เสียนหยาง เมืองแห่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ดีที่สุดของมณฑลส่านซี

เสียนหยาง เมืองแห่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ดีที่สุดของมณฑลส่านซี

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,164 view

วันนี้ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี หลายคนอาจรู้จักแต่นครซีอาน เมืองโบราณอันเก่าแก่ แต่ไม่ค่อยรู้จักเมืองเสียนหยาง ซึ่งอยู่ห่างจากซีอานไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเพียงแค่ 25 กิโลเมตรเท่านั้น หากผู้อ่านท่านใดเคยมาซีอานโดยใช้บริการทางเครื่องบิน จะต้องมาลงที่สนามบินนานาชาติเสียนหยาง แต่คนไทยมักนิยมเรียกว่าสนามบินซีอาน ถึงตอนนี้หลายคนคงจะร้องอ๋อ ! กันบ้างแล้ว สนามบินนานาชาติแห่งนี้แท้จริงอยู่ในเมืองเสียนหยาง ห่างจากตัวเมืองเสียนหยางเพียงแค่ 13 กิโลเมตร แต่ห่างจากเขตเมืองของซีอานประมาณ 40 กิโลเมตร

 

ศักยภาพการนำเข้า-ส่งออกผักและผลไม้ระหว่างไทย-เสียนหยาง

         เสียนหยาง (咸阳)ตั้งอยู่ตอนกลางของที่ราบกวานจงในมณฑลส่านซี มีพื่นที่ 10,200 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน (สถิติปี 2550) เคยเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ฉิน มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,350 ปี และในปี 2547 ได้รับเลือกให้เป็น "เมืองที่มีเสนห์ของจีน" นอกจากนี้เสียนหยางถือเป็นเขตธัญพืชเพื่อการค้าขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน และยังเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ดีที่สุดของมณฑลส่านซี 

         นายหลี่ จื้อหลิน (Li Zhilin) อธิบดีสำนักงานเกษตรเมืองเสียนหยางได้กล่าวว่า หลังจากที่ได้ไปเยือนเมืองไทยในช่วงงานสัปดาห์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซี ระหว่างวันที่ 19 - 21 พ.ย. 2551 พร้อมทั้งได้ไปเที่ยวชมตลาดไทย จึงมีความสนใจในตลาดค้าส่งผักแล้วผลไม้ของไทย และเล็งเห็นว่าไทยและเมืองเสียนหยางน่าจะร่วมมือกันในการนำเข้า - ส่งออกผลไม้ระหว่างกันโดยไทยเรามีผลไม้ที่น่าสนใจ เช่น ทุเรียน มังคุด กล้วยไข่ และมะม่วงสุก ส่วนเมืองเสียนหยางมีแอปเปิ้ล สาลี องุ่น ทับทิม และพืชผักต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยพื่นที่ปลูกผลไม้เพื่อการส่งออกของเสียนหยางจะต้องลงทะเบียนเพื่อการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ การส่งออกผักและผลไม้ระหว่างไทย - เสียนหยาง ถึงแม้จะมีช่องทางการจัดจำหนายหลายช่องทาง แต่ปัจจุบันยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยกว่าที่ความ ทั้งนี้เสียนหยางได้เห็นศักยภาพของไทยในการกระจายสินค้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคตะวันออกกลางเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ปี 2551 เสียนหยางมีปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ 250,000 ตัน โดยคาดว่าปี 2552 จะเพิ่มเป็น 450,000 ตัน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดเป็น 1 ล้านตันภายใน 3 ปี

 

ปี 2551 เสียนหยางมีปริมาณผลผลิตผักและผลไม้ดังนี้  

ผักและผลไม้

จำนวน (ตัน)

แอปเปิ้ล

2.90 ล้าน

ผัก *

2.88 ล้าน

เนื้อ

230,000

ไข่

100,000

นมสด

550,000

ธัญญาหาร **

2.17 ล้าน

 

* ผักที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากได้แก่ มันฝรั่ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แครอท มันเทศ และหอมใหญ่

**ธัญญาหารที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากได้แก่ ข้าวสาลีและข้าวโพด

 

