โอกาส SME ไทยในซีอาน ติดตามผลและเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการไทยในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยครั้งที่ 17 ณ นครซีอาน

โอกาส SME ไทยในซีอาน ติดตามผลและเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการไทยในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยครั้งที่ 17 ณ นครซีอาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,313 view

โอกาส SME ไทยในซีอาน : ติดตามผลและเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการไทยในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยครั้งที่ 17 ณ นครซีอาน

ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย มีการขยายตัวและตอบรับกับกระแสการค้าและการลงทุนโลก รวมไปถึง SMEs

จำนวนไม่น้อยที่เล็งเห็นโอกาสทางการค้ากับประเทศจีน ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่า เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกประกอบกับประชากรจีนเริ่มมีกำลัง ในการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น เพราฉะนั้นตลาดจีนถือเป็นตัวเลือกแรกๆของวิสาหกิจขนาดย่อมของการเข้ามาเปิดตลาด

ความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อระบบเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากภาควิชาการบริหารธุรกิจในประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร[1] กล่าวถึงความสำคัญของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ “SMEs” ว่านอกเหนือจากเป็นชนิดวิสาหกิจที่มีความคล่องตัวสูงแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการจ้างงานและเป็นจุดเริ่มต้นในการลงทุนและสร้างเสริมประสบการณ์ให้แก่แรงงานได้อีกด้วย และข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานในปี 2552-2555 จีน ถือเป็นประเทศเป้าหมายอันดับหนึ่งในการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย

ในปี 2554 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนอยู่ที่ 825, 778.77 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.68 จากปี 2553 โดยเป็นการส่งออกของ SMEs รวมมูลค่า 239,938.20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.06 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 52.01 จากปี 2553 จะเห็นได้ว่า SMEs ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่รัฐบาลไทยรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ

ในส่วนของงานมหกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาคตะวันออกและตะวันตกของจีน หรือเรียกสั้นๆว่างาน “ซีเชี่ยฮุ่ย” ที่ได้จัดต่อเนื่องขึ้นทุกปีติดต่อกันเป็นครั้งที่ 17 แล้วถือเป็นอีกหนึ่งเวทีที่แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าจากไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอานและศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานต่างก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดย่อมจากไทยโดยความสัมพันธ์มหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยกับประเทศไทยเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2551 โดยในปีนั้นเป็นการเข้าร่วมงานจัดแสดงบูธเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยของสำนักงานกงสุลเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย อาหารไทย ศิลปะการแสดงไทย รวมไปถึงความสัมพันธ์ไทย-ส่านซี และการให้คำแนะนำข้อมูลด้านวีซ่าท่องเที่ยวแก่ผู้เข้าร่วมงาน โดยในปีพ.ศ.2552 มีคณะตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมงานในครั้งนั้นมากกว่า 70 คูหา โดยเป็นคณะตัวแทนจากจังหวัดสุโขทัย ปทุมธานีรวมถึงยังเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมมิตรภาพความร่วมมือนานาชาติแห่ง ภาคตะวันตกจีนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากประเทศไทยมาให้ความรู้และสาธิตการนวดไทย ขนมไทยและการวาดตุ๊กตาชาววังอีกด้วย โดยภายในงานปีนี้มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 15 ราย โดยผลิตภัณฑ์และสินค้าส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการนำเข้ามาจำหน่ายได้แก่

โดยสินค้าที่นำมาจัดแสดงและจัดจำหน่ายในงานครั้งนี้ โดยมากเป็นการนำเข้าแบบสัมภาระที่อนุญาตให้นำติดตัว ซึ่งปริมาณของสินค้ามีจำนวนไม่มากและมีความเสี่ยงต่อการโดนสุ่มตรวจโดยศุลกากรน้อย ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน เห็นว่าหากผู้ประกอบการต้องการที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในงานแสดงให้คุ้มค่าต่อการลงทุนในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ จำเป็นที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรเสียก่อน ในการนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้รวบรวมเอาเกร็ดความรู้ในการนำสินค้ากลุ่มประเภทสปา เครื่องหอม สมุนไพรเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายอื่นๆในการนำสินค้าเข้ามาจัดจำหน่ายในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยในปีต่อๆไป

