ซีอาน Landlocked country ไม่ติดทะเลก็ไม่ใช่ปัญหา…

ซีอาน Landlocked country ไม่ติดทะเลก็ไม่ใช่ปัญหา…

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ส.ค. 2565

| 1,251 view

ซีอาน : Landlocked country ไม่ติดทะเลก็ไม่ใช่ปัญหา…

นครซีอาน (มณฑลส่านซี) ดินแดนตอนในที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นมณฑลที่ล้อมรอบไปด้วยแผ่นดิน ไม่มีทางออกทางทะเล หรือที่เรียกว่าเป็น Landlocked การขนส่งสินค้านิยมใช้เส้นทางรถไฟและทางหลวงเพื่อออกสู่ทะเล แม้ส่านซีจะไม่มีทางออกทะเล แต่มูลค่าการค้าต่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นทุกปีมากกว่าร้อยละ 20 และโลจิสติกส์ของส่านซีก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยปี 2551 โลจิสติกส์ส่านซีมีมูลค่ารวม 1.25 ล้านล้านหยวน และมีมูลค่าการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 60,000 ล้านหยวน คาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของส่านซีจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ดังนั้นเพื่อรองรับแผนดังกล่าว จึงได้มีการก่อสร้างท่าสินค้านานาชาติซีอาน (Xi’an International Trade & Logistic Park, 西安国际港务区) ขึ้นตั้งแต่ปี 2551

 

เดินทางด้วยระบบรางและถนนผ่านท่าสินค้านานาชาติซีอาน

 

ท่าสินค้านานาชาติซีอาน ถือเป็นเมก้าโปรเจ็กต์ของมณฑลส่านซีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีฉบับที่ 11 ของจีน (2549-2553) ตั้งอยู่ใน “เขตสามเหลี่ยมแม่น้ำป้าและเว่ย” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของนครซีอาน ทิศตะวันตกขนาบ “แม่น้ำป้า” ทิศเหนือติด “เส้นทางรถไฟวงแหวนเหนือ” ทิศตะวันออกติด “ทางหลวงซีหาน” และทิศใต้ติด “ทางด่วนยกระดับอ้อมเมืองซีอาน” รวมถึงเป็นแหล่งรวมของแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำจิง เว่ย ฉ่านและ้ป้า

การพัฒนาพื้นที่เขตท่าสินค้านานาชาติยึดต้นแบบการพัฒนาแบบ “แผนหนึ่งเดียว-แยกดำเนินการเป็นขั้น” แบ่งเป็น 4 เขตหลัก คือ เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ เขตโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เขตโลจิสติกส์ภายในประเทศ และเขตกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าได้ปีละ 66.5 ล้านตัน แยกเป็นการขนส่งระบบราง 28 ล้านตัน โดยการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานได้ 3.05 ล้านตู้/ปี และการขนส่งทางหลวง 38.5 ล้านตัน ซึ่งจะดึงมูลค่า GDP ของส่านซีให้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 54,000 ล้านหยวนภายในปี 2558

ท่าสินค้านานาชาติซีอานมีการคมนาคมที่สะดวก ตั้งอยู่ในทำเลที่โดดเด่นห่างจากใจกลางธุรกิจของนครซีอานเพียง 5 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยาง 28 กิโลเมตร มีสนามบินหยาวชุนอยู่ภายในเขต พื้นที่ของโครงการตามแผนที่วางถึงปี 2563 รวม 44.6 ตารางกิโลเมตร และจะขยายไปถึง 120 ตารางกิโลเมตร ยอดเงินลงทุน 9,800 ล้านหยวน นอกจากนี้ ท่าสินค้านานาชาติซีอานยังมีเครือข่ายการคมนาคมภายในมณฑลที่เชื่อมต่อเป็นรูปตัวอักษร “米” เพื่อการขนส่งสินค้ากระจายสู่ 8 มณฑลเพื่อนบ้าน ได้แก่ มองโกเลียใน หนิงเซี่ย กานซู เสฉวน ฉงชิ่ง หูเป่ย เหอหนาน และซานซี เช่น “ทางด่วนยกระดับอ้อมเมืองซีอาน” ที่สามารถเดินทางสู่สนามบินซีอานเสียนหยางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านเข้าเมืองให้เสียอารมณ์กับรถติด “ทางด่วนจิงคุน (ปักกิ่ง-คุนหมิง)” “ทางด่วนเหลียนฮั่ว (เจียงซู-ซินเจียง)” “ทางด่วนส่านฮู่ (ส่านซี-เซี่ยงไฮ้)” และ “ทางด่วนเปาเม่า (มองโกเลียใน-กวางตุ้ง)” ตัดผ่าน มีสถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระบบรางเพื่อตอบรับการขนส่งสู่ทะเลทางภาคตะวันออกของจีน โดยการใช้รูปแบบการคมนาคมที่เชื่อมถึงและหลากหลาย เพื่อให้กลายเป็นท่าสินค้านานาชาติตอนในของจีนและฮับโลจิสติกส์อันทันสมัยที่เชื่อมต่อกับ “เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน” “เขตเศรษฐกิจหวนป๋อไห่” “เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง” และ “เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง”

