ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเมืองถงชวน มณฑลส่านซี เติบโตสูง 8.8%

ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเมืองถงชวน มณฑลส่านซี เติบโตสูง 8.8%

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 ก.พ. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 ก.พ. 2568

| 25 view

          ในปี 2567 ตลาดการบริโภคในเมืองถงชวน (铜川 : Tongchuan) มณฑลส่านซี มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตขึ้น 8.8% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในมณฑล ทั้งนี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า การบริโภคในพื้นที่ชนบทมีอัตราการเติบโตสูงกว่าในเขตเมือง โดยยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค
ในพื้นที่ชนบทขยายตัว +11.6% ในขณะที่ในเขตเมือง +7.9%

      ปัจจัยที่ทำให้การบริโภคในพื้นที่ชนบทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบทผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ส่งผลให้อุตสาหกรรมในชนบทมีความคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และความต้องการในการบริโภคสูงขึ้น โดยในปี 2567 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของผู้อยู่อาศัยในเขตชนบทเมืองถงชวนอยู่ที่ 15,138 หยวน เพิ่มขึ้น 7.1%
  2. สภาพแวดล้อมการบริโภคในเมืองถงชวนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดตั้งเครือข่ายการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกหมู่บ้าน เฉพาะในปี 2567 เมืองถงชวนได้พัฒนาระบบการค้าระดับอำเภอและตำบล จัดตั้งร้านสะดวกซื้อในชนบทจำนวน 280 แห่ง ศูนย์โลจิสติกส์ระดับอำเภอ 3 แห่ง และจุดกระจายสินค้าในตำบล 27 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบ Cold Chain Logistics สำหรับบริหารจัดการสินค้าเกษตรและ
    รักษาความสดของสินค้า ที่สำคัญยังมีการพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการขายและจัดส่งสินค้าเกษตร ทำให้ประชาชน
    ในพื้นที่สามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
  3. ความต้องการในการบริโภคของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงจากการบริโภคเพียงเพื่อการดำรงชีพ ไปสู่การบริโภคเพื่อการพัฒนาและความบันเทิงมากขึ้น โดยในปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ เช่น การศึกษา ความบันเทิง การดูแลสุขภาพ และการสื่อสาร ในพื้นที่ชนบทขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้
    การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นตลาดการบริโภคในชนบทให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น
  4. นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความต้องการบริโภคในชนบท เช่น นโยบายของเก่าแลกของใหม่ ในสินค้าประเภท รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และจักรยานไฟฟ้า ช่วยตอบสนองความต้องการสินค้าคุณภาพสูง/ประหยัดพลังงานของผู้บริโภคในพื้นที่ชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         การเติบโตของตลาดการบริโภคในชนบทของเมืองถงชวน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจชนบทอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชนบท การยกระดับโครงสร้างการบริโภค และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ตลาดการบริโภคในชนบทของจีน มีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งในอนาคต

ที่มา : https://www.ishaanxi.com/c/2025/0207/3353871.shtml

 

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน

12 กุมภาพันธ์ 2568

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