เส้นทางการขนส่งผักและผลไม้จากเมืองเสียนหยาง-ไทย มักใช้ 2 เส้นทางดังนี้

  • เส้นทางผ่านไปยังท่าเรือเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง (เสียนหยาง – ชิงเต่า – ไทย) ใช้เวลาประมาณ 10 วันถึงเมืองไทย การผ่านด่านตามเมืองท่าจะสะดวกรวดเร็วและมีความเป็นแบบแผน โดยเฉพาะต้นทุนที่ชัดเจนและไม่สูงนัก
  • เส้นทางผ่านไปยังยูนนาน (เสียนหยาง – คุนหมิง – ลาว - ไทย) ใช้เวลาประมาณ 3 – 5 วัน แต่การผ่านด่านทั้งทางบกและทางแม่น้ำโขงยังไม่เป็นระเบียบแบบแผนเท่าที่ควร ไม่สามารถคำนวนต้นทุนที่ชัดเจนได้ มักไม่ค่อยเป็นที่นิยม

เมืองแห่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ดีที่สุดของมณฑลส่านซี

เสียนหยางแบ่งการปกครองเป็น 3 เขต 10 อำเภอ (สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของเมืองเสียนหยางได้ที่ http://www.thaibizchina.com/thaibiz/city/shaanxi.files/xianyang/xianyangshi ) วันนี้ศูนย์ของเราจะพาท่านนำร่องไปเยือนอำเภอหลี่เฉวียน (礼泉县) ก่อน ซึ่งเป็นเขตที่มีอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารขนาดใหญ่ของมณฑลส่านซี ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับอำเภอนี้กันก่อนดีกว่า

อำเภอหลี่เฉวียน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลส่านซี ห่างจากนครซีอาน 57 กิโลเมตร และห่างจากเมืองเสียนหยาง 28 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,018 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 15 ตำบล 448 หมู่บ้าน มีพื้นที่เพาะปลูก 850,000 หมู่ (1 หมู่ประมาณ 667 ตารางเมตร) มีประชากร 450,000 คน และเป็นอีกอำเภอที่สามารถปลูกแอปเปิ้ลได้ดีที่สุด อำเภอหลี่เฉวียนเป็นแหล่งผลิตธัญพืช ฝ้าย น้ำมัน แอปเปิ้ล สาลี่ และลูกท้อ รวมทั้งเป็นเขตธัญพืชเพื่อการค้าขนาดใหญ่และเป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญ

อำเภอหลี่เฉวียนถือได้ว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ดีที่สุดของมณฑลส่านซี อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่โดดเด่น เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำผลไม้ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอบแห้ง อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันพืช และอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและขนม มี 3 บริษัทใหญ่ได้แก่ บริษัทหงซิง (红星) บริษัทซินเท่อหร่วน (心特软) และบริษัทจือฉี (子祺) แต่ละบริษัทมีขนาดการลงทุนมากกว่า 50 ล้านหยวน โดยหงซิงและซินเท่อหร่วนเป็นสินค้า (ขนม) ที่มีชื่อเสียงของส่านซี ส่วนจือฉีเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น มีกำลังการผลิตถึงปีละ 110,000 ตัน ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำผลไม้เข้มข้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

เขตอุตสาหกรรมอาหารของอำเภอหลี่เฉวียนมีโรงงานทั้งหมด 166 แห่ง แต่ที่สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมากมี 14 บริษัท ซึ่งสามารถดึงดูดเงินลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศได้มากกว่า 2,000 ล้านหยวน ปี 2551 อุตสาหกรรมอาหารของอำเภอแห่งนี้มีมูลค่าการผลิตรวม 970 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 62.58 ของมูลค่าอุตสาหกรรมทั้งอำเภอ เกษตรกรของอำเภอหลี่เฉวียนมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 3,238 หยวน (ปี 2550) และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 อำเภอแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งขนมของส่านซี” 

 

แวะชมโรงงานขนมเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงของส่านซี

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานหงซิง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตขนมเปี๊ยะที่มีชื่อเสียงของส่านซี มีคนงานทั้งหมด 860 คน มีพื้นที่ 35 หมู่ในเฟส 1 และกำลังจะขยายสู่เฟส 2 อีก 55 หมู่กลางปี 2552 นี้ นายเฉิน คังเหลา (Chen Kanglao) ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทหงซิงบอกเคล็ดลับการทำขนมเปี๊ยะกับเราว่า ถ้าใช้แก๊ซจะดีกว่าการใช้ไฟฟ้าเพราะจะทำให้ขนมมีคุณภาพดี ประหยัดและรักษาสิ่งแวดล้อม การผลิตเริ่มตั้งแต่การทำแป้ง ห่อไส้ เข้าอบ ทำให้ขนมเย็น บรรจุซอง และบรรจุกล่องของขวัญอีกครั้ง ไส้ขนมของที่โรงงานแห่งนี้เริ่มต้นด้วยการซื้อจากแหล่งอื่น แต่ปัจจุบันผลิตไส้ขนมได้เองและส่งจำหน่ายให้กับโรงงานอื่น โดยทำไส้ 10 รสชาติ ได้แก่ รสงาดำ ฟักทอง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดถั่ว พุทรา รสเผ็ด รสกุหลาบ รสปราศจากน้ำตาล และรสเพิ่มแคลเซียม

