Hal-Q ความภูมิใจของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกหนึ่งโอกาสสำหรับความร่วมมือไทย-หนิงเซี่ย

Hal-Q ความภูมิใจของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกหนึ่งโอกาสสำหรับความร่วมมือไทย-หนิงเซี่ย

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,481 view

        เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณจัดตั้ง "ห้องปฏิบัติการกลางและศูนย์กลางข้อมูลวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาอาหารฮาลาล" หรือ The Central Laboratory and Scientific Information Center for Halal Food Development (Halal-CELSIC) ขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นแม่ข่าย "ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล" ของประเทศในการจัดตั้งโครงข่ายห้องปฏิบัติการเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยในขณะนี้มีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมโครงข่ายแล้วกว่า 10 แห่ง เนื่องจากภารกิจของ Halal-CELSIC ได้ขยายออกไปครอบคลุมหลายหลายสาขาวิชา โดยได้รับความร่วมมือจากคณะ สถาบันต่างๆในมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรให้ก่อตั้ง "ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล" (The Halal Science Center-เรียกย่อว่า HSC) ขึ้นเป็นแห่งแรก ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงดำเนินภารกิจต่อเนื่องจาก Halal-CELSIC ทั้งหมด

 

         ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานอิสระที่มีความเป็นกลางและเป็นเอกภาพสูง โดยศูนย์ฯเริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากนั้นเมื่อพบว่าปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดของอาหารฮาลาลอยู่ที่โรงงานผลิตอาหารจะต้องมีระบบมาตรฐานที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม จึงได้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิดระบบ Halal-HACCP ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2541 โดยร่วมมือกับ บริษัท ครัวการบินไทย จำกัด จัดบริการอาหารฮาลาลในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13  จนกระทั่งต้นปี พ.ศ.2549จึงนำแนวคิดนี้มาใช้ในการจัดเตรียมอาหารฮาลาลที่ครัวการบินไทยสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นระบบที่เรียกว่า Non-Pork Buffered Halal Kitchen หรือครัวฮาลาลNPB หมายถึงการเตรียมครัวฮาลาลที่ใช้สิ่งที่มิใช่ผลิตภัณฑ์จากสุกรเป็นฉนวนห้อมล้อม ทำให้การเตรียมครัวฮาลาลทำได้ง่ายขึ้น

 

ต่อมาทางศูนย์ฯได้ร่วมมือกับสถาบันอาหาร(National Food Institute) กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาคู่มือระบบ Halal-HACCP ขึ้นในปีพ.ศ.2542 แนวคิดเรื่องระบบ Halal-HACCP เป็นการพิจารณาให้หะรอม (สิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลามที่ต้องขจัดออกจากกระบวนการผลิตอาหาร เพิ่มเติมจากอันตรายสามประการซึ่งระบบ Halal-HACCP ได้กำหนดไว้เเล้วคือ อันตรายทางชีวภาพ กายภาพ และเคมี) แต่เมื่อศูนย์ฯเริ่มวางระบบ Halal-HACCP จริงในโรงงานกลับพบว่าไม่ใช่เพียงแต่ประเด็นทางด้านการจัดการบริหารเท่านั้นที่เป็นปัญหาแต่ได้พบปัญหาในด้านการชะล้างทำความสะอาดอีกด้วย เป็นเหตุให้ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลคิดค้นสบู่ดินเพื่อชำระล้างนญิสขึ้นเป็นผลสำเร็จในปีพ.ศ.2551

"นญิส"หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ถึงความหมายว่าคืออะไร "นญิส" หมายถึง สิ่งสกปรก ปฏิกูล และอื่นๆอันเป็นที่รังเกียจตามที่บทบัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ เช่น โลหิต น้ำเหลือง อาเจียน สุนัข สุกร เป็นต้น โดยนญิสยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ดังนี้

1. นญิสชนิดเบา  ได้แก่ ปัสสาวะของเด็กผู้ชสยซึ่งยังไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ได้กินหรือดื่มอาหารอื่นๆนอกจากน้ำนม

2. นญิสชนิดปานกลาง ได้แก่ โลหิต น้ำหนอง อาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะ สิ่งที่ทำให้มึนเมา

3. นญิสชนิดหนัก ได้แก่ สุกร สุนัข หรือสัตว์ที่เกิดมาด้วยการผสมพันธุ์กับสุนัขหรือสุกร

การชำระล้างนญิสนั้น เป็นสิ่งที่ชาวอิสลามต้องยึดถือปฎิบัติตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลาม โดยได้บัญญัติไว้ว่า ต้องชำระล้างนญิสให้หมดเสียก่อนแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน 7 ครั้ง แต่ 1 ใน 7 ครั้งนั้นต้องเป็นน้ำดินที่สะอาดตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามและมีสภาพขุ่นแขวนลอยหรือน้ำดินสอพองก็ได้แต่เนื่องจากในยุคปัจจุบันดินมีการปนเปื้อนมากขึ้นทำให้การนำดินชำระล้างนญิสออกเป็นไปด้วยความยุ่งยากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เกิดแนวคิด "สบู่ดิน" ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ ANADA และ HAL-KLEAN โดยในปัจจุบันได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังประเทศอินโดนีเซียและอยู่ในช่วงต่อยอดผลิตภัณฑ์แชมพู สบู่ก้อน และครีมทาผิว

