ความร่วมมือไทย – หนิงเซี่ย กับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม ครั้งที่ 3 ( Public )

ความร่วมมือไทย – หนิงเซี่ย กับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม ครั้งที่ 3 ( Public )

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,076 view

เขียนโดย adminxian   

ศักยภาพของเขตหนิงเซี่ย
 
          เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ยตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีพื้นที่ 66,400 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 6.1 ล้านคน โดยประชากร 1 ใน 3 หรือประมาณ 2 ล้านคน คิดเป็น 33.5 % เป็นชนชาติหุย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ทั่วประเทศจีนปัจจุบันมีชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 24 ล้านคน
          หนิงเซี่ยเป็นเขตปกครองตนเองที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันตกของจีนซึ่งเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2541 เนื่องจากเป็นมณฑลขนาดเล็กและประชากรไม่มากนัก ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงในการเร่งรัดพัฒนาและเปิดประตูสู่โลกภายนอกได้อย่างเหมาะสม โดยเมื่อปี 2550 มูลค่า GDP ของหนิงเซี่ย เท่ากับ 83,416 ล้านหยวน รายได้ประชากรต่อหัว 13,743 หยวนต่อปี (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับประมาณ 5 บาท)
          ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงของหนิงเซี่ยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หนิงเซี่ยได้พัฒนาและเติบโตมากในช่วงครึ่งปีแรก โดย GDP เติบโตร้อยละ 12.5 และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย โดยได้มีการสร้างสนามบินใหม่ ศูนย์การค้าใหม่ ถนนหนทาง และก่อสร้างอาคารทั้งสำนักงาน ที่พักและอื่น ๆ จำนวนมาก
          รัฐบาลเขตหนิงเซี่ยให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ พร้อมกับการส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเขตหนิงเซี่ยเป็นเขตที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอันได้แก่ ถ่านหิน พลังงานน้ำ และแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำการเกษตรและปศุสัตว์เป็นอย่างมาก เพราะมีแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำฮวงโหไหลผ่านเป็นระยะทางยาวและต่อเนื่องครอบคลุมในหลายพื้นที่ของเขตหนิงเซี่ย ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ และสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับทดน้ำจากแม่น้ำเหลือง ส่งผลให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และสามารถสร้างรายได้ให้แก่เขตได้อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสมือนแรงผลักดันที่จะทำให้เขตหนิงเซี่ยมีความสามารถในการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า และเป็นการเปิดประตูรับการลงทุนจากภายนอกที่จะช่วยส่งเสริมให้เขตหนิงเซี่ยมีศักยภาพในการพัฒนามากตนเองได้มากยิ่งขึ้น 

สินค้ามุสลิมเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้หนิงเซี่ย

            อาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมของชาวหุยมุสลิมได้รับความนิยมอย่างมากในเขตหนิงเซี่ย และตอนนี้พวกเขาได้พัฒนาสินค้าเหล่านี้ไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งส่งไปจำหน่ายยังมณฑลอื่น ๆ และต่างประเทศ

           หนิงเซี่ยเคยจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม ซึ่งได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ บริษัทห้างร้าน ภาคธุรกิจเอกชน จากกว่า 40 ประเทศ โดยเฉพาะจากมาเลเซีย ไทย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต และปีนี้ หนิงเซี่ยก็จะจัดงานแสดงสินค้ามุสลิมนานาชาติเป็นปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2551 ซึ่งหนิงเซี่ยได้ร่วมมือกับประเทศไทยและมาเลเซียในการรับรองอาหารฮาลาลตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
          งานแสดงสินค้ามุสลิมนานาชาติของหนิงเซี่ยได้ส่งเสริมโอกาสอันกว้างขวางของอาหารฮาลาลและการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมที่หนิงเซี่ยได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีคุณค่า จากแรงงานที่มีมากมาย อุตสาหกรรมที่นี่จึงสามารถผลิตสินค้าออกมาได้อย่างหลากหลายโดยผ่านการผลิตที่มีปริมาณมากและสอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งผู้ผลิตหลายรายส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมาเป็นเวลานานและมีความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้ามาโดยตลอด
          อาหารฮาลาลมีทั้งเนื้อวัว เนื้อแกะ ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ส่วนสินค้าประกอบด้วยเสื้อผ้า หมวกมุสลิม รองเท้า ของใช้ประจำวัน เฟอร์นิเจอร์ และยา ซึ่งในพื้นที่ของหนิงเซี่ยที่มีทั้งการจำหน่ายอาหารและจัดแสดงสินค้ามุสลิม ก็ได้รับความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัย และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่อาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิมในหนิงเซี่ยจะได้รับการพัฒนาและร่วมลงทุนจากต่างประเทศอย่างแน่นอน