            ส่วนของแรงงานท้องถิ่น ได้มีการดูแลพนักงานอย่างดี เนื่องจากการทำขนมของที่นี่ใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่และเป็นแรงงานงานฝีมือ โดยโรงงานแต่ละแห่งจะไม่ให้มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน เพื่อการบริหารจัดการได้ง่าย การอบรมพนักงานยังใช้วิธีการอบรมต่อ ๆ กันไปโดยแบ่งเป็นพนักงานที่เก่ง 1 คนต่อพนักงานฝึกหัด 9 คน สำหรับพนักงานที่อยู่กันมานานกว่า 10 ปีจะมีบ้านพักพนักงานจำหน่ายให้ในราคาถูกกว่าราคาตลาด โดยปัจจุบันบ้านพักในเขตเมืองเสียนหยางราคาประมาณตารางเมตรละ 800 หยวน เพื่อตอบแทนความจงรักภักดีที่มีส่วนช่วยบริษัท ปกติพนักงานจะทำงาน 8 ชม./วัน แต่ถ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน เทศกาลตวนอู่เจี๋ย (Dragon Boat Festival) และเทศกาลไหว้พระจันทร์ บริษัทจะทำการผลิตตลอด 24 ชม. พนักงานจะแบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดละ 12 ชม.

          ปัจจุบัน บริษัทหงซิงมีโรงงาน 6 แห่งกระจายอยู่ในเมืองเสียนหยาง เมืองฮั่นจงและเมืองอันคังในมณฑลส่านซี มีกลยุทธการตลาดที่จะกระจายสินค้าสู่ทั่วประเทศ โดยขณะนี้ออกวางจำหน่ายในเฉิงตู (มณฑลเสฉวน) เจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) ซีหนิง (มณฑลชิงไห่) และอุรุมชี (เขตซินเจียง) โดยที่สำนักงานใหญ่มีปริมาณการผลิตต่อปีมากกว่า 100 ล้านหยวน นอกจากนี้ นายเฉิน คังเหลา ยังบอกกับเราว่า ความต้องการขนมเปี๊ยะของผู้บริโภคมีปริมาณสูงมาก ภายในมณฑลส่านซีมีบริษัทผลิตขนมเปี๊ยะขนาดใหญ่-เล็กราว 70 บริษัท แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

            ต่อจากนั้น เราได้เยี่ยมชมห้องเย็นของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,600 ตารางเมตร มีทั้งหมด 12 โกดัง สามารถเก็บของได้ประมาณ 3,000 ตัน อุณหภูมิต่ำสุดที่รองรับได้คือ – 20 °C ราคาเช่าห้องเย็นเพื่อเก็บผลแอปเปิ้ลอยู่ที่กิโลกรัมละ 0.26 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ในช่วงนี้ซึ่งตรงกับฤดูหนาว ห้องเย็นส่วนใหญ่เก็บรักษาแอปเปิ้ลสด เพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงตรุษจีน ฤดูเก็บเกี่ยวแอปเปิ้ลคือช่วงประมาณเดือน ต.ค. - พ.ย. โดยแอปเปิ้ลบางส่วนถูกจำหน่ายออกไปในเทศกาลวันชาติจีน ส่วนที่เหลือจะเก็บห้องเย็นเพื่อรอจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนต่อไป ตามปกอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาแอปเปิ้ลคือประมาณ 4 °C ถึงแม้จะเป็นช่วงฤดูหนาวแต่จำเป็นต้องเก็บในห้องเย็น เนื่องจากภายนอกอากาศแห้ง ส่งผลกระทบต่อผิวของแอปเปิ้ล และไม่ควรเก็บแอปเปิ้ลนานเกินกว่าเดือน พ.ค. เพราะแอปเปิ้ลจะเริ่มมีโรค