 

การพัฒนาคิดค้นระบบเกิดขึ้นเป็นลำดับจาก Halal-GMP/HACCP จนกระทั่งเป็นระบบ Hal-Q โดยเป็นระบบที่คิดค้นขึ้นเองโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับคำชื่นชมและยกย่องจากนานาประเทศเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันมีโรงงานเข้าร่วมกว่า 110 โรงงานทั่วประเทศ ครอบคลุมแรงงานกว่า 100,000 คน

HAL-Q เป็นระบบการบริหารจัดการเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล โดยการบูรณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบความปลอดภัยอาหารในการผลิตอาหารฮาลาลให้ถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาศาสนาอิสลาม สะอาด และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคมุสลิมมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมว่าไม่มีการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามทางศาสนาและวิธีการผลิตเป็นไปตามบทบัญญัติศาสนาศาสนาอิสลาม ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพในมิติต่างๆ รวมทั้งความปลอดภัยทางจิตวิญญาณด้วย     

HAL-Q ย่อมาจาก

            H  =   Hygiene (ความสะอาดปลอดภัยของอาหารฮาลาล)

            A  =   Assurance (การรับประกัน ความมั่นใจในอาหารฮาลาลที่ผลิต)

            L   =   Liability (การยอมรับผิด/การรับผิดชอบในอาหารฮาลาลที่ผลิต)

            Q  =  Quality (คุณภาพของอาหารฮาลาล)

HAL-Q ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Halal-GMP และ Halal-HACCP

          1.Halal-GMP     

เป็นการบรูณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบ GMPซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีเพื่อใช้ในการผลิตอาหารฮาลาลในโรงงานอุตสาหกรรม

         2. Halal-HACCP    

เป็นการบรูณาการมาตรฐานฮาลาลเข้ากับระบบHACCPโดยการเฝ้าระวังสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลามหรือหะรอมเพิ่มเข้าไปในอันตรายที่ต้องวิเคราะห์ในความปลอดภัยอาหารที่กำหนดขึ้นนอกเหนือจากอันตรายทั้ง 3 ด้านได้แก่อันตรายทางกายภาพ อันตรายทางชีวภาพ อันตรายทางเคมีและกำหนดจุดควบคุมวิกฤติหะรอมขึ้น(HaramCCP)ทั้งนี้ทางโรงงานที่เข้าร่วมต้องมีการจัดทำระบบพื้นฐาน GMP มาก่อน เป็นที่น่ายกย่องว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมิใช่ประเทศมุสลิมแต่สามารถพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบสินค้าฮาลาลจนเป็นที่ยอมรับจากประเทศมุสลิม

 

โอกาสทางด้านความร่วมมือกับเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย

ปัจจุบันเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยได้มีระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและอาหารฮาลาลโดยใช้ชื่อว่า"ศูนย์รับรองอาหารฮาลาลนานาชาติหนิงเซี่ย"ซึ่งเริ่มตั้งมาตั้งแต่ปี2008 โดยภาระหน้าที่หลักของศูนย์คือภายใต้การแนะนำของคณะกรรมการแห่งชาติมีหน้าที่ดูแลและพัฒนามาตรฐานฮาลาลรวมไปถึงส่งเสริมความร่วมมือการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าและอาหารฮาลาลกับประเทศมุสลิมโดยปัจจุบันศูนย์ผ่านมาตรฐานISO/IEC17025:2005 จากสภาคณะกรรมการแห่งชาติจีนแล้ว ศูนย์แห่งนี้เป็นหน่วยงานเดียวในจีนที่ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล และได้มีบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานด้านดังกล่าวในประเทศผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลที่สำคัญๆแล้วเช่นประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล่าสุดได้มีการลงนามเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลร่วมกันระหว่าง UAE และศูนย์รับรองอาหารฮาลาลนานาชาติหนิงเซี่ย หลังจากคณะผู้แทนจากเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยได้เข้ารับฟังบรรยายของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงระบบHal-Qที่ทางศูนย์คิดค้นขึ้นเองก็ได้ประสงค์ที่จะให้มีการร่วมมือกับไทยในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการตรวจสอบรวมไปถึงการใช้ตราHal-Qบนสินค้าส่งออกของเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของแนวทางความร่วมมือ   

 

โครงการความร่วมมือในด้านการนำเข้าและส่งออกอาหารจากเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยสู่ไทยในอนาคต
 

จากการหารือของคณะตัวแทนเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานโดยคณะตัวแทนได้แนะนำให้ประเทศไทยทดลองนำเข้าเนื้อแพะและเนื้อวัวสำเร็จรูปจากหนิงเซี่ย เนื่องจากในปัจจุบันเนื้อแพะและเนื้อวัวแช่เเข็งนำเข้าจากประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นส่วนมาก ซึ่งมีราคาสูง โดยประเด็นนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษข้อมูล

ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.halalscience.org

Ningxia International Trade Certification Center for Halal food  www.nxmzzj.jov.cn

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