วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มี.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 มี.ค. 2566
โอกาสตลาดผลไม้ไทยในนครซีอาน
ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลส่านซีและรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวส่านซีจำนวนมากเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยม ซึ่งสถิติของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครเฉิงตู พบว่า ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวส่านซีไปไทยสูงถึง 350,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 สูงเป็นอันดับ 3 ของชาวจีนในภูมิภาคตะวันตก รองจากนครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวน
จากการไปท่องเที่ยวในไทย ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอาหารและผลไม้ไทยเป็นที่นิยมชมชอบของชาวส่านซี และจากการที่ผลไม้ไทยเป็นผลไม้เขตร้อนที่เพาะปลูกไม่ได้ในมณฑลส่านซี ทำให้ปัจจุบันมีวิสาหกิจจีนหลายรายประกอบธุรกิจนำเข้าผลไม้ไทย อาทิ มะพร้าว ทุเรียน ลำไย และมังคุด มาจำหน่ายในนครซีอานซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี และพื้นที่ใกล้เคียง อย่างไรก็ดีจำนวนและประเภทของผลไม้ไทยที่นำเข้ามายังมีไม่มาก ทั้งที่นครซีอานมีประชากรจำนวนมาก (ประมาณ 12.95 ล้านคน) และมีความต้องการบริโภคสูง บทความนี้ จึงจะวิเคราะห์โดยสังเขปถึงศักยภาพตลาดผลไม้ไทยในนครซีอาน เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่สนใจเปิดหรือขยายตลาดผลไม้ไทยนครซีอาน
1. ภาพรวมผลไม้นำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนของจีน
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 หน่วยงานควบคุมและตรวจสอบคุณภาพสินค้าแห่งชาติจีน (AQSIQ: Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine) ได้ออกประกาศฉบับล่าสุดเกี่ยวกับรายชื่อ 48 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และจำนวนประเภทผลไม้สดที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกมาจำหน่ายในประเทศจีนโดยไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศ และได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้ไปจีนได้ 22 ชนิด ซึ่งนับเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้สดมากประเภทที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยดังรายละเอียด ดังนี้
ประเทศในกลุ่มอาเซียนและชนิดผลไม้ที่ได้รับอนุญาตส่งออกไปยังตลาดจีน
ลำดับ |
ประเทศส่งออก | ประเภทผลไม้สด |
จำนวนประเภท |
1 |
ไทย | มะขาม ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วย เสาวรส มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ และมังคุด |
22 |
2 |
เวียดนาม | มะม่วง ลำไย กล้วย มังคุด ลิ้นจี่ แตงโม ขนุน แก้วมังกร และเงาะ |
9 |
3 |
มาเลเซีย | ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ มะพร้าว แตงโม มะละกอ สับปะรด และเงาะ | 8 |
4 | พม่า | ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ มะม่วง แตงโม เงาะ แคนตาลูป และพุทรา |
8 |
5 |
ฟิลิปปินส์ | สับปะรด กล้วย มะม่วง มะละกอ มะพร้าว และผลอะโวคาโด |
6 |
6 |
อินโดนีเซีย | กล้วย ลำไย มังคุด สละและแก้วมงกร |
5 |
7 |
กัมพูชา | กล้วย มะม่วง |
2 |
8 |
ลาว | กล้วย แตงโม |
2 |
9 |
บรูไน | แคนตาลูป |
1 |
2. ความต้องการบริโภคผลไม้สดในนครซีอาน และพฤติกรรมผู้บริโภค