งานแสดงสินค้านานาชาติอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม ครั้งที่ 3

            งานแสดงสินค้านานาชาติอาหารฮาลาลและสินค้ามุสลิม (CHINA (NINGXIA) INTERNATIONAL HALAL FOOD/MUSLIM COMMODITIES FESTIVAL AND NINGXIA INVESTMENT AND TRADE FAIR) ของเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2551 ณ นครอิ๋นชวน เมืองหลวงของเขตหนิงเซี่ย เป็นงานที่จัดมาเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว และปีนี้เป็นปีที่พิเศษกว่าทุกปีคือ เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาเขตหนิงเซี่ย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ ดังนี้คือ

1)     การประชุมนักธุรกิจชนชาติหุยครั้งที่ 1
2)     China (Ningxia) International Cashmere Expo ครั้งที่ 2
3)     นิทรรศการ Western China Specialty Agriculture (Ningxia) ครั้งที่ 4
4)     Forum on shifting industries from the east to the west
5)     การประชุมการค้าและความร่วมมือระหว่างหนิงเซี่ยและไต้หวัน
           วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ รัฐบาลเขตหนิงเซี่ยหวังที่จะใช้เวทีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวเพื่อการเฉลิมฉลองและเผยแพร่วัฒนธรรม การแสดงศักยภาพด้านการผลิตและความเจริญเติบโตของเขตหนิงเซี่ย เพื่อดึงดูดและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภายนอกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้นายหวาง เจิ้งเหว่ย (Wang Zhengwei) ประธานเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย (เทียบเท่าตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล) ได้กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นการจัดงานที่เขตหนิงเซี่ยต้องการแสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาและเข้าร่วมลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับโครงสร้างการปกครอง ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์ตลาดสินค้ามุสลิมให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี เขตหนิงเซี่ยปรารถนาที่จะเชิญชวนให้นักลงทุน ทั้งในประเทศจีนและนานาประเทศไปเยี่ยมเยือนเขตหนิงเซี่ย เพื่อชื่นชมกับทัศนียภาพที่สวยงาม ในขณะที่มีการส่งเสริมการลงทุนภายในเขต ตลอดจนการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณีความเชื่อท้องถิ่น และลิ้มลองรสชาติอาหารมุสลิม ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้พบกับมุมมองและภาพลักษณ์ของหนิงเซี่ยที่หลากหลายและคุ้มค่า

โครงการสำคัญที่รัฐบาลเขตหนิงเซี่ยได้เชิญชวนให้นานาประเทศร่วมลงทุน มีดังนี้
1)     Construction of China Huadian Corporation’s Ningxia Ningdong Yangjiayao Wind Power Plant
     - มูลค่าการลงทุน 826.44 ล้านหยวน คิดเป็นส่วนแบ่งการลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 30 รูปแบบความร่วมมือเป็นลักษณะของการร่วมลงทุน
2)     Phase 2 Expanded Construction of Medlar Oil Production by Supercritical Co2 extraction
     - มูลค่าการลงทุน 110 ล้านหยวน ผลผลิตต่อปีคาดว่าจะสูงถึง 186 ล้านหยวน และมีกำไรสุทธิ 45.2 ล้านหยวน รูปแบบความร่วมมือเป็นลักษณะของหุ้นส่วน และการฝากขาย
3)     Construction of a 3,000 ton Long Dates Fresh – keeping Storage
     - มูลค่าการลงทุน 20.585 ล้านหยวน คิดเป็นการลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 12 ล้านหยวน รูปแบบความร่วมมือเป็นลักษณะของการร่วมลงทุนและความร่วมมือ หรือรูปแบบอื่น ๆ
            นอกจากนี้ยังมีการลงทุนจัดสร้างอาคารใหม่เพื่องานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลโลกครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยมีพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร และในงานแสดงสินค้าครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจาก 18 มณฑลทั่วจีน และจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย บรูไน อิหร่าน ตุรกี อียิปต์ สิงคโปร์ และประเทศไทย
               สำหรับปี 2551 ประเทศไทยจะนำคณะผู้ประกอบการจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงอุตสาหกรรม และคูหาประชาสัมพันธ์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 40 ราย เข้าร่วมงาน โดยใช้งบประมาณ ศอ.บต. และกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ยังจะมีการจัดคูหาแสดงการปรุงอาหารไทยและจำหน่ายอาหารไทยระหว่างงาน โดยร่วมมือกับร้านอาหารนโปลี ซึ่งมีความสนใจจะเปิดร้านอาหารไทยในนครอิ๋นชวนและไทยสนับสนุนเครื่องแกงสำเร็จรูปและเครื่องปรุงในการประกอบอาหารจากโรงงานในจังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังจะจัดคณะนักแสดงมาร่วมแสดงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของเขตหนิงเซี่ย ในพิธีเปิดงานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลครั้งที่ 3 นี้ด้วย 