1.สินค้ากลุ่มสปาและเครื่องหอม

ปัจจุบันสินค้าสปาไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบที่ไทยเป็นแหล่งของสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีสรรพคุณบำบัด ผ่อนคลายและรักษาอาการอ่อนล้าที่เกิดจากความเครียด ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจสปาในประเทศจีนต่างก็มีความต้องการในด้านความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น เนื่องมาจากในปัจจุบันประชากรของจีนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ ผิวพรรณและความสวยความงามกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยในครั้งนี้ของผู้ประกอบการไทย ในส่วนของสินค้าประเภทสปา เครื่องหอม สมุนไพรไทยไม่พบปัญหาหรืออุปสรรคด้านการตรวจปล่อยสินค้าผ่านด่านศุลกากรแห่งชาติจีนเนื่องมาจากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นเพียงการถือติดตัวเข้ามากับผู้ประกอบการเอง และเนื่องจากสินค้าสปาที่นำมาเข้าร่วมงานของผู้ประกอบการไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าและไม่มีใบอนุญาตวางขายในท้องตลาดได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นสินค้าที่มาเข้าร่วมงานจึงได้รับการปฏิบัติในฐานะสินค้าตัวอย่างเพื่อมาตั้งโชว์ให้เป็นที่รู้จักหรือใช้ทดลองเท่านั้น

ข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบในการนำสินค้าเข้ามาร่วมจำหน่ายและจัดแสดงภายในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ย

กลุ่มสินค้าประเภทสปาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง ดังนั้นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวมีอัตราการภาษีนำเข้าสูง ในการเข้าร่วมงานมหกรรมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าในจีน ผู้ประกอบการที่นำเข้าหรือจำหน่ายสินค้าประเภทสปา เครื่องหอมและสมุนไพรจำเป็นจะต้องมีเอกสารการรับรองสินค้าดังต่อไปนี้

                1.1 ใบสำแดงภาษีนำเข้า

                1.2 ใบแสดงการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยสำนักงานตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคแห่งชาติ (AQSIQ) ตามระเบียบข้อบังคับฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2555 โดยได้ระบุเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องสำอางว่า

                                -การตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคเป็นไปตามมาตรฐานที่ทางจีนกำหนด นอกเหนือจากได้มีการลงนามตกลงกันระหว่างประเทศในการใช้มาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพตามที่ได้ตกลงกันไว้

                                -ผู้นำเข้าต้องจัดเตรียมเอกสารสำคัญอาทิ หนังสือรับรองความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์,ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์,เอกสารรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

                                -หากประเทศจีนยังไม่มีมาตรฐานในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าดังกล่าว(ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์สปา สมุนไพรไทยควรทราบ) ผู้นำเข้าจำเป็นที่จะต้องจัดเตรียมเอกสารรับรอง/ประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานประเมินความเสี่ยงในด้านที่เกี่ยวข้องและเอกสารการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า,ใบอนุญาตการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในประเทศ

                                -เมื่อสินค้าผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคแล้ว จะได้รับในรับรองคุณภาพของสินค้า(入境货物检验检疫证明) พร้อมสำหรับการดำเนินการพิธีทางศุลกากรต่อไป

                1.3 สินค้าเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์สปา ยา น้ำมันเหลือง และอาหารเสริมยังต้องมีใบรับรองความปลอดภัยทางด้านอาหารและยา(อย.) ที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจีน(SFDA) ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วย (กฎระเบียบการนำเข้ายา) มีสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบได้แก่

                                -กระบวนการนำเข้ายาจำเป็นที่จะต้องผ่านการตรวจและได้รับใบรับรองการจดทะเบียนนำเข้ายา(进口药品注册证)จากกรมตรวจสอบอาหารและยาของจีนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียบและดำเนินกระบวนการนำเข้าได้

                                -ยาประเภทยาชาและที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทจำเป็นที่จะต้องได้รับใบการอนุมัติให้นำเข้าได้ (进口准许证)จากกรมตรวจสอบอาหารและยาของจีนก่อน

                                -เอกสารทางพิธีศุลกากร โดยยื่นต่อสำนักงานศุลกากรในเขตพื้นที่ โดยสำนักงานศุลกากรจะใช้เอกสารที่ออกโดยกรมตรวจสอบอาหารและยาของจีนประกอบการพิจารณาออกใบศุลกากร(进口药品通关单)เพื่อนำไปออกสินค้า