นครซีอานเป็นเมืองหลวงของมณฑลส่านซี ตั้งอยู่ตอนกลางของมณฑลส่านซี มีขนาดพื้นที่ 700.69 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรประมาณ 12.95 ล้านคน (จากผลสำรวจ The 7th Nationwide Population Census Statistics in 2020 ของ Shaanxi Provincial Statistics Bureau) นอกจากนี้ นครซีอานยังเป็นเมืองที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเร็วที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีอัตราค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 104,363 หยวน/คน/ปี ทำให้มีกำลังซื้อและอัตราการบริโภคสินค้าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน โดยทั่วไป ชาวซีอานจะนิยมจับจ่ายใช้สอยในเรื่องของการรับประทานอาหาร การแต่งตัว การบำรุงดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มีรสชาติแปลกใหม่ ทำให้ผลไม้นำเข้ากลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคชาวซีอานจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ โดยปกติชาวซีอานมีอัตราเฉลี่ยของปริมาณความต้องการบริโภคผลไม้อยู่ที่ประมาณ 165 กรัม/วัน/คน ซึ่งหากคำนวณตามจำนวนประชากร 12.95 ล้านคน จะพบว่า ชาวซีอานจะมีการบริโภคผลไม้อยู่ที่ประมาณวันละ 2,137 กิโลกรัม หรือปีละ 779,914 ตัน
2.1 ผลไม้ท้องถิ่น
จากข้อมูลของสำนักสถิติมณฑลส่านซีรายงานว่า ในปี 2563 มณฑลส่านซีมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้รวม 17.31 ล้านหมู่ หรือประมาณ 7.1 ล้านไร่ มีผลผลิตรวม 18.08 ล้านตัน โดยมีแอปเปิ้ลเป็นผลไม้หลักคิดเป็นสัดส่วน 65.6% ของผลผลิตผลไม้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นและตลาดมณฑลอื่น ๆ ด้วย อาทิเช่น กีวี สาลี่ พุทรา และส้ม
ผลผลิตผลไม้สด 10 อันดับแรก และราคาขายปลีก 5 อันดับแรกในมณฑลส่านซีในปี 2563
ลำดับที่ |
ผลไม้ | ผลผลิต/ปี (ล้านตัน) |
ราคา (หยวน/กิโลกรัม) |
1 |
แอปเปิ้ล | 11.85 | 4-5 |
2 |
กีวี | 1.16 |
4-5 |
3 |
พุทรา | 1.10 |
4-5 |
4 |
สาลี่ | 1.04 |
2-3 |
5 |
องุ่น | 0.81 |
15-30 |
6 |
ลูกท้อ | 0.76 |
6-15 |
7 |
ส้ม | 0.52 |
4-5 |
8 |
ลูกพลับ | 0.31 |
5-8 |
9 |
เชอร์รี่ | 0.14 |
15-20 |
10 | แอปริคอท | 0.13 |
6-15 |
2.2 ตลาดผลไม้ไทยในนครซีอาน มณฑลส่านซี
ตามข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทย แจ้งว่า ในปี 2564 จีนนําเข้าผลไม้จากไทย 2,104,305 ตัน มูลค่า 6,536.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.91% จากปี 2563 โดยผลไม้ไทยยอดนิยมในจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน (39%) ลำไย (22%) มะพร้าว (16%) มังคุด (11%) และส้มโอ (1%)
ในส่วนของมณฑลส่านซี ตามสถิติของศุลกากรซีอาน แจ้งว่า ในปี 2564 มณฑลส่านซีได้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ 4638.34 ตัน มูลค่า 91.66 ล้านหยวน โดยเป็นผลไม้ไทยมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 54% จำนวน 2533.69 ตัน (เพิ่มขึ้น 18.7% จากปี 2563) คิดเป็นมูลค่า 42.54 ล้านหยวน
จากการสำรวจความนิยมรับประทานผลไม้ไทยระหว่างการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น และการหารือกับผู้นำเข้าผลไม้ไทยในนครซีอาน ทราบว่า ปัจจุบัน ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้บริโภคชาวซีอานมี 4 ชนิด ได้แก่ มะพร้าว ลำไย มังคุด และ ทุเรียนสด และ ผู้บริโภคชาวซีอานชอบซื้อผลไม้ตามฤดูกาล และช่วงจำหน่ายดีที่สุดของผลไม้คือช่วงวันเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ (ระหว่างช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี) และเทศกาลตรุษจีน (ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี)
ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้บริโภคชาวซีอาน 4 อันดับแรก
ผลไม้ |
ราคาเฉลี่ย (ราคาปลีก) | ช่วงเวลาจำหน่ายดีที่สุด |
มะพร้าว |
10-30 หยวน/ลูก |
ทุกฤดู |
ลำไย |
20-50 หยวน/กิโลกรัม |
ช่วงเทศกาลสำคัญ |
มังคุด |
60-150 หยวน/กิโลกรัม |
ช่วงเทศกาลสำคัญ |
ทุเรียนสด |
90-150 หยวน/กิโลกรัม |
เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม |
2.3 พฤติกรรมผู้บริโภคผลไม้ในนครซีอาน
(1) เนื่องจากนครซีอานอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง ชาวซีอานจึงนิยมรับประทานผลไม้ที่มีน้ำมากและรสชาติหวาน
