งแล้ง การปรับปรุงพันธุ์สัตว์พื้นบ้าน การวิจัยการโคลนนิ่ง การแก้ปัญหาการสูญเสียดินและน้ำ การป้องกันการเกิดทะเลทราย การปลูกป่าและทำพื้นที่สีเขียว และการวิจัยพืชและแมลงต่างๆ ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร และก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าด้านการเกษตรชั้นสูงต่อไปอีกด้วย 

งานนิทรรศการนวัตกรรมการเกษตรไฮเทคแห่งชาติหยางหลิง (China Yangling Agriculture Hi-Tech Fair) ครั้งที่ 15

          งานนิทรรศการนวัตกรรมการเกษตรไฮเทคแห่งชาติหยางหลิง เป็นงานแสดงสินค้าเกษตรและประชุมทางธุรกิจทางด้านการค้า/การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน  ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา โดยในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 5 – 9 พฤศจิกายน 2551 โดยมีหน่วยงานระดับชาติของจีนที่ร่วมมือถึง 17 หน่วยงาน มณฑลต่างๆ ทั่วประเทศจีน และประเทศต่างๆ เช่น อิสราเอล ออสเตรเลีย สหรัฐฯ รัสเซีย แคนาดา และเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมแต่ละปีมากกว่า 1.3 ล้านคน ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และผู้ที่มีความสนใจในด้านการเกษตรทั้งจากจีนและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านอุตสาหกรรมการเพาะปลูก ปศุสัตว์ เครื่องมือด้านการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า และเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้ ซึ่งในปี 2550 ที่ผ่านมา มีการจัดบูทจำนวน 1,700 บูท มีผู้เข้าชมตลอดงานประมาณ 1.47 ล้านคน มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมมากถึง 33 ประเทศ บริษัทเอกชนมากกว่า 1,000 บริษัท ผลงานที่จัดแสดงภายในงานประมาณ 5,000 โครงการ และมูลค่าการลงทุนลงนามสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศสูงถึง 20,330 ล้านหยวน (หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท)

           สำหรับในปีนี้คณะกรรมการจัดงานฯ ได้ขอความร่วมมือผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน ในการประสานงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนของไทย ร่วมส่งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยี เข้าร่วมแสดงในงานดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการจัดงานฯ ได้จัดบูทขนาดมาตรฐาน 9 ตารางเมตร จำนวน 10 บูท โดยจะยกเว้นค่าเช่าบูทเป็นกรณีพิเศษให้กับประเทศไทย (ปกติมีค่าใช้จ่ายบูทละประมาณ 5,300 หยวน) เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ รวมถึงการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและเทคโนโลยีไทย – จีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นต่อไป รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเกษตรและมีประสบการณ์การพัฒนาในด้านการเกษตรมาช้านาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – จีน โดยผ่านกลไกของงานครั้งนี้

          คณะกรรมการจัดงานฯ ได้แจ้งว่า ภายในงานจะประกอบด้วยส่วนจัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าที่มีความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรและเทคโนโลยี แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1)     Hi – tech Achievements
2)     Applied Techniques
3)     Agriculture Machinery
4)     Animal Husbandry and Fine Breed
          พื้นที่จัดแสดงภายในงานทั้งหมดที่เปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมประมาณ 200,000 ตารางเมตร ผู้เข้าชมงานจากทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย หน่วยงานราชการ และเกษตรกร จะได้ชมงานในส่วนของการจัดแสดงสินค้า การสนทนาเกี่ยวกับการค้าการลงทุน การสาธิตนวัตกรรมด้านการเกษตร การประชาสัมพันธ์สินค้าและเทคโนโลยี การซื้อขาย/ต่อรองสินค้า การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การลงนามสัญญา และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการเกษตรอื่น ๆ

ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – ส่านซี

          สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากถึง 1,300 คน หากคำนวณอัตราการบริโภคต่อคนแล้ว จะพบว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจในเรื่องการค้าการลงทุน ตลอดจนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดขนาดมหาศาล เพื่อสร้างกำไรให้กับประเทศไทยมากที่สุดประเทศหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น การนำเข้าสินค้าจากจีนที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำมาจำหน่ายในประเทศไทย ก็เป็นข้อได้เปรียบและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน
          ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนนั้นมีมาช้านานหลายร้อยปีแล้ว ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีนอย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2518  นับจากนั้นเป็นต้นมา ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เยี่ยมเยือนระหว่างกันหลายครั้ง ทั้งนี้ยังได้ร่วมทำสนธิสัญญาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การบิน การขนส่งทางทะเล ข้อตกลงเหล่านี้ได้เปิดทางให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย-จีนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีนพัฒนาอย่างมั่นคงโดยตลอด มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวเป็นลำดับ ความร่วมมือของทั้งสองประเทศในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สาธารณสุข และกีฬาได้รับการพัฒนาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับสัมพันธไมตรีของประชาชนทั้งสองประเทศที่กระชับแน่นแฟ้นขึ้นเป็นลำดับ มาเป็นเวลายาวนานถึง 33 ปีแล้ว
          ปัจจุบัน เป็นยุคที่การพัฒนาการด้านการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญกับนานาอารยประเทศ เนื่องจากวิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงานโลกที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนทุกมุมโลก หลาย ๆ ประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในจำนวนมาก และแข่งขันกับเวลา การพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรจึงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานเดิม ๆ ของเหล่าเกษตรกร ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และสามารถลดเวลาในการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนปรับปรุงวิธีการให้สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
          ในส่วนของความสัมพันธ์ไทย – ส่านซี หลังจากที่ไทย – จีน ได้มีการเปิดสถานทูตระหว่างกันในปี 2518 – 2519 ฝ่ายไทยได้มีการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่อีก 8 แห่งในจีน ซึ่งรวมถึงสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานด้วย สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้มีบทบาทอย่างมากในการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับมณฑลส่านซี และมณฑลในเขตอาณา ได้แก่กานซูและหนิงเซี่ย รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือและสายใยความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำ/ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล และของหน่วยงานราชการ ทั้งระดับมณฑลและเมืองที่เกี่ยวข้อง ในมณฑลทั้งสาม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาในการขยายความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว  วัฒนธรรม การศึกษา และการเกษตร ฯลฯ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
          สำหรับมณฑลส่านซี เป็นมณฑลด้านการเกษตรขนาดใหญ่ของจีนที่สำคัญ คือเป็นแหล่งเพาะปลูกแอปเปิลที่มีคุณภาพสูง และมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดของจีน ผลผลิตเท่ากับร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งโลก ทั้งนี้ยังมีผลผลิตน้ำแอปเปิลเท่ากับร้อยละ 25 ของโลกด้วย นอกจากนี้ ส่านซียังเป็นแหล่งปลูกกีวีอย่างแพร่หลาย ขณะที่ผลไม้เขตร้อนของไทย อันได้แก่ ทุเรียน และมะม่วง ก็มีรสชาติอร่อย และเป็นที่ชื่นชอบของทั้งคนไทยและจีน ดังนั้น เมื่อประเทศที่มีศักยภาพในการผลิต มีเมืองเกษตรอันยิ่งใหญ่และทันสมัย ในขณะที่อีกประเทศหนึ่ง มีรากฐานของการเกษตรมาเป็นเวลายาวนาน มีความสามารถในการผลิตและผลผลิตที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ทุกเพศและทุกวัย ทั้งยังมีการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสองประเทศจึงน่าจะสามารถใช้จุดร่วมและข้อแตกต่าง เพื่อนำมาซึ่งการส่งเสริมความร่วมมือด้านผลไม้และสินค้าเกษตรระหว่างกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างไทย – ส่านซี ซึ่งน่าจะสามารถเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี และมีทิศทางที่สดใสต่อไป

          อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้ไทยไปยังส่านซียังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ระบบการตรวจสอบสารตกค้างตามด่านนำเข้าของจีนที่เข้มงวด ทำให้ผลไม้ถูกกักอยู่ตามด่านต่าง ๆ เป็นเวลานานเกือบสัปดาห์ จนเกิดปัญหาเน่าเสีย ไม่สามารถจำหน่ายต่อได้ รวมไปถึงปัญหาการประชาสัมพันธ์สินค้าผักและผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวจีนที่ไร้ทิศทางและขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดช่องทางการแนะนำสินค้าที่มีประสิทธิภาพทั้ง ๆ ที่สามารถอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนของไทยที่ดำเนินธุรกิจในแต่ละมณฑลของจีนได้ จากอุปสรรคในการค้าระหว่างไทย – จีน ดังกล่าว จึงทำให้ทั้งสองประเทศพยายามที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าในสินค้าเกษตรระหว่างกันให้มากขึ้น