                2.สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าเพื่อสุขภาพ

สินค้าอาหารบางรายการจำเป็นต้องทำการตรวจสอบก่อนว่าสามารถนำเข้ามายังประเทศจีนได้หรือไม่และก่อนการนำเข้าจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอใบรับรอง(อย.จีน)ก่อน นอกเหนือจากนี้ สินค้าที่เป็นอาหารทุกชนิดจะต้องมีฉลากภาษาจีนกำกับ โดยต้องระบุส่วนประกอบ ปริมาณ ชื่อสารปรุงแต่ง สารกันเสีย และสถานที่ผู้ผลิต วันที่ผลิตและหมดอายุของสินค้าโดยผู้ประกอบการต้องจัดทำตัวอย่างฉลากพร้อมลักษณะของบรรจุภัณฑ์จริงของสินค้าส่งไปตรวจสอบพร้อมบันทึกข้อมูลเสียก่อน

 ข้อมูลที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบในการนำสินค้าเข้ามาร่วมจำหน่ายและจัดแสดงภายในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ย

                -พิธีการทางศุลกากร มีเอกสารสำคัญที่จำเป็นต้องจัดเตรียมค่อนข้างมาก  กฎระเบียบและข้อบังคับการนำเข้า-ส่งออกของจีนเป็นสิ่งที่ต้องคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอเนื่องจากมักมีการปรับปรุงหรือแก้ไขเนื้อหาอยู่บ่อยครั้ง วิสาหกิจควรตรวจสอบและติดตามข้อมูลจากสำนักงานควบคุมคุณภาพและกักกันโรค,กระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ เพื่อข่าวสารที่ทันสมัยอยู่เสมอซึ่งในกรณีที่วิสาหกิจมิได้ยื่นติดต่อด้วยตนเอง การใช้บริการบริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าและศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและได้รับผลสำเร็จที่คุ้มค่า   

เอกสารที่ผู้ประกอบการไทยควรทราบในการส่งออกสินค้าประเภทอาหารมายังจีน

                เอกสารการอนุญาตประกอบกิจการ,ใบรับรองรหัสของหน่วยงานที่ทำหน้าที่นำเข้าสินค้า(Code certificate), เอกสารรับรองตัวแทนทางกฎหมาย,หนังสือจดทะเบียนผู้ทำการค้าระหว่างประเทศ,เอกสารรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร,รายละเอียดชนิดของสินค้าและสถานที่การจัดเก็บสินค้า,เอกสารอธิบายประสบการณ์การนำเข้า,แปรรูปหรือจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารในช่วงระยะเวลา 2 ปี,เอกสารรับรองการจดทะเบียนผู้มีสิทธิ์สำแดงสินค้านำเข้า-ส่งออก,

                ** นอกจากนี้ระยะเวลาในการตรวจสอบและกักกันสินค้าเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าประเภทอาหารจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงอายุการเก็บรักษาของสินค้าด้วย หากมีระยะเวลาสั้นเกินไปอาจทำให้สินค้าหมดอายุก่อนนำออกจำหน่ายหรือไม่ผ่านการตรวจสอบ**

____________________________

และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการไทยที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้มหกรรมในครั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานได้รวบรวมและประมวลประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้นำผลิตภัณฑ์เข้ามาเผยแพร่และทำการประชาสัมพันธ์ในชาวซีอานได้รู้จักสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น และประเด็นที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมงานนี้ในอนาคต ดังนี้ 

1. คนจีนกล้าลอง กล้าซื้อมากขึ้น !

คนจีนเดี๋ยวนี้กล้าลอง กล้าซื้อสินค้าใหม่ๆมากขึ้น” คำสัมภาษณ์ที่ออกจากปากผู้ประกอบการหลายท่านที่เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าในปัจจุบันเนื่องจากประเทศจีนมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประชากรจีนมีกำลังซื้อสินค้าที่สูงขึ้น รวมไปถึงการเปิดรับเอาข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศที่ค่อยๆส่งผลให้ชาวจีนมีความคิดที่เปิดรับ กล้าลอง สินค้าใหม่ๆ โดยคุณ อัจฉรา กิตติมงคลสุข เจ้าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรบ้านคุณยายบุญเรือนได้กล่าวว่า “ผลจากการมาประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สินค้าในมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ย มองว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันชาวจีนกล้าซื้อ กล้าลองสินค้าใหม่ๆหรือสินค้าที่ประเทศจีนยังไม่มีมากยิ่งขึ้น โดยคุณอัจฉราได้นำ”น้ำมันว่านเสือโคร่ง” ที่สกัดสมุนไพรไทยหลากชนิดมาทดลองให้แก่ผู้เข้าร่วมงานโดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้กลุ่มสินค้าประเภทสมุนไพรไทยถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการทำตลาด หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง”

