รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน เข้าร่วมงานประชุมด้านการค้าและการลงทุน

รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน เข้าร่วมงานประชุมด้านการค้าและการลงทุน

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ธ.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ค. 2564

| 966 view

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 น.ส. จิราภรณ์ ธีระภัทรานันท์ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน เข้าร่วมงานประชุมด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุนรวมไปถึงด้านงานตรวจลงตรา จัดโดยฝ่ายกิจการหนังสือเดินทาง สำนักงานการต่างประเทศมณฑลส่านซี  

โดยมี นายกง กุ้ยจวิน รองอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศมณฑลส่านซี และนายเกา จิ้นเสี้ยว ผู้อำนวยการกองกิจการหนังสือเดินทาง  เป็นประธานในงาน และมีคณะกงสุล ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ไทย น.ส. จิราภรณ์ ธีระภัทรานันท์ รองกงสุลใหญ่ รักษาราชการแทนกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน  สถานกงสุลใหญ่กัมพูชา นาย CHHUN Thavrak กงสุล และ สถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย นาย Moha Amran Md Al รองกงสุล และ 3. ผู้แทนวิสาหกิจและบริษัทต่างๆ ในนครซีอาน 

ในการนี้ รองกงสุลใหญ่ฯ ได้แนะนำข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของไทยที่มีศักยภาพในการลงทุนและทำตลาดในพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือ สรุปได้ดังนี้ 

ข้อมูลพื้นฐานและตัวเลขเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย-มณฑลส่านซี  

                             - ไทย เป็นประเทศที่มีรูปแบบเศรษฐกิจแบบผสม โดยไทยได้รับการจัดอันดับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงจากธนาคารโลกเมื่อปี 2011 ปัจจุบันไทยเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเพิ่มคุณค่าด้วยนวัตกรรม ผ่านรูปแบบ “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาที่มีความร่ำรวย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยยังคงเป็น อุตสาหกรรมในกลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มพลังงานและแร่ธาตุ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

                             - ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซี ในปี 2015 อยู่ที่ 239 ล้าน USD เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.51 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ประเทศไทย เสียเปรียบดุลการค้าราว 186 ล้านเหรียญสหรัฐ 

                             - สินค้าหลักที่มณฑลส่านซีนำเข้าจากไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ ลวดเชื่อมอุปกรณ์ แผงประมวลผลและควบคุมวงจร วงจรรวมไฟฟ้า

                             - สินค้าที่มณฑลส่านซีส่งออกไปไทย ได้แก่ แอปเปิลสด เหล็กกล้า อุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร อะไหล่รถยนต์ มอร์เตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น

สาขาธุรกิจที่ สถานกงสุลใหญ่ฯ เล็งเห็นศักยภาพในการลงทุน ได้แก่

1.  ธุรกิจการศึกษา

เนื่องจากสถาบันการศึกษาของไทยได้รับการยอมรับทั้งในด้านมาตรฐานและการบริการที่ดี รวมถึง ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันกับประเทศจีน ทำให้ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาของไทยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในมณฑลส่านซีจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรและแลกเปลี่ยนนักศึกษา ซึ่งประเทศไทย ได้เปรียบในแง่ของมีหลักสูตรจำนวนมากรองรับความต้องการของนักศึกษามีค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยาว์กว่าประเทศในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกา กลุ่มธุรกิจแนะแนวการศึกษาต่อจึงเป็นหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในมณฑลส่านซี

2. กลุ่มธุรกิจเมดิคัลเซ็นเตอร์ (การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ)

จากเป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทย ได้รับการขนานนามให้เป็น “Asian Wellness Center” ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทย (Tourist) 2) กลุ่มพักอาศัยและประกอบอาชีพในไทย (Expat ) และ 3) กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ซึ่งปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจีน มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องรองจาก กลุ่มลูกค้าจากตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ประเทศไทยมีบริการที่สามารถรองรับความต้องการของชาวจีนได้เป็นจำนวนมาก อาทิ บริการด้านการแพทย์ทางเลือก (แผนไทย) บริการอยู่ไฟหลังคลอด บริการที่พักสำหรับญาติผู้ป่วย บริการสถานที่ฟื้นฟูระยะยาวจากการรักษาหรือผ่าตัดโรค เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบันสถานพยาบาลชั้นนำของไทยหลายแห่ง ได้เริ่มดำเนินธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ชาวจีนในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำตลาดจีนและมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก