แอบดู OTOP ส่านซี แอปเปิ้ล ของดีจากลั่วชวน

แอบดู OTOP ส่านซี แอปเปิ้ล ของดีจากลั่วชวน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 875 view

แอบดู OTOP ส่านซี : แอปเปิ้ล ของดีจากลั่วชวน

ปเปิ้ลลั่วชวน

ส่านซีครอบครองตำแหน่งแถวหน้ามณฑลผู้ผลิตแอปเปิ้ลขนาดใหญ่ของจีนมาเป็นระยะเวลานาน โดยล่าสุดในปี 2552 ส่านซีทำสถิติทั้งพื้นที่การเพาะปลูก ปริมาณการผลิตและจำนวนการส่งออกแอปเปิ้ลสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน ทั้งนี้ หากพูดถึง “ที่สุดของที่สุด” สำหรับแอปเปิ้ลส่านซีแล้วก็คงหนีไม่พ้นแอปเปิ้ลจากอำเภอลั่วชวน หนึ่งในเขตที่มีชื่อเสียงด้านเกษตรกรรมของส่านซี และได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านแห่งแอปเปิ้ล” ของประเทศจีน เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “ ความหวังแอปเปิ้ลจีนอยู่ที่ส่านซี ความหวังแอปเปิ้ลส่านซีอยู่ที่ลั่วชวน” (中国苹果的希望在陕西,陕西苹果的希望在洛川)

ประวัติศาสตร์การเพาะปลูกแอปเปิ้ลในประเทศจีนมีความยาวนานพอ ๆ กับความกล้าหาญของมนุษย์ในการเข้าไปปักหลักและก่อสร้างอารยธรรมบนช่องเขาที่คดเคี้ยวและเนินเข้าที่สูงชันแห่งที่ราบสูงหวงถู่ ที่ตั้งของอำเภอลั่วชวนในปัจจุบัน ทำเลดังกล่าวเป็นสถานที่ ๆ มีองค์ประกอบหลายด้านอันเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของแอปเปิ้ล กล่าวคือ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 9.2 องศาเซลเซียส มีปริมาณแสงแดดในช่วงฤดูเพาะปลูก (เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน) 1,373 ชั่วโมง มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 622 มิลลิเมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,100 เมตร จากมาตรฐานทั่วไปที่เหมาะสมสำหรับการปลูกแอปเปิ้ล อุณหภูมิเฉลี่ย 7 – 10 องศาเซลเซียสต่อปี ปริมาณแสงอาทิตย์ส่อง 1,100 ชั่วโมงขึ้นไป ปริมาณน้ำฝน 500 – 800 มิลลิเมตร และความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

 

หากย้อนกลับไปในอดีต ถิ่นกำเนิดแอปเปิ้ลอยู่ในแถบเอเชียกลาง ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และที่อื่น ๆ ของจีน โดยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ยังมีการค้นพบพื้นที่ป่าแอปเปิ้ลธรรมชาติในยุคแรกเริ่มในเขตซินเจียงอีกด้วย ว่ากันว่า แอปเปิ้ลเริ่มแพร่ขยายเข้าสู่ส่านซีในสมัยราชวงศ์ฮั่น และเริ่มแพร่กระจายการเพาะปลูกเข้าสู่อำเภอลั่วชวนในปี ค.ศ. 1947 โดยชาวบ้านคนหนึ่งผู้ซึ่งนำเมล็ดพันธุ์มาจากเมืองหลิงเป่าในมณฑลเหอหนาน จนถึงปี 1960 พื้นที่เพาะปลูกแอปเปิ้ลในลั่วชวนมีจำนวนเพียงแค่ 2,600 หมู่เท่านั้น แต่ภายหลังการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงปี 1970 พื้นที่การเพาะปลูกแอปเปิ้ลในลั่วชวนก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 41,000 หมู่

ในปี 1986 อำเภอลั่วชวนได้รับการประกาศจากกระทรวงการเกษตรจีนให้เป็น “ฐานการผลิตแอปเปิ้ลคุณภาพสูง” ซึ่งในขณะนั้นมีพื้นที่เพาะปลูกแอปเปิ้ลทั่วเขตแล้วกว่า 120,000 หมู่ ก่อนจะพัฒนาเป็น 250,000 หมู่ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 (พ.ศ. 2533 – พ.ศ.2543)

ในปี 2552 ผลผลิตแอปเปิ้ลของลั่วชวนมีปริมาณถึง 650,000 ตัน สร้างมูลค่าการขายได้กว่า 1,500 ล้านหยวน ทั้งนี้ในปัจจุบัน (ปี 2553) อำเภอลั่วชวนมีพื้นที่เพาะปลูกแอปเปิ้ลทั้งสิ้นกว่า 500,000 หมู่ เฉลี่ย 3.1 หมู่ต่อประชากร 1 คน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในอำเภอลั่วชวนมีรายได้สุทธิจากการปลูกแอปเปิ้ลเป็นสัดส่วนร้อยละ 95 ของรายรับทั้งหมดในแต่ละปี

ผลผลิตแอปเปิ้ลจากตำบลลั่วชวนมีกลิ่นหอม สีสันและรสชาติอันพิเศษ ทั้งนี้ ด้วยข้อดีต่าง ๆ เช่น คุณภาพผลผลิตสูง รูปผลที่สมส่วน ผลผลิตมีขนาดใกล้เคียงกัน สีผิวเรียบสวย เนื้อแน่น มีสัดส่วนน้ำตาลสูงกว่าแอปเปิ้ลทั่วไปถึงร้อยละ 2-3 รสชาติหวานอร่อย เนื้อกรอบพอเหมาะ และสามารถเก็บรักษาได้นาน ทำให้แอปเปิ้ลจากตำบลลั่วชวนเป็นที่ยอมรับในฐานะ 1 ใน “ ราชาแห่งแอปเปิ้ล” เมื่อเทียบกับแอปเปิ้ลชนิดเดียวกันในจีน เป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกที่สำคัญ และมีปริมาณการขายกว่า 100 ล้านกิโลกรัมต่อปี

ในปัจจุบัน มีการเพาะปลูกแอปเปิ้ลพันธุ์ดีกว่า 47 สายพันธุ์ในตำบลลั่วชวน โดยสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ Red Star (红星), Red Fuji (红富士), Red Marshal (红元帅), Yellow Marshal (黄元帅), Qingguan (秦冠) Richard Delicious (红冠)และ Royal Gala (国光) เป็นต้น ซึ่งคุณภาพเฉลี่ยของทุกสายพันธุ์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ “ที่สุด” จากการแข่งขันแอปเปิ้ลระดับมณฑลจากทั่วประเทศ

ปี 1974  – แอปเปิ้ล Red Delicious จากลั่วชวนได้รับคะแนนการประเมินสูงสุดจากการประชุมประเมินชนิดพันธุ์แอปเปิ้ลระดับชาติ

ปี 1978  – แอปเปิ้ล Red Star และ Richard Delicious จากลั่วชวนได้รับรางวัลอันดับ 1 และ 2 จากงานประชุมตรวจสอบมาตรฐานและประเมินแอปเปิ้ลสายพันธุ์ใหม่ระดับมณฑลส่านซี ในขณะที่สายพันธุ์อื่น ๆ ถูกจัดอันดับอยู่ในชั้น “คุณภาพเยี่ยม”

ปี 1985 – แอปเปิ้ล Red Marshal และ Royal Gala จากลั่วชวน ถูกคัดเลือกให้เป็นสินค้าเกษตรยอดเยี่ยมของมณฑลส่านซี

ปี 1994 – แอปเปิ้ล Red Fuji และอีก 3 สายพันธุ์จากลั่วชวนได้รับถ้วยทองคำจากงานนิทรรศการสินค้าเกษตรหยางหลิงครั้งที่ 1

เดือนตุลาคม ปี 1995 – แอปเปิ้ลจากลั่วชวนได้รับถ้วยทองคำ 13 รางวัล ถ้วยเงิน 7 รางวัล และถ้วยทองแดง 1 รางวัลจากงานนิทรรศการสินค้าเกษตรครั้งที่ 1 ซึ่งได้สร้างความตกตะลึงให้แก่วงการสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา แอปเปิ้ลจากลั่วชวนได้ถูกรับคัดเลือกให้เป็นผลไม้รับรองในหอประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีน (人民大会堂) รวมถึงงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ณ กรุงปักกิ่งในปี 2551 และล่าสุดได้รับการบรรจุให้เป็นผลไม้ต้อนรับในงาน Shanghai Expo 2010 อีกด้วย

ด้วยคุณภาพอันยอดเยี่ยมและชื่อเสียงที่โด่งดังอย่างยาวนาน ปัจจุบัน แอปเปิ้ลจากลั่วชวนถูกส่งไปขายในทั้ง 24 มณฑลทั่วประเทศจีน และส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย (ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศปลายทางการส่งออกแอปเปิ้ลหลักอันดับ 1 ของส่านซี) สิงคโปร์ รวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตแอปเปิ้ลกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการเกษตรอีกหนึ่งอย่างที่ได้ช่วยผลักดันธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศของส่านซีให้เจริญรุดหน้าสู่สากลยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

จัดทำโดย สิริวรางค์ เสนวงษ์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

แหล่งข้อมูล            - 洛川苹果_百度百科
                                - www.shxdaily.com

                                - www.foods1.com

                                              

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