(2) ผลไม้ท้องถิ่นของมณฑลส่านซี แตกต่างกับผลไม้ไทยอย่างมาก โดยที่มีการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวซีอานและการแสวงหาสิ่งใหม่ จึงทำให้สามารถชูจุดเด่นของผลไม้ไทยที่แตกต่างกันได้
(3) แม้ผลไม้ท้องถิ่นจะมีราคาถูกกว่า แต่ชาวส่านซียังคงนิยมบริโภคผลไม้ไทยในรูปแบบการเป็น “self-reward” และจะซื้อผลไม้ที่ไม่ค่อยรับประทาน/หาทานไม่ง่าย เป็นของขวัญให้แก่ตัวเองหรือครอบครัวในวันสำคัญ ดังนั้น การสร้างคุณค่า สร้างเรื่องราว และให้ความหมายกับผลไม้ไทยและแต่งบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างกลยุทธจำหน่าย
3.การขนส่งผลไม้ไทยมานครซีอาน
การขนส่งผลไม้จากไทยมายังนครซีอานมีหลากหลายช่องทาง ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล
ทั้งนี้ ในปี 2560 ท่าอากาศยานนานาชาติซีอานเสียนหยางได้รับการอนุมัติให้เป็นด่านกักกันสำหรับผลไม้นำเข้า ทำให้ผู้นำเข้าสามารถขนส่งผลไม้จากไทยมายังนครซีอานได้โดยตรงผ่านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งใช้ระยะเวลาน้อยที่สุด ประมาณ 1-2 วัน แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง กลายเป็นเพิ่มต้นทุนราคาของผลไม้ ผู้นำเข้าส่วนใหญ่จึงใช้การขนส่งทางอากาศเฉพาะผลไม้ที่เน้นคุณภาพ/ความพรีเมี่ยม แต่ปัจจุบันนี้ โดยข้อจำกัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรค COVID-19 ทำให้เที่ยวบินขนส่งตรงระหว่างไทย-ส่านซี ถูกระงับชั่วคราว
เนื่องจากนครซีอานตั้งอยู่ในแผ่นดินตอนในของจีน ซึ่งนอกจากด่านของท่าอากาศยานนานาชาติซีอานเสียนหยางแล้ว จึงไม่มีด่านนำเข้าผลไม้โดยตรงอื่น ๆ ทั้งทางบก/ทะเล ทำให้การนำเข้าผลไม้มาจำหน่ายในนครซีอาน ต้องผ่านด่านอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ เช่น ด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน, ด่านโหย่วอี้กวนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง, ด่านกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ก่อนขนส่งต่อมายังนครซีอาน
4.ช่องทางการจำหน่ายผลไม้ในนครซีอาน
4.1 ตลาดค้าส่งผลไม้/ร้านค้าส่งผลไม้ เป็นตลาดที่ผู้นำเข้าผลไม้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากนั้นร้านค้าส่งผลไม้ จะรับผลไม้ไปกระจายส่งต่อให้ร้านค้าปลีก
4.2 ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นช่องทางการจำหน่ายที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากมีความสะดวกสามารถหาซื้อสินค้าได้หลากหลาย พร้อมมีบริการและสันทนาการต่างๆ ที่ครบวงจร ดังนั้น แม้ชนิดของผลไม้นำเข้าจะไม่มาก แต่เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายมีความหลากหลาย และทางซุปเปอร์มาร์เก็ตแต่ละแห่งจะมีกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย เช่นการแจกผลไม้ให้ชิมฟรี การลดราคาจำหน่าย เป็นต้น จึงทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆพยายามสรรหาผลไม้นำเข้าที่หลากหลายมารองรับความต้องการผู้บริโภค
4.3 ร้านค้าปลีกผลไม้ ผลไม้มีความหลากหลายและราคาไม่สูงมากนัก และทางร้านค้าปลีก ยังให้บริการจัดเป็นชุดของขวัญ (ผลไม้) จึงทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเช่นกัน
4.4 ร้านค้าผลไม้ออนไลน์ เป็นช่องทางการสั่งซื้อที่ผู้บริโภครุ่นใหม่นิยมใช้ ปัจจุบัน ร้านและซูเปอร์มาร์เก็ตในนครซีอานมีช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ แต่ปัจจุบัน มีการสั่งซื้อออนไลน์เฉพาะผลไม้นำเข้าที่จัดการส่งภายในพื้นที่จำกัด และมีผลไม้นำเข้าจำหน่ายออนไลน์ชนิดไม่มาก เนื่องจากราคาแพง การจำหน่ายออนไลน์มีความเสี่ยงต่อการเน่าเสียระหว่างการขนส่งและลูกค้ามีสิทธิขอคืนสินค้า แต่ก็มีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่นิยมซื้อผลไม้นำเข้าออนไลน์จากเมืองอื่นๆ ที่มีผลไม้หลากชนิดมากกว่าทั้งจากกวางตุ้ง ยูนนาน ไห่หนาน เป็นต้น
(ขอบคุณรูปภาพจาก TikTok 水果啊宇 榴莲二 果源鲜)
5.โอกาสของการตลาดผลไม้ไทยในนครซีอาน
5.1 คุณภาพและราคา
