กานซู แหล่งพลังงานทดแทนของจีนที่น่าจับตามอง

กานซู แหล่งพลังงานทดแทนของจีนที่น่าจับตามอง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ส.ค. 2565

| 2,316 view

กานซู แหล่งพลังงานทดแทนของจีนที่น่าจับตามอง

กานซูเป็นแผ่นดินตอนในที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีปริมาณน้ำฝนน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตอบอุ่น อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของกานซูมี 5 ประเภท คือ โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous Metals) การหลอมโลหะ น้ำมัน วัตถุดิบและพลังงาน  บริเวณ Hexi Corridor (河西走廊) 1 ในกานซูเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ด้านพลังงานลม โดยเฉพาะอำเภอกวาโจว (ถูกขนานนามว่าเป็น “คลังลมของโลก”) เมืองยู่เหมิน (ถูกขนานนามว่าเป็น “แหล่งลม”) และอำเภอปกครองตนเองชนชาติมองโกลซู่เป่ยของเมืองจิ่วเฉวียน (酒泉市) ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน คาดกันว่า Hexi Corridor น่าจะมีพลังงานลมสะสมราว 200 ล้านkW (กิโลวัตต์) เฉพาะที่เมืองจิ่วเฉวียนคาดว่าจะมีถึง 150 ล้านkW แต่รัฐบาลได้วางแผนที่จะพัฒนาประมาณ 40 ล้านkW ก่อนในเบื้องต้น และในอนาคตเมืองจิ่วเฉวียนจะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญด้านพลังงานลมของจีน

ปี 2552 นับเป็นปีที่มณฑลกานซูได้รับการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างมาก ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาิทิตย์ พลังงานชีวภาพในครัวเรือน พลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ อีกทั้งได้มีการส่งกระแสไฟฟ้าสู่ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคเหนือของจีนอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานขอนำทุกท่านติดตามความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนของกานซู มณฑลตอนในของจีนที่น่าจับตามอง ว่าได้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนในแต่ละด้านที่โดดเด่นอย่างไรบ้าง...

 

พลังงานลม

จากสถิติสำนักงานพลังงานแห่งชาติปี 2552 จีนผลิตไฟฟ้ารวม 874.07 ล้านkW เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 10.23 โดยในจำนวนนี้เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 652.05 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.16 จากพลังงานน้ำ 196.79 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.01 และจากพลังงานลม 16.13 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.96 นับเป็นปีที่จีนมีการพัฒนาพลังงานลมอย่างรวดเร็ว และจาก “แผนส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานลม” ฉบับร่างของจีนได้เสนอว่า ภายในปี 2563 จีนจะพัฒนาพลังงานลมให้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 150 ล้านkW ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระยะกลาง-ยาว” ที่ได้วางไว้เมื่อปี 2550 ถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ จีนเตรียมสร้างเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW 7 แห่งใน 6 มณฑล ได้แก่ กานซู ซินเจียง เหอเป่ย จี๋หลิน มองโกลเลียใน และเจียงซู ซึ่งเขตพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW ที่ได้เริ่มการก่อสร้างแห่งแรก คือ เขตพลังงานลมที่เมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู ส่วนเขตพลังงานลมอีก 6 แห่ง 5 มณฑลที่เหลือ คาดว่าแผนโครงการคงจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้


“แผนพัฒนาเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW เมืองจิ่วเฉวียน (酒泉千万千瓦级风电基地)” ขอเรียกสั้น ๆ ว่า เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียน ตั้งอยู่ที่เมืองยู่เหมินในเขตปกครองของเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) เมื่อเดือนเมษายน 2551 โดยแผนดังกล่าวระบุว่า ภายในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เมืองจิ่วเฉวียนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมสูงถึง 12.71 ล้านkW นับเป็นเขตพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW แห่งแรกของจีน หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถประหยัดพลังงานถ่านหินได้ปีละ 10.20 ล้านตัน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กว่า 20 ล้านตัน

และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552 เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนระยะที่ 1 ได้เริ่มโครงการอย่างเป็นทางการแล้ว งบประมาณในการลงทุนคาดว่าจะสูงถึง 300,000 ล้านหยวน ซึ่งการลงทุนและกำลังการผลิตไฟฟ้าจะมากกว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำซานเสีย (三峡大坝) เท่าตัว ปัจจุบันมีบริษัทชั้นแนวหน้าด้านพลังงานของจีีนจำนวนมาก ทั้งบริษัทที่ได้รับสัมปทานผลิตกระแสไฟฟ้าและบริษัทผลิตอุปกรณ์พลังงานลมได้เริ่มการก่อสร้างแล้วเช่นกัน 

บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนด้านผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม เช่น Guodian (中国国电) , Datang (大唐集团) , CPI (中国电力) และ CGNPC (中广核) ต่างทยอยเข้ามามากมาย บริษัทผลิตอุปกรณ์พลังงานลมที่มีชื่อเสียงของจีนรวมกว่า 18 บริษัทได้เข้าดำเนินโครงการในกานซูแล้ว เช่น บริษัท Goldwind (金凤科技) , Sinovel (华锐风电) และ Sinoma (中材科技) โดยผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ติดตั้งกังหันลม เช่น ใบพัดกังหันลม เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าสำหรับผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ฐานเสาและฝาครอบใบพัด รวมมูลค่าการลงทุน ณ ปัจจุบันกว่า 3,400 ล้านหยวน เพื่อให้กานซูกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมที่สำคัญของจีน

ปลายปี 2552 เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียน มีสถานีผลิตกระแสไฟฟ้า 5 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2.16 ล้านkW คิดเป็น 1/5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของมณฑล นอกจากนี้ ยังมีแผนจะพัฒนาให้มีกำลังการผลิตถึง 5.16 ล้านkW ภายในปี 2553 นี้  ปี 2552 กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมของเมืองจิ่วเฉวียนเติบโตกว่า 3 เท่า มีรายได้การคลังเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงได้พัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยช่วงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้ามีการจ้างแรงงานถึง 15,000 คน ช่วงสถานีไฟฟ้าดำเนินการใช้แรงงาน 2,500 คน อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมมีการจ้างแรงงานกว่า 5,000 คน และภาคบริการที่เกี่ยวข้องจ้างแรงงานอีกกว่า 5,000 คน


กานซูจะใช้เวลา 10 ปีต่อจากนี้ พัฒนาเขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนให้กลายเป็นเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ภายใต้สโลแกนและเป้าหมายที่เรียกว่า ลู่ซ่างซานเสีย (陆上三峡) แปลว่า เขตสามช่องเขาบนดิน โดยมีแผน 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 แผน 5 ปี จะพัฒนาให้เขตดังกล่าวมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 10 ล้านkW ภายในปี 2558

ระยะที่ 2 แผน 10 ปี จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 20 ล้านkW ภายในปี 2563 

ระยะที่ 3 แผนหลังจาก 10 ปี จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 30 ล้านkW หลังปี 2563 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะพัฒนาด้านพลังงานลมอย่างรวดเร็ว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มิฉะนั้นปัญหาอาจตามมาอย่างไม่คาดคิด รวมถึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย เช่น อุปกรณ์ในระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีความล้าสมัยและปัญหาด้านเทคโนโลยี มีหลายฝ่ายได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานลมในกานซู ดังนี้

 

1. ปัญหาด้านระบบส่งกำลังไฟฟ้า การปรับระดับปริมาณไฟฟ้าและการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบ

ด้วยเหตุที่โรงผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะสร้างไว้ในที่ห่างไกลชุมชน การส่งกระแสไฟฟ้าจากที่ไกล ๆ มักประสบปัญหาแรงดันไฟตก การสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบสูง และส่งไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อย ในทางตรงข้าม หากมีการส่ง-จ่ายไฟฟ้าด้วยแรงดันยิ่งสูง การสูญเสียจะยิ่งต่ำ และส่งไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนระดับ 10 ล้านkW จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดพิเศษ เมื่อผลิตแล้วก็ต้องส่งและจำหน่ายออกไปทันที หากผลิตมากเกินไปก็จะะเกิดสภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน แต่หากผลิตแล้วไม่สามารถส่งไฟฟ้าออกไปได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ืทันที

