รู้จัก “ฉิน ช่วง หยวน” (秦创原) โมเดลนำส่านซีสู่ “ผู้นำด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง” ของจีน

รู้จัก “ฉิน ช่วง หยวน” (秦创原) โมเดลนำส่านซีสู่ “ผู้นำด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง” ของจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 พ.ย. 2564

| 588 view

           หลายท่านอาจรู้จักมณฑลส่านซีว่า เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง แต่ในความเป็นจริงมณฑลส่านซีโดยเฉพาะนครซีอาน ยังเป็นฐานที่ตั้งของสถาบันการศึกษาและฐานการวิจัยที่สำคัญ ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่ง telent pool ที่สร้างบุคลากรเฉพาะด้านรวมไปถึงแรงงานทักษะ ข้อมูลจากรัฐบาลนครซีอานระบุว่า จนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 นครซีอานมีสถาบันการศึกษาชั้นนำกว่า 63 แห่ง มีนักศึกษาจบใหม่มากถึง 300,000 คน/ปี มีนักวิชาการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก 2 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Science) และสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติ (Chinese Academy of Engineering) พร้อมกันมากถึง 61 ราย

           แน่นอนว่า การเป็นตลาดแรงงานทักษะขนาดใหญ่ของภูมิภาคตะวันตก ส่งผลให้ในช่วงนโยบาย“มุ่งตะวันตก (Go West)” ของรัฐบาลจีน นครซีอานได้รับการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของวิสาหกิจจากภูมิภาคตะวันตก ตลอดจนเป็น Green Field ใหม่ๆ ที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้าลงทุนจำนวนไม่น้อย ปัจจุบัน นครซีอานเป็นฐานที่ตั้งของวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง อาทิ Samsung Micron และเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและชิ้นส่วนยานยนตร์ขนาดใหญ่ของจีน อาทิ Avic Xi’anAircraft Industry Group Company Ltd. (中航工业西安飞机工业   (集团)有限责任公司) (ซีเฟย) Shaanxi Automobile Group (陕汽集团) อีกด้วย

             อย่างไรก็ดี แม้มณฑลส่านซีจะได้รับการยอมรับในฐานะเมืองแห่งแรงงานทักษะเฉพาะทาง แต่รัฐบาลมณฑลส่านซีมีความพยายามในการยกระดับสู่การเป็น “มณฑลด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง (科教强省:Strong province in science and education)” ทำให้ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 รัฐบาลมณฑลส่านซีได้จัดตั้ง “秦创原” (Qin Chuang Yuan: ฉิน ช่วง หยวน) ขึ้น ณ เขตเมืองใหม่ซีเสียน โดยเป็นโมเดลขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ของมณฑลส่านซี โดยเป็นแนวคิดหลักในการนำนวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี ให้เกิดคุณค่าเชิงพาณิชย์และตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นนโยบายการสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมของมณฑลส่านซี ต่อยอดจากนโยบาย “แรงงานทักษะย้ายสู่ซีอาน” เมื่อต้นปี 2561 ของรัฐบาลนครซีอาน ที่ให้การสนับสนุนด้านเงินอุดหนุน / อัตราการเสียภาษี / การสนับสนุนบ้านพักอาศัย ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล ส่งผลให้ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีประชากรย้ายถิ่นฐาน (จด/ย้ายสัมมะโนประชากร) มายังนครซีอาน เพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ราย[1]