มณฑลส่านซีมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยเฉพาะนครซีอานที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ของประชากรเพิ่มสูงต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดจนความต้องการในสินค้าทางเลือก/สินค้าพรีเมี่ยมก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
และจากการสำรวจพบว่าชาวซีอานนิยมบริโภคผลไม้ไทยสูง ในขณะที่ความหลากหลายของผลไม้ไทยในตลาดซีอานค่อนข้างน้อย จำกัดอยู่เพียงทุเรียนสดใหม่ มะพร้าว ลำไย และมังคุด และผู้ประกอบการเลือกนำสินค้าที่ได้รับความนิยม/ติดตลาดอยู่แล้วมาจำหน่าย ทำให้เกิดการแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพ ดังนั้น ผลไม้ไทยที่จะเข้ามาจำหน่ายจึงต้องเน้นคุณภาพ รสชาติ และความสดใหม่
5.2 เทรนด์ความนิยมและโอกาสของผลไม้ชนิดอื่น
เนื่องจากนครซีอานตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อากาศค่อนข้างแห้งแล้ง ชาวซีอานนิยมรับประทานผลไม้ไทยแบบสด ที่มีน้ำมากและนิยมรสหวาน ตลอดจนยังเริ่มเปิดรับผลไม้แปลกใหม่แตกต่างไปจากผลไม้เดิม ๆ เช่น สับปะรดภูแลที่ผ่านการตัดแต่งบรรจุในถุงสูญญากาศ, ขนุน ที่มีรสหวานและรูปร่างแปลกใหม่, หรือส้มโอก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคขาวนครซีอานมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่าในปีที่ผ่านมา ผลไม้ตัดแต่งสำเร็จรูป “ready-to-eat” ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในนครซีอานอย่างมาก โดยเฉพาะสับปะรดภูแล ตลอดจนแก้วมังกร แคนตาลูป มะเขือเทศ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบหรืออยู่อาศัยคนเดียว จึงนิยมบริโภคผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสมกับตนเอง จึงถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับผู้ประกอบการผลไม้ดังกล่าว
5.3 จัดแพคเกจผลไม้ประยุกต์ให้เข้ากับเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ของจีน
ชาวส่านซีนิยมซื้อผลไม้ที่มีราคาแพงในเทศกาลสำคัญของจีน อาทิ เทศกาลเรือมังกร (เดือนมิถุนายน) เทศกาลไหว้พระจันทร์ (เดือนกันยายนถึงตุลาคม) และโดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน (เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม) นักธุรกิจสามารถนำเข้าผลไม้ไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
(ขอบคุณรูปภาพจาก Taobao 榴莲一刻)
5.4 จับมือร่วมกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น
การจำหน่ายผลไม้ในตลาดผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนตามระดับรายได้ของผู้บริโภคโดยคัดตามเกรดคุณภาพ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้ต่างกัน เช่น การจำหน่ายผลไม้คุณภาพดีในห้างสรรพสินค้าระดับสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า SKP, ห้างสรรพสินค้า Wangfujing, และผลไม้คุณภาพระดับกลางในห้างสรรพสินค้าสัญชาติจีน เช่น ห้างสรรพสินค้า Saga ที่ครองตลาดผู้บริโภคระดับกลางควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ตลอดจนการจัดประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้ไทยในตลาดนครซีอาน
5.5 นำผลไม้ไทยสู่ตลาด E-commerce นครซีอาน
ผู้บริโภคชาวจีนนิยมใช้ E-commerce เป็นช่องทางในการซื้อสินค้ามากขึ้น ปัจจุบัน ร้านขายผลไม้ออนไลน์ของนครซีอานยังไม่ค่อยมีการจำหน่ายผลไม้ไทย ผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ไทยสามารถร่วมมือกับร้านขายผลไม้ออนไลน์ของนครซีอานเพิ่มขยายช่องทางการจำหน่าย และยังสามารถลดผลกระทบของสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการ ในปี 2565 บริษัท Sihai Fruits ได้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินค้าและบริการในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะทาง Douyin (抖音: TikTok ของจีน) ซึ่งพบว่า ช่องทางออนไลน์ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