 

 

เดินทางด้วยระบบรางและถนนสู่ทะเล เอเีชียตะวันออก เอเชียกลางและยุโรป

ผ่านท่าสินค้านานาชาติซีอาน

ท่าสินค้านานาชาติได้ดำเนินโครงการที่สำคัญไปแล้ว 17 โครงการ และอยู่ระหว่างการเจรจาโครงการอีกจำนวนมาก โครงการด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ เช่น

1. สถานีตู้คอนเทนเนอร์ระบบราง ตั้งอยู่ใจกลางของเขตท่าสินค้านานาชาติซีอาน นับเป็น 1 ใน 18 สถานีตู้คอนเทนเนอร์ระบบรางของจีน (ได้แก่ กว่างโจว ฮ่องกง อู่ฮั่น เจิ้งโจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ ชิงเต่า ปักกิ่ง เทียนจิน ต้าเหลียน เสิ่นหยาง ฮาร์บิน อุรุมชี หลานโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง คุนหมิง และซีอาน) มีพื้นที่ 2,058 หมู่ (ประมาณ 2.4 หมู่เท่ากับ 1 ไร่) รวมมูลค่าการลงทุน 630 ล้านหยวน เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2551 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และสามารถรองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้มากสุดถึงปีละ 23-28 ล้านตัน


การขนส่งสินค้าในซีอานหากมีระยะทางเกินกว่า 400-500 กิโลเมตร มักนิยมขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมากกว่าทางถนน ซึ่งจะสิ้นเปลืองค่าน้ำมันและค่าผ่านทางด่วน เส้นทางขนส่งทางรถไฟที่นิยมมาก ได้แก่

·     เส้นทางรถไฟสายที่ไปออกทะเลที่สั้นที่สุด คือ เส้นทางรถไฟสายหลงไห่ พาดผ่าน 5 มณฑล คือ กานซู (นครหลานโจว) - ส่านซี (นครซีอาน) - เหอหนาน (เมืองลั่วหยางและนครเจิ้งโจว) - อันฮุย - เจียงซู (เมืองเหลียนหยุนก่าง) รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,759 กม. โดยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนถ่ายสินค้าก็สามารถส่งตรงถึงท่าเรือน้ำลึกเหลียนหยุนก่างได้เลย เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังญี่ปุ่น (ซึ่งเป็น 1 ใน 5 คู่ค้าต่างประเทศที่สำคัญของส่านซี) เกาหลีใต้ ไต้หวันและฮ่องกง นอกจากนี้ยังสามารถขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟหรือทางด่วนไปยังท่าเรือทางภาคตะวันออกของจีนได้อีกหลายเมือง เช่น ท่าเรือเทียนจิน ชิงเต่า กวางตุ้งและฝูเจี้ยน

·     เส้นทางรถไฟที่พาดผ่านจากจีนสู่เอเชียกลางและยุโรปที่เรียกว่า New Asia-Europe Land Bridge โดยใช้เส้นทางรถไฟสายหลงไห่ซินหลาน ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางรถไฟ 2 เส้นทางเชื่อมต่อกัน คือ เส้นทางรถไฟหลงไห่ และเส้นทางรถไฟซินหลาน (จากหลานโจวในมณฑลกานซู - นครอุรุมชีในเขตซินเจียง) แล้วส่งออกสู่เอเชียกลางและยุโรปต่อไป โดยกลุ่มประเทศยุโรปเป็นคู่ค้าต่างประเทศอันดับ 1 ของส่านซีมาอย่างต่อเนื่อง