ที่มาที่ไปของ “秦创原

          “秦创原” “秦” ฉิน คือชื่อเรียกส่านซีในสมัยโบราณและยังคงใช้จนถึงทุกวันนี้” “创” ช่วง คือ นวัตกรรมและการสร้างงานสร้างโอกาส และ “原” หยวน คือ จุดยืนและความมุ่งมั่นสู่การยกระดับส่านซีสู่มณฑลแห่งนวัตกรรม การก่อตั้ง “ฉิน ช่วง หยวน” นี้ มีจุดประสงค์หลักในการเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันวิจัยและสถานศึกษาชั้นสูงของมณฑลส่านซี ที่อดีตมีผลงานการวิจัยและผลงานคิดค้นที่จดสิทธิบัตรมากมาย แต่ไม่อาจนำมาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าเชิงพาณิชย์ได้มากเท่าที่ควร หรือที่เรียกว่า “Last Kilometer” Dilemma สอดคล้องกับข้อมูลจาก สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญามณฑลส่านซี (Intellectual Property Office of Shaanxi: 陕西省知识产权局) ที่ระบุว่า เมื่อปี 2560 มณฑลส่านซีมีปริมาณการเติบโตของปริมาณการสมัครขอรับสิทธิบัตร (Growth Rate of Number of invention patent applications) มากที่สุดในประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 106.5% จากปี 2559 หรือกว่า 46,607 โครงการ แต่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับสิทธิบัตรเพียง 8,774 โครงการ หรือเพียง 16.9% เฉลี่ยประสิทธิภาพในการได้รับการอนุมัติสิทธิบัตร 8.9 โครงการ / ประชากร 10,000 คน จัดอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ1 นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มณฑลส่านซีมีการขอรับความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT)[1] จำนวน 155 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 55% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 22.37% (โดยเป็นวิสาหกิจในนครซีอาน 146 โครงการ เมืองเสียนหยาง 4 โครงการ เมืองเว่ยหนาน 3 โครงการ และเขตเกษตรชั้นสูงหยางหลิง 2 โครงการ)

           พันธกิจของ “ฉิน ช่วง หยวน” มี 4 ประการ ได้แก่ (1) เพิ่มบทบาทการแข่งขันทางการตลาดเพื่อให้บรรลุผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด (2) สร้างกลไกลที่ส่งเสริมให้มีการใช้แพลตฟอร์มการวิจัยและพัฒนาทางนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ร่วมกัน ตลอดจนสร้างกลไกการพัฒนาองค์ความรู้ที่ต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาในสาขาหรืออุตสาหกรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด (3) สร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง พร้อมเป็นกลไลส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศบนแถบเส้นทางสายไหม และ (4) การสร้างแพลตฟอร์มในอนาคตที่จะสามารถให้บริการ การวิจัยและพัฒนาทางนวัตกรรมได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

พื้นที่รองรับและแผนการดำเนินงานของ “ฉิน ช่วง หยวน”

         นอกจากเขตเมืองใหม่ซีเสียนแล้ว รัฐบาลมณฑลส่านซียังวางตัว “ท่าเรือนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนตะวันตก (中国西部科技创新港: Western China Science And Technology Innovation Harbour)” ให้เป็นฐานที่มั่นหลักในการผลักดันให้ “ฉิน ช่วง หยวน” ก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มแห่งการยกระดับวงการนวัตกรรมของมณฑลส่านซี โดยรัฐบาลมณฑลส่านซีได้จัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการสร้างฉินช่วงหยวนให้เป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ ระหว่างปี 2021-2023 (Action Plan for the Construction of Qinchuangyuan to    a New Driving Platform (2021-2023): 秦创原创新驱动平台建设三年行动计划(2021—2023年) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เร่งสร้างฐานรองรับทั้ง 2 แห่งสู่การเป็นแหล่งบ่มเพาะทั้งในด้านบุคลากรและระบบการยกระดับศักยภาพทางด้านนวัตกรรมของสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในพื้นที่
  2. เป็นเสมือน “เครื่องยนต์เร่ง” สมรรถภาพในการกระตุ้นผลงานการวิจัยทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากการทดลอง สู่ผลงานที่ใช้ได้จริงและสร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์
  3. เมื่อถึงปี 2023 (ปี พ.ศ. 2568) ขีดความสามารถทางด้านการคิดค้นนวัตกรรมของมณฑลส่านซีต้องอยู่ในระดับชั้นแนวหน้า รวมถึง (1) สถาบันนวัตกรรมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีระดับชั้นนำต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 แห่ง (2) สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยน/ต่อยอดผลงานการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ต่ำกว่า 1,000 รายการ (3) ดึงดูดองค์กร/หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ฐานฯ ได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย (4) การเพิ่มประสิทธิภาพของสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดค้นทางด้านนวัตกรรมกระจายมากกว่า 30 แห่งทั่วพื้นที่ และ (5) เพิ่มเงินทุนสนับสนุนด้านนวัตกรรมแก่วิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านหยวน เพื่อส่งเสริมให้สามารถสร้างมูลค่าการซื้อขายผลงาน / สิทธิบัตรให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านหยวน

พิธียกเสาเข็มและประกาศเริ่มการก่อสร้างโครงการ “ฉิน ช่วง หยวน”เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564