อันที่จริง กานซูได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว เดือนมีนาคม 2551 กานซูได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีส่งและแปลงไฟฟ้าแรงดันสูง 750  kV (กิโลโวลต์) หรือ Extra High Voltage (EHV มีระดับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 230 kV-1,000 kV) จากอำเภอกวาโจว – เมืองจิ่วเฉวียน – นครหลานโจว และโครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2552 อย่างไรก็ตาม สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 750 kV ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบัน กานซูได้เริ่มแผนวิจัยการส่งไฟฟ้าด้วยแรงดัน 800 kVแล้วและได้ทดลองส่งกระแสไฟฟ้าไปยังภาคกลางและภาคเหนือของจีน

 

2. ปัญหาด้านต้นทุน

การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมีต้นทุนสูงและผลกำไรน้อยกว่าการใ้ช้พลังงานทดแทนอื่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม 1 kW ต้องใช้เงินทุนกว่า 9,000 หยวน หากใช้พลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า 1 kW จะใช้เงินทุนราว 6,000 หยวน และหากใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะใช้เงินทุนน้อยลงไปอีก

 

พลังงานแสงอาทิตย์

เดือนธันวาคม 2551 โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่ง (Grid-Connected Photovoltaic Power Systems) ขนาด 1 MW (เมกะวัตต์) ได้ก่อกำเนิดขึ้นที่เมืองตุนหวง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู โดยบริษัท Datang (大唐武威太阳能) เป็นผู้ได้รับสัมปทาน นับเป็นโครงการสถานีไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งที่ก่อสร้างในพื้นที่แห้งแล้งเป็นแห่งแรกของจีน

ต่อมา เดือนมีนาคม 2552 มี 2 บริษัทได้รับสัมปทานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งขนาด 10 MW (รวมเป็น 20 MW) และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเมืองตุนหวง บริษัทที่ได้รับสัมปทานดังกล่าวคือ บริษัท SDIC Huajing Power Holding (国投华靖电力) และบริษัท China Guangdong Nuclear Energy Development (中广核能开发) ซึ่งทางบริษัท SDIC Huajing Power Holding ได้ทดลองส่งกระแสไฟฟ้า 1 MW อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 โดย 2 โครงการของ 2 บริษัทดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 473 ล้านหยวน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปีละ 32.74 ล้านkWh คาดว่าก่อนปลายปี 2553 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ นับเป็นโครงการสถานีไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2552 เช่นเดียวกับสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองสวีโจว มณฑลเจียงซู ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 20 MW

กานซูเป็นมณฑลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะบริเวณ Hexi Corridor ตลอดทั้งปีปริมาณแสงแดดส่องอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,800 – 6,400 เมกะจูล (Megajoule) และมีแสงแดดต่อปีประมาณ 1,700 – 3,300 ชั่วโมง รัฐบาลกานซูได้กำหนดแผนว่า ภายในปี 2558 เมืองจิ่วเฉวียนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 2 ล้านkW และที่เมืองเจียยู่กวนอีก 500,000 kW (บริษัท China Huadian Corporation (中国华电集团) ได้รับสัมปทานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 10 MW และได้เริ่มการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2553) อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่กานซูต้องพบเจอ มีดังนี้

 

  1. ไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนได้พัฒนาและขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความต้องการโพลีซิลิคอน (Polysilicon เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์) มีมากขึ้นตาม แต่ว่าการผลิตโพลีซิลิคอนมีความยุ่งยากและซับซ้อนทางเคมี จึงมีไม่กี่บริษัทในจีนที่สามารถผลิตได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีน ปี 2552 อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนมีความต้องการโพลีซิลิคอนถึง 25,000 – 30,000 ตัน แต่จีนมีกำลังการผลิตเพียง 15,000 ตัน อีกราว 50 % จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 
  2. พลังงานแสงอาทิตย์นับเป็นเทคโนโลยีด้านพลังงานแขนงใหม่ ปัญหาที่สำคัญ ณ ปัจจุบันคือต้นทุนสูง จากการประมูลครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2552 โครงการสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 10 MW ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งที่เมืองตุนหวง บริษัท SDIC Huajing Power Holding และบริษัท China Guangdong Nuclear Energy Development ได้รับสัมปทานและผ่านการประมูลด้วยราคาไฟฟ้า 1.09 หยวน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำมากแล้ว แต่จะเห็นได้ว่า ราคา 1.09 หยวนนั้น (1 หยวนประมาณ 4.80 บาท) ก็ยังเป็นราคาที่สูงกว่าราคาไฟฟ้าในปัจจุบัน (ราคาไฟฟ้าปัจจุบันโดยทั่วไปอยู่ที่ 0.60 หยวน/ยูนิต) ดังนั้น หากคิดจะพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงต้นทุนให้ต่ำลง