 

2. เขตถนนและท่าเทียบถ่ายสินค้า เป็นเขตบริการด้านโลจิสติกส์ มีพื้นที่ 3,000 หมู่ มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านหยวน ประกอบด้วยโซนจอดรถ โซนข่าวสารข้อมูล โซนสิ่งอำนวยความสะดวก และโซนโกดังสินค้า เป็นต้น เพื่อรองรับกับแผนเครือข่ายทางด่วนในลักษณะตัวอักษร 米และโครงการ “ เครือข่ายทางด่วน 2637 ” ที่รัฐบาลได้กำหนดแผนเมื่อปี 2552 โดยมีเป้าหมายการเดินทางจากนครซีอานสู่ 8 มณฑลเพื่อนบ้านรอบทิศทาง และกำหนดสร้างทางด่วนครอบคลุมส่านซีให้มีระยะทางรวม 8,080 กม. ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปีฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) หรืออีก 10 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ โดยเป็นทางด่วนระดับประเทศ 3,888 กม. และทางด่วนระดับมณฑล 4,192 กม. รวมมูลค่าการลงทุน 420,000 ล้านหยวน

3. เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 รวมพื้นที่ 3.3 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย อาคารสำนักงานงานขนาด 6,000 ตารางเมตร จุดตรวจช่องทางเข้าออกอย่างละ 5 ช่องทาง ซึ่งติดตั้งระบบเครื่องชั่งอิเล็กทรอนิกส์และระบบวิดีโอเฝ้าระวัง อีกทั้งเชื่อมต่อกับเครือข่ายของศุลกากรและ CIQ นครซีอาน (สำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรค) โกดังเก็บสินค้าและห้องวิดีโอวงจรปิด ทั้งนี้ เขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์ภายในท่าสินค้านานาชาติซีอานนับเป็นเขตสินค้าทัณฑ์บนและโลจิสติกส์แห่งเดียวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ณ ปัจจุบัน

 

4. เขตโลจิสติกส์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ นับเป็นเขตโลจิสติกส์ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน มีพื้นที่ 1,000 หมู่ ลงทุนราว 1,000 ล้านหยวน ประกอบด้วย โซนแสดงและจำหน่าย โซนค้าส่งและค้าปลีก โซนโกดังและขนส่ง โซนบริการ โซนบรรจุภัณฑ์ และโซนเครือข่ายการจัดจำหน่าย

5. ศูนย์โลจิสติกส์ด้านเวชภัณฑ์ทันสมัยแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 เกิดจากการรวมตัวของ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ แพทย์แผนจีนแนวโมเดิร์น โลจิสติกส์เวชภัณฑ์และการบรรจุภัณฑ์เวชภัณฑ์ มีพื้นที่รวม 70 หมู่ มูลค่าการลงทุน 300 ล้านหยวน หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถให้บริการขนส่งเวชภัณฑ์ได้ปีละ 3.5 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ สามารถตอบสนองต่อธุรกิจเวชภัณฑ์ในมณฑลส่านซีและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนทั้งทางด้านการกระจายสินค้า การขนส่ง คลังสินค้าและการจำหน่ายได้อย่างครบถ้วน กลายเป็นศูนย์โลจิสติกส์ด้านเวชภัณฑ์ที่ติดอันดับ 1 ของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนต่อไป

6. เขต Xi’an China South City ดำเนินงานโดยนักลงทุนจากเซินเจิ้น China South City (Shenzhen) Co., Ltd.  เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552 พื้นที่ประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร เฟสแรกเริ่มการลงทุนมากกว่า 6,000 ล้านหยวน สามารถรองรับผู้ประกอบการรายย่อยได้ราว 25,000 – 30,000 ราย แต่หากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า โลจิสติกส์และแหล่งกระจายสินค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของจีน สามารถรองรับผู้ประกอบการรายย่อยได้ 100,000 ราย และมีการจ้างงานกว่า 1 ล้านคน

7. ยานศูนยกลางธุรกิจ (CBD:Central Business District) เป็นศูนย์กลางการค้าระดับ High end ที่รวมทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม ภัตตาคาร ศูนย์ประชุม และศูนย์ออกกำลังกาย เป็นต้น 