2. สินค้าปลอดสารพิษและออร์แกนิกส์ มาแรง

คำบอกเล่าจากคุณนภดล ลิ้มตระกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทไท่ห่าวเล่อ ที่ประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าประเภทสุขภาพ,อาหารจากไทยเข้ามาจำหน่ายในนครซีอานที่บอกว่า “สินค้าประเภทที่รักษาสุขภาพรวมไปถึงสินค้าออร์แกนิกส์ปลอดสารพิษ เป็นสินค้าที่ชาวซีอานสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันข่าวคราวความไม่ปลอดภัยในมาตรฐานการผลิตสินค้าและอาหารของจีนทำให้ชาวจีนหันมาให้ความสนใจแก่สินค้าทดแทนที่มีราคาไม่แพงจนเกินไปนักและมาผลิตจากต่างประเทศ โดยคุณนภดลยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินค้าประเภทสบู่ผลไม้ไทยทำมือ เครื่องหอมที่ช่วยบำบัดและผ่อนคลายความเครียดจากไทย เป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในงานมหกรรมครั้งนี้ รวมไปถึงเครื่องปรุงอาหารไทยสำเร็จรูปที่ปัจจุบันกลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม”

นอกจากนี้กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอางได้แก่ ครีมบำรุงผิว เจลอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติเป็นหลัก ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจ คุณ นฤมล อุ่นจิตติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มบริษัท Brightcess Group Co.,Ltd นำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและบำบัดอาการอ่อนล้าจากวิถีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันของชาวเมือง หลายรูปแบบอาทิลูกประคบสดพาสเจอร์ไรส์ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดที่คุณนฤมลบอกว่า “เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับชาวซีอานเนื่องมาจากซีอานมีสภาพภูมิอากาศที่แห้งและร้อน โดยส่วนผสมที่นอกเหนือจากกันแสงแดดแล้วยังมีส่วนผสมของสารบำรุงให้ความชุ่มชื้นผิวอีกด้วย”

3. ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” กระแสความนิยมไทยในจีนมีมากขึ้น ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดย่อมในเชิงลึก

เนื่องจากในปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ไทยมองเห็นถึงศักยภาพในหลายๆด้านไม่เพียงแต่ในด้านการค้าขายเท่านั้น โดยการท่องเที่ยวและอาหารไทยยังคงเป็นอีกด้านที่หน่วยภาครัฐต้องเร่งใช้โอกาสและกระแสที่มีอยู่ในการรุกตลาดจีน สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยครั้งนี้ที่กล่าวว่า “ปัจจุบันรัฐบาลไทยพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็เร่งช่วยเหลือและให้การสนับสนุนการเข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศแก่ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหากมีการสนับสนุนและเพิ่มแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อวิสาหกิจขนาดย่อมอย่างสม่ำเสมอและแม่นยำให้มากขึ้น จะทำให้โอกาสในการก้าวไปเติบโตในต่างแดนของธุรกิจขนาดย่อมของไทยนั้นมีสูงขึ้น” รวมไปถึงตลาดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนที่ถือว่าเป็น “green field” แห่งใหม่ที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยมิควรมองข้ามไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกเหนือจากการเข้าร่วมงานของวิสาหกิจไทยแล้ว ในงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ยครั้งที่ 17 ยังคงมีวิสาหกิจและหน่วยงานที่สำคัญจากนานาประเทศเข้าร่วมงานอีกมากมายอาทิ เกาหลีใต้ มาเลเซีย อิหร่าน อียิปต์ อาร์เจนติน่า มาเก๊า ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา เนปาล พม่า เป็นต้น มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมด 795,189 ล้านหยวน

ข้อมูลอ้างอิง

[1] http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L6/6-2-1.html

[2] ระเบียบการนำเข้ายา กระทรวงสาธารณสุขจีน (SFDA)

http://www.sda.gov.cn/WS01/CL0053/31658.html

[3] ระเบียบการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางสำนักงานตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคแห่งชาติ (AQSIQ) http://www.aqsiq.gov.cn/zwgk/jlgg/zjl/2011/201109/t20110906_197663.htm

[4]ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานมหกรรมซีเชี่ยฮุ่ย ครั้งที่ 17 ที่นครซีอานระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย.56

 

โดย ตรีชฎา ขันตยานุวงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