6. ความท้าทายของธุรกิจนำเข้าผลไม้ไทยในนครซีอาน
BIC ได้เคยไปสำรวจตลาดค้าส่งผลไม้ยวี่รุ่น นครซีอาน ซึ่งเป็นตลาดค้าผลไม้ท้องถิ่นและนำเข้าขนาดใหญ่ที่สุดในนครซีอาน มีร้านค้าส่งผลไม้กว่าร้อยแห่ง เป็นร้านค้าส่งผลไม้นำเข้ากว่า 20 แห่ง เป็นศูนย์กระจายผลไม้ท้องถิ่นของมณฑลส่านซี ผลไม้นำเข้าจากมณฑลอื่น และผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งต่อไปไปยังเมืองต่าง ๆ ในมณฑลส่านซี และเมืองใกล้เคียงต่างมณฑล อาทิ นครหยินชวน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย และนครหลานโจว มณฑลกานซู จากการสำรวจ ได้รับทราบปัญหา/อุปสรรคในการนำเข้าผลไม้ไทย ดังนี้
6.1 ต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการขนส่งผลไม้ไทยจากด่านนำเข้ามายังนครซีอาน ในขณะที่ ผลไม้สดมีอายุในการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น จึงทำให้โอกาสเน่าเสียของผลไม้เพิ่มขึ้น กอรปกับค่าขนส่งสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ต้นทุนการจำหน่ายผลไม้ไทยสูงขึ้น
6.2 ช่วงที่ผลไม้ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดนครซีอานมากที่สุด เป้นช่วงเดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์
ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีน และเป็นช่วงฤดูหนาวที่ผู้บริโภคในพื้นที่มีความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนสูง แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมีผลไม้ไทยไม่มากนัก ในขณะที่ในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีผลไม้ไทยจำหน่ายหลากหลายชนิดที่สุด อาทิ มะพร้าว ทุเรียน มังคุด และลำไย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดไม่ตรงกัน
6.3 ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ทางการจีนได้เพิ่มความเข้มงวดต่อการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมถึงผลไม้ บ่อยครั้งที่พบว่าในแต่ละเมือง/พื้นที่มีการบังคับใช้มาตรการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรหมั่นตรวจสอบมาตรการรวมถึงระเบียบข้อบังคับอยู่เสมอ ในส่วนของมณฑลส่านซีและนครซีอานนั้น ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบมาตรการและระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าผลไม้ไทยมายังนครซีอานได้ที่ http://snamr.shaanxi.gov.cn/ssjgy.jsp?wbtreeid=1517
สรุป
ปี 2565 ตลาดการนำเข้าผลไม้ไทยมาสู่ประเทศจีน โดยเฉพาะการเข้ามาสู่มณฑลชั้นในของจีน รวมถึงนครซีอาน ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดของประเทศจีน ซึ่งผู้ที่สนใจนำเข้าผลไม้/ผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยควรหมั่นตรวจสอบมาตรการต่าง ๆ อยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ศูนย์ BIC นครซีอานเล็งเห็นว่า การบริโภคผลไม้ไทยโดยเฉพาะในฤดูทุเรียน ยังคงได้รับความนิยม และตอบรับอย่างดียิ่งจากผู้บริโภคชาวซีอาน เห็นได้จากเมื่อวันที่ 14 – 18 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ห้างโลตัสซุปเปอร์ เซ็นเตอร์ สาขาถนนถังเหยียน นครซีอาน จำหน่ายทุเรียนสด 6.4 ตันภายในเวลาเพียงไม่ถึง 2 วัน วัน แสดงให้เห็นว่าทุเรียนไทยยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวซีอานอย่างมาก ดังนั้น โอกาสในการนำเข้าผลไม้ไทยมาสู่ตลาดผู้บริโภคในนครซีอานยังคงเปิดกว้าง ศูนย์ BIC นครซีอาน จึงหวังว่าบทความนี้ น่าจะเป็นประโยชน์มากก็น้อยสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกผลไม้ไทยเข้ามายังตลาดในนครซีอาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Office Hours : Mon-Fri, 09.00-12.00 hrs. and 13.30-17.00 hrs.
Consular Section
VISA inquiries : +(86-29) 6125 3668 ext 801 Monday - Friday 15.00 - 17.00 hrs.
Thai citizen, please contact (+๘๖) ๑๘๒๐๒๙๒๑๒๘๑ for an appointment.