            ก่อนออกจากอำเภอหลี่เฉวียน เราแวะรับประทานอาหารที่หนงเจียเล่อ (农家乐) บ้านเลขที่ 22 หนงเจียเล่อหรือที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อของโฮมสเตย์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากวัยรุ่นจีนอยู่ในขณะนี้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์เกษตรของท้องถิ่นมาแปรรูป ซึ่งมีต้นทุนต่ำและสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จุดเริ่มต้นของความนิยมเกิดขึ้นครั้งแรกที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน และได้ขยายไปทั่วจีนในปัจจุบัน

เยือนสุสานเฉียนหลิง โบราณวัตถุที่ถูกฝังไว้นานนับพันปี

         เคยได้ยินคนพูดว่า “ หากจะย้อนดูจีนในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีให้ไปกวางโจว 100 ปีให้ไปเซี่ยงไฮ้ 500 ปีให้ไปปักกิ่ง ถ้ามากกว่า 1,000 ปีให้มาซีอาน” ดังนั้นวันนี้เราจะพาท่านมาชื่นชมประวัติศาสตร์อันเก่าแก่อีกแห่งของมณฑลส่านซี คือ สุสานเฉียนหลิง ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเฉียนเสี้ยน (乾县) ในเมืองเสียนหยาง ห่างจากตัวเมืองเสียนหยาง 47 กิโลเมตรและห่างจากอำเภอหลี่เฉวียน 12 กิโลเมตร ได้ค้นพบตั้งแต่ปี 2503 เป็นสุสานของพระเจ้าถังเกาจงฝังร่วมกับจักรพรรดิหญิงเพียงองค์เดียวของจีนคือ พระนางบูเช็กเทียน (武则天) ตั้งอยู่บนดอยที่ราบสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,047 เมตร เป็นลักษณะนางนอนหงาย บริเวณรอบ ๆ เป็นสุสานของเจ้าหญิงและเจ้าชาย ซึ่งเป็นลูกหลานของพระนางอีก 17 แห่ง ภายในสวนแห่งนี้มีหินสลักรูปคนและสัตว์ที่สวยงามถึง 124 ตัว โดย 2 ข้างทางสู่สุสานที่เรียกว่า ทางศักดิ์สิทธิ์ (司马道) จะมีหินสลัก 16 คู่ เป็นรูปคน ม้าและนก และมีศิลาสดุดีพระเกียรติถังเกาจงเรียกว่า ซู่เซิ่งจี้เปย (述圣记碑) ซึ่งพระนางบูเช็กเทียนมีบัญชาให้ช่างแกะศิลาบรรยายคุณความดีของพระสวามี ฝั่งตรงข้ามเป็นศิลาไร้อักษร (อู๋จื้อเปย 无字碑) ของพระนางบูเช็กเทียน ที่ไม่มีการแกะสลักตัวอักษรใด ๆ แม้แต่ตัวเดียว ในงานพระศพมีผู้คนมาไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีหินสลักผู้นำชนกลุ่มน้อยของจีนและคณะทูตต่างถิ่นที่เข้ามาร่วมพิธีทั้งหมด 61 คนตั้งเรียงรายอยู่ 2 ฝั่ง

ภายในสุสานแห่งนี้มีการขุดโบราณวัตถุขึ้นมากว่า 4,000 ชิ้น และได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์เฉียนหลิง นอกจากนี้ยังมีสุสานและพิพิธภัณฑ์ของเจ้าหญิงหย่งไท่ (永泰公主墓) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระนาง

บูเช็กเทียนและพระเจ้าถังเกาจง รวมทั้งสุสานของพระเจ้าถังไท่จงหรือเจาหลิง (昭陵博物馆) ซึ่งเป็นพระบิดาของพระเจ้าถังเกาจง ก็อยู่ในอำเภอเฉียนเสี้ยนนี้เช่นกัน บรรดากษัตริย์ทั้งหมด 144 องค์ตามประวัติศาสตร์จีน ถูกฝังอยู่ที่เมืองเสียนหยางถึง 28 องค์ นับได้ว่ามากที่สุดของจีนเลยทีเดียว

 

จัดทำโดย

ธิดารัตน์วนพฤกษาศิลป์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

วันที่ 29 มกราคม 2552

 

แหล่งข้อมูลและรูปภาพ

จากการติดตามดูงานพร้อมรักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน

http://www.xys.gov.cn/channel_399/html/article_76971.html

http://www.snqianxian.gov.cn/Tour/TourInfo.asp?id=19530

www.shaanxi.cn/sx_mzlk/admin/upfile/liquanxian.htm

http://news.800j.com.cn/xafcxxw/zx00zxzx/zx16csjs/zx1602xy/200901/t20090104_226085.htm

www.liquan.gov.cn/lqgongye/

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