            โครงการก่อสร้าง “ฉิน ช่วง หยวน” ได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 โดยในพิธีเปิดมีนายเฉิง ฝูปัว (Cheng Fubo: 程福波) รองผู้ว่าการมณฑลส่านซีเป็นประธาน ณ เมืองเฟิ่งซี (ระดับเท่ากับอำเภอ) ของเขตเมืองใหม่ซีเสียน โครงการ “ฉิน ช่วง หยวน” จะเป็นแหล่งที่ตั้งของโครงการย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีรวม 30 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 44,820 ล้านหยวน แบ่งเป็น (1) พื้นที่ก่อสร้างโครงการกลุ่มแหล่งบ่มเพาะทางด้านนวัตกรรม A-C (A-C Plate Incubator) (2) โครงการก่อสร้างสวนสาธิตนวัตกรรมคุนเผิง (鲲鹏智造园, 科创载体类) (3) โครงการก่อสร้างฐานวิจัยประจำภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือและโรงผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากพลังงานลมของ บ. FANS Tech (泛仕达机电股份有限公司) ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า เมื่อการก่อสร้างในส่วนของระบบสาธารณูปโภคและอาคารสถานที่แล้วเสร็จ จะเป็นฐานเร่งการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของมณฑลส่านซีได้อย่างเป็นรูปธรรม

            สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 25 64 โครงการ “ฉิน ช่วง หยวน” ได้เปิดระบบ “Qin Chuangyuan Integrated Service Platform” เพื่อให้บริการข้อมูลนโยบายและสิทธิประโยชน์แก่วิสาหกิจที่ลงทุนในพื้นที่ การสมัครสิทธิบัตร บริการจับคู่ฐานข้อมูลเทคโนโลยีขององค์กรทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วยระบบ Big Data พร้อมช่องทางการสอบถามการใช้บริการที่ (+86) 29-38066618 ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน จะได้ติดตามพัฒนาการและนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านในโอกาสต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้อ่านที่สนใจการทำงานของโปรแกรมดังกล่าว สามารถเข้าใช้งานระบบข้างต้นได้ที่ มินิโปรแกรมออนไลน์ในระบบ Wechat ภายใต้ชื่อ “秦创原综合服务平台小程序”

[1] ต้นปี 2561 นครซีอานประกาศนโยบายสำมะโนครัวฉบับใหม่ (New Policy of Household Registration) มีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดแรงงานท้องถิ่นกลับบ้านเกิดและเชิญชวนบุคลากร/แรงงานศักยภาพมาตั้งถิ่นฐานถาวรในนครซีอาน ผ่าน “13 มาตรการเร่งดำเนินการรวบรวมบุคลากรของนครซีอาน” (西安市进一步加快人才汇聚若干措施) เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพสู่นครซีอาน ทำให้นครซีอานมีจำนวนประชากรที่ย้ายสำมะโนครัวมาตั้งถิ่นฐานใหม่กว่า 500,068 คน) (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ถึง 5.39 เท่า) โดยแบ่งตามวุฒิการศึกษาได้แก่ ปริญญาเอก 925 คน ปริญญาโท 14,235 คน ปริญญาตรี 157,356 คน และผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง (ไม่ระบุความชำนาญ) 22,456 คน

[1] PCT เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ในการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ในประเทศสมาชิก เพื่อให้สะดวก/ลดภาระผู้ขอรับสิทธิบัตรที่ต้องการขอยื่นรับสิทธิบัตรในหลายประเทศทั่วโลกซึ่งผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องทำการเลือกประเทศในการตรวจสอบร่างคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร (The International Searching Authority (ISA) โดยมีองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เป็นผู้พิจารณา

คลิ๊กเพื่ออ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

สำรวจ Xixian New Area เครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจตัวใหม่ของมณฑลส่านซี

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://xiandaiyuwen.com/news/gjzc/868745.html
  2. http://snipa.shaanxi.gov.cn/newstyle/pub_newsshow.asp?id=1024664&chid=100356
  3. http://snipa.shaanxi.gov.cn/newstyle/pub_newsshow.asp?id=1012076&chid=100356
  4. http://xiandaiyuwen.com/news/gjzc/868745.html
  5. https://baike.baidu.com/reference/57151496/29f2KxL_4uT8sNspnZ4s_Wq_XCGCqi-eQIdJDXFotoat5IEZdaDvtyQc_J4geGzbZKS8UKo2zcNLbywHBEktEAKSqpnYWb7QgTpJIoWkEjaeLnkFjj1Vik2IZcU