8. เขตเมืืองใหม่ จะเป็นเขตที่พักอาศัยทันสมัยและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่มีทั้งโรงพยาบาล สนามกีฬา ศูนย์การค้า พื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะอยู่ภายในเขตเมืองใหม่  สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้ถึง 11,000 ครอบครัว

 

โครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาและได้รับความสนใจอย่างมาก เช่น

 

ท่าสินค้านานาชาติซีอานกับประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2552 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เดินทางเยือนซีอานเพื่อสำรวจเขตท่าสินค้านานาชาติซีอานพร้อมร่วมหารือกับคณะกรรมการบริหารจัดการเขตท่าฯ และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยในส่านซี เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2552 เพื่อกระตุ้นความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ซีอานให้มีมากขึ้น ขณะนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการประสานงานการก่อสร้าง ประมาณการณ์เงินลงทุน 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ บนพื้นที่ 500 หมู่ (208 ไร่)

เห็นแบบนี้แล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมซีอานจึงพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อว่าในอนาคตซีอานจะสามารถตอบสนองนโยบาย “ก้าวออกไป 走出去” ของจีนได้อย่างยอดเยี่ยม อีกทั้งมั่นใจว่าจีนจะใช้ภาคตะวันตกเป็นตัวเชื่อมสู่ตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อย่างลงตัวเช่นกัน ซึ่งซีอานน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มังกรตัวนี้เข้าไปผงาดในดินแดนแห่งน้ำมันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

หมายเหตุ

New Asia-Europe Land Bridge เป็นเส้นทางบกที่เชื่อมระหว่างจีนสู่เอเชียกลางและยุโรป ทิศตะวันตกเริ่มต้นที่เมืองท่าเหลียนหยุนก่างในมณฑลเจียงซู ผ่านเส้นทางรถไฟหล่งไห่ (มณฑลเจียงซู-มณฑลกานซู) และเส้นทางรถไฟหลานซิน (มณฑลกานซู-เขตซินเจียง) ผ่านเขตชายแดนที่ด่านอาลาซานโข่ว (阿拉山口) ในเขตซินเจียง เข้าสู่คาซัคสถาน รัสเซีย โปแลนด์ เยอรมัน และเข้าสู่เมืองท่าร็อตเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก รวมระยะทาง 10,800 กิโลเมตร นับเป็นเส้นทางบนบกที่ยาวที่สุดในโลกอีก 1 เส้นทาง โดยสามารถแบ่งเป็น 3 เส้นทางเข้าสู่ยุโรป คือ

  1. เส้นตอนเหนือ จากเมือง aktau คาซัคสถาน – เส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย - รัสเซีย - โปแลนด์ - กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ
  2. เส้นตอนกลาง แบ่งเป็น 2 สาย คือ

·       จากคาซัคสถานผ่านรัสเซีย - ยูเครน - สโลวาเกีย - ฮังการี – ออสเตรีย - สวิสเซอร์แลนด์ -  เยอรมัน - ฝรั่งเศส - เปลี่ยนเดินทางทะเลผ่านช่องแคบอังกฤษ

·       จากตอนใต้ของเืมืองอัคเตา (Aktau) ในคาซัคสถาน - เลียบชายแดนคีร์กีซสถาน - กรุงทาชเคนต์ (Tashkent) เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน - เมืองอัคคาบัด (Ashkhabad) เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน และเมือง krasnovodsk - ทะเลแคนเปียน - เมืองทีบิลิซี (Tbilisi) และเมือง Baku ของอาเซอร์ไบจาน - ทะเลดำ - เมือง Varna และเมือง Ruse ในบัลแกเรีย – โรมาเนีย - ฮังการี - กลุ่มประเทศยุโรปกลาง

  1. เส้นตอนใต้ จากเมืองอัคคาบัด (Ashkhabad) เมืองหลวงของเติร์กเมนิสถาน - เมืองมาสชาด (Mashhad) กรุงเตห์ราน และเมือง Tabriz ของอิหร่าน - ตุรกี - ช่องแคบบอสฟอรัส (Bosporus straits) - บัลแกเรีย - กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้

 

จัดทำโดย

ธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์ และสิริวรางค์ เสนวงษ์

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 21 พฤษภาคม 2553

 

แหล่งข้อมูล

จากการติดตามกสญ.ณ นครซีอาน สำรวจและศึกษาดูงานในเขตท่าสินค้านานาชาติซีอาน เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 

www.itl.gov.cn และ www.baike.baidu.com

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