          ระหว่างวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2551 นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เดินทางเยือนนครซีอาน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – ส่านซี  และได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลอาหารและผลไม้ไทยเพื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิค 2008 (Thai Food and Fruit Fair for Olympic 2008) ณ ห้างโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขา Tang Yan โดยมีนายเหยา อิ่นเหลียง รองผู้ว่าการมณฑลส่านซี พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานระดับมณฑลฯ ได้แก่ เลขาธิการรัฐบาลมณฑลฯ อธิบดีสำนักงานการต่างประเทศ รองอธิบดีกรมพาณิชย์ ประธาน CCPIT ฯลฯ ซึ่งในโอกาสนี้ รมว.กษ. ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน แนะนำว่าผลไม้สดและผลไม้แปรรูปที่นำมาจัดแสดงที่ซีอานครั้งนี้ ประกอบด้วย มังคุด ลำไย กล้วยไข่ เงาะโรงเรียน มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด มะม่วงน้ำดอกไม้ ทุเรียนหมอนทอง ฝรั่งแป้นสีทอง ชมพู่ทับทิมจันทร์ ส้มโอ และมะขามหวาน รวม 12 ชนิด โดยส้มเปลือกร่อนและชมพู่ทับทิมจันทร์ ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดผลไม้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิค 2008 กล้วยไข่ ลำไยอบแห้ง สับปะรดอบกรอบแผ่น ได้รางวัลที่ 2 และส้มโอ ได้รางวัลที่ 3 โดยหวังว่าการจัดงานครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าสินค้าเกษตรและการลงทุน เพื่อนำสิ่งที่ดีให้แก่เกษตรกร ผู้บริโภคและภาคธุรกิจของสองฝ่ายต่อไป
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เข้าพบสนทนากับนายหยวน ฉุนชิง (Yuan Chunqing) ผู้ว่าการมณฑลส่านซี และหารือเกี่ยวกับการแสวงหาแนวทางที่จะทำให้การขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรระหว่างไทย – ส่านซี ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฝ่ายจีนได้เชิญฝ่ายไทยเข้าร่วมงานนิทรรศการเกษตรไฮเทคแห่งชาติหยางหลิง ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 5 – 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรหยางหลิง โดยฝ่ายไทยรับที่จะพิจารณาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนไทยที่มีการพัฒนาผลงานด้านการเกษตรเข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศ หากฝ่ายไทยเข้าร่วมงาน และได้ส่งผลิตภัณฑ์ที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรเข้าร่วมจัดแสดงภายในงาน ก็จะเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพในการพัฒนาการด้านการเกษตรของไทย ตลอดจนจะได้กำหนดทิศทางความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย – ส่านซี ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต
          งานนิทรรศการเกษตรไฮเทคแห่งชาติหยางหลิง ไม่เพียงเป็นเวทีแสดงศักยภาพด้านการเกษตรชั้นสูงของประเทศต่าง ๆ แต่ยังเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างประเทศเหล่านั้นกับประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ เป็นปีที่ฝ่ายไทยได้รับเกียรติจากฝ่ายจีนเป็นพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของฝ่ายไทย ที่จะนำผลงานที่เกิดจากเทคโนโลยีด้านการเกษตรอันทันสมัย รวมทั้งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเผยแพร่ให้กับนานาประเทศได้รู้จักและเข้าใจแนวทางการดำเนินงานด้านการเกษตรที่สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพและพัฒนาการทำงานของตนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเข้าร่วมงานดังกล่าว ยังจะเป็นการขยายกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย – ส่านซีได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
          จากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศไทย – จีน ในปี 2550 พบว่า จีนนำเข้าสินค้าเกษตร ได้แก่ ผลไม้สด จากไทยเป็นอันดับที่ 1 สัดส่วนร้อยละ 65.46 มูลค่า 143.694 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  เพิ่มขึ้นร้อยละ  26.97 เป็นผลมาจากในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกผลไม้สด และแห้ง มีอัตราการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ตลาด เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลผลผลิตผลไม้ของทางภาคใต้ เช่นมังคุด ทุเรียน ลองกอง  และลำใย ของภาคเหนือ  ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดหลักสำคัญที่นำเข้าผลไม้จากไทย ทั้งนี้ต้นปี 2551 จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่  1 ของไทย  โดยในเดือนมกราคม - มิถุนายน  มีมูลค่า 68.86  ล้านเหรียญสหรัฐฯ  มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ  43.21 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โอกาสที่จีนจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของโลก เช่น ทุเรียน ลำไย ลองกอง มะม่วง มังคุด และกล้วยหอม และได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ได้ปรับกระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของอาหารตามมาตรฐานโลก นอกจากนี้การตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคของตลาดโลกเป็นสำคัญ ทำให้ไทยสามารถส่งออกได้ทั้งผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
          เมื่อไทย – จีน ต่างมีความพร้อมที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรเช่นเดียวกัน โอกาสที่ไทย – ส่านซี จะขยายความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันก็คงจะง่ายดายขึ้น และจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรระหว่างประเทศได้ดีมากยิ่งขึ้น นับจากนี้จึงเป็นเวลาที่จะต้องจับตามองงานนิทรรศการนวัตกรรมการเกษตรไฮเทคแห่งชาติหยางหลิงครั้งที่ 15 เนื่องจากงานดังกล่าวจะเป็นการเปิดประตูความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – ส่านซีที่สำคัญต่อไปในอนาคต 

 

จัดทำโดย : นางสาวชนิดาอินปา นักพัฒนาระบบราชการ (ศึกษาดูงาน ณ สถานกงสุลใหญ่ ณนครซีอาน)
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 13 ส.ค. 2551 

แหล่งข้อมูล
www.yangling.gov.cn
www.agri-fair.com
www.depthai.go.th
ข้อมูลข่าวสารจากศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณนครซีอาน

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Friday, 14 November 2008 )

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