 

พลังงานชีวภาพในครัวเรือน

พลังงานชีวภาพได้รับการพัฒนาอย่างมากในชนบทของกานซู กรมเกษตรและปศุสัตว์มณฑลกานซูได้รายงานว่า กานซูเป็นมณฑลที่มีการปลูกข้าวโพดมากถึง 7.5 ล้านหมู่ ( 2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่ ) มีปริมาณซางข้าวโพดในแต่ละปีมากกว่า 15 ล้านตัน ชาวบ้านจึงนำซางข้าวโพดและของเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ในครัวเรือนจำพวกเศษอาหาร นำมาหมักเพื่อทำให้เกิดแก๊สแล้วนำกลับไปใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะที่เมืองผิงเหลียงและเมืองชิ่งหยาง ซึ่งเป็นเมืองนำร่องในการนำซางข้าวโพดมาหมักและสร้างระบบการผลิตแก๊สชีวภาพในครัวเรือน

ชาวชนบทของมณฑลกานซู แต่ละครัวเรือนจะมีถังแก๊สชีวภาพขนาด 10 ลบ.ม. สามารถผลิตแก๊สชีวภาพต่อปีได้ 320 ลบ.ม. จากสถิติปี 2551 กานซูมีผู้ใช้ถังแก๊สชีวภาพ 454,000 ครัวเรือน ดังนั้น จะสามารถผลิตแก๊สชีวภาพต่อปีรวม 145.30 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะสามารถประหยัดถ่านหิน 350,000 ตัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 550,000 ตัน และเทียบเท่ากับประหยัดการใช้ถ่านซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้กว่า 1.58 ล้านหมู่ ขณะเดียวกัน สถิติปี 2552 ปริมาณถังแก๊สชีวภาพของชาวชนบทในกานซูมีจำนวนรวม 900,000 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 เท่าตัว นั้นหมายความว่าจะสามารถประหยัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าตัวเช่นกัน

 

พลังงานทดแทนอื่น ๆ

1. พลังงานนิวเคลียร์

กานซูมีแผนก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 4x1,000 MW บนพื้นที่ 1,500 หมู่ รวมมูลค่าการลงทุน 45,000 ล้านหยวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนโครงการและรอการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม กานซูมีความพยายามที่จะก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วย 6 ธุรกิจ คือ

1.)   ธุรกิจสำรวจและทำเหมืองแร่ยูเรเนียม โดยมีทีม nuclear geology กว่า 4,000 คน

2.)   ธุรกิจการเปลี่ยนรูปยูเรเนียม เช่น ยูเรเนียมเตตระฟลูออไรด์ (Uranium tetrafluoride (UF4)) และ ยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (Uranium hexafluoride (UF6)) ปัจจุบัน กานซูได้ก่อสร้างโรงงานที่มีสายการผลิตการเปลี่ยนรูปยูเรเนียมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งสามารถใช้แร่ยูเรเนียมในการเปลี่ยนรูปปีละ 3,000 ตัน

3.)   ธุรกิจการทำยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (Enriched uranium)

4.)   ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและประกอบชุดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

5.)   ธุรกิจการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เช่น การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reprocessing)

6.)   ธุรกิจการจัดการกากกัมมันตภาพรังสี ปัจจุบัน จีนมีโรงกำจัดกากกัมมันตภาพรังสี 2 แห่ง คือที่เมืองยู่เหมินในเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู และโรงงานเป่ยหลง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ Daya Gulf เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง

2. พลังงานน้ำ

การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำของมณฑลกานซูส่วนใหญ่เป็นเขื่อนชลประทานขนาดเล็ก โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำเหลืองเป็นหลัก เช่น เมืองป๋ายอิ๋น ซึ่งมีแม่น้ำเหลืองพาดผ่านภายในยาว 38 กม. มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำปีละ 1.8 ล้านkW และในจำนวนนี้ 300,000 kWได้เชื่อมต่อระบบสายส่งเรียบร้อยแล้ว นอกจากเขื่อนที่เมืองป๋ายอิ๋นแล้ว เขื่อนที่เหลือส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึงล้านkW และเมื่อเดือน พ.ย. 2551 กานซูได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ในนครหลานโจว โดยมีมูลค่าการลงทุน 852 ล้านหยวน จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 385 ล้านยูนิต คาดว่าเดือน ก.ย. 2554 จะแล้วเสร็จ

 

หมายเหตุ

1.  Hexi Corridor หรือ Gansu Corridor คือ พื้นที่บริเวณทิศตะวันตกของแม่น้ำเหลืองในมณฑลกานซู เนื่องจากมีพื้นที่เป็นลักษณะทางเดินยาวประมาณ 1,000 กม. และกว้างประมาณ 100 - 200 กม.จึงเรียกเป็นภาษาจีนว่า เหอซีโจ่วหลาง (河西走廊) แปลว่า  “ระเบียงทิศตะวันตกของแม่น้ำเหลือง” และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ระเบียงกานซู” ครอบคลุมพื้นที่ 5 เมืองในมณฑลกานซู ได้แก่ เมืองอู่เวย เมืองจางเย่ เมืองจินชาง เมืองจิ่วเฉวียน และเมืองเจียยู่กวน

2. เขื่อนซานเสีย (三峡大坝 , Three Gorges Dam) หรือแปลว่า เขื่อนสามช่องเขา ตั้งอยู่ที่ตำบลซานโต้ผิง เมืองอี้ชาง มณฑลหูเป่ย ครอบคลุมพื้นที่ 2 มณฑล คือ มหานครฉงชิ่งและมณฑลหูเป่ย (ทิศตะวันตกเริ่มต้นที่อำเภอเฟิ่งเจี๋ย เมืองฉงชิ่ง – ทิศตะวันออกที่เมืองอี้ชาง มณฑลหูเป่ย) รวมระยะทาง 192 กม.

เขื่อนซานเสีย มีตัวเขื่อนยาว 3,035 เมตร ลึก 185 เมตร มีสถานีไฟฟ้า 26 จุด นับเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่ใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วม ผลิตกระแสไฟฟ้า การขนส่งและชลประทาน ระยะเวลาในการดำเนินงานและการก่อสร้างรวม 18 ปี (1992 – 2009) รวมมูลค่าการลงทุน 151,468 ล้านหยวน อ่างเก็บน้ำมีความยาวกว่า 600 กม. ความกว้าง 2,000 เมตร รวมพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร โดยปกติกักเก็บน้ำอยู่ที่ระัดับความลึก 175 เมตร สามารถกักเก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ราว 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยต่อปีราว 84,900 ล้านยูนิต และมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าปีละ 18,100 – 21,900 ล้านหยวน

 

จัดทำโดย

ธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่   1  เมษายน 2553

 

แหล่งข้อมูล

http://news.xinhuanet.com/local/2010-03/10/content_13138744.htm

http://gs.xinhuanet.com/news/2009-12/31/content_18648645.htm

http://wwwl.www.gov.cn/jrzg/2009-12/31/content_1500916.htm

http://gs.cnr.cn/gsxw/kx/201002/t20100226_506065389.html

http://baike.baidu.com/view/2767579.htm

http://szb.gsjb.com/jjrb/page/1/2009-12/31/01/2009123101_pdf.pdf
http://finance.ifeng.com/news/hgjj/20090804/1038045.shtml

http://www.zdxw.com.cn/cpnn_zt/hg2009/dsj/201001/t20100115_303803.htm

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