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล : จุดเริ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย – หนิงเซี่ย 

“อาหารฮาลาล” (Halal Food) เป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งได้รับการอนุญาตตามศาสนบัญญัติอิสลามให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ ปัจจุบันตลาดอาหารดังกล่าวเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีประชากรมุสลิมประมาณ 1,500 ล้านคน ใน 186 ประเทศทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 – 30  ของประชากรโลก ทำให้แต่ละปีมีความต้องการอาหารฮาลาล  เป็นปริมาณมาก และมีมูลค่ารวมถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าฮาลาลเพียง 375 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.2 ของตลาดอาหารฮาลาลโลก

            หนิงเซี่ยซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลให้เป็นเขตปกครองตนเองที่ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในขณะที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็มีชาวมุสลิมอยู่กว่าร้อยละ 80 มีวัตถุดิบในการผลิตอาหารฮาลาลมากมาย อีกทั้งยังเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและมีประสบการณ์ด้านการผลิตอาหารและได้รับการยอมรับในตลาดโลก จากความคล้ายคลึงกันและศักยภาพของทั้งสองพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าขณะที่พื้นที่หนึ่งมีอุปสงค์ในวัตถุดิบ และอีกพื้นที่หนึ่งมีอุปทานจำนวนมาก ทั้งสองแห่งย่อมจะสามารถผนึกกำลัง และร่วมมือกันในการผลิตสินค้าอาหารฮาลาล เพื่อตอบสนองความต้องการระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ด้านอาหารที่กระจายไปทุกพื้นที่ทั่วโลกได้อย่างแน่นอน จากการสำรวจพบว่าความต้องการด้านสินค้าอาหารฮาลาลของโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตลาดมุสลิมของโลกก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของคนมุสลิมโดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางที่สูงขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของการส่งออกน้ำมันที่ราคาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งความนิยมในอาหารฮาลาลที่ขยายมาสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่คนมุสลิมในประเทศต่าง ๆ ซึ่งหันมาเน้นบริโภคอาหารที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น
             สำหรับประเทศไทย ภาครัฐก็ได้มีนโยบายสนับสนุนเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลของไทย อันสืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นการด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เน้นการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาด้านความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชากรในพื้นที่ ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการแก้ปัญหาการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็เร่งที่จะผลักดันให้เกิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดปัตตานี ขณะเดียวกันภาครัฐก็อยู่ในระหว่างการผลักดันให้จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันเป็นแหล่งผลิตสินค้าอาหารฮาลาลด้วย เนื่องจากมีหลายจังหวัดที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารฮาลาล สามารถพัฒนาเป็นฐานการผลิตอาหารฮาลาลที่สำคัญของไทยได้ ซึ่งหากมีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-หนิงเซี่ยที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

อนาคตความร่วมมือที่สดใสไทย – หนิงเซี่ย
 
           ปัจจุบันถือเป็นช่วงเริ่มต้นที่สดใสของไทยในการเปิดประตูตลาดฮาลาลให้ทั่วโลกได้สัมผัสและเข้าถึงมากยิ่งขึ้น โดยมีนโยบายของรัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนในลักษณะของการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ เนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบการเกษตรขนาดใหญ่ ทั้งยังมีศักยภาพในการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออก ขณะเดียวกันก็มีความชำนาญในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นอย่างดี จุดนี้จึงน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถขยายความร่วมมือกับเขตหนิงเซี่ยในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกันด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อันได้แก่ การที่ ศอ.บต. และจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ระหว่างเขตหนิงเซี่ยกับจังหวัดปัตตานี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินงาน ตลอดจนการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนเปิดศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าของไทยโดยเฉพาะจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนครอิ๋นชวนและเมืองสำคัญอื่น ๆ ของเขตหนิงเซี่ย รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการของเขตหนิงเซี่ยกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม ตามศักยภาพและความได้เปรียบของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ไทย-หนิงเซี่ยก้าวเข้าไปสู่การเป็นเมืองที่สามารถเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านเศรษฐกิจได้อย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
          นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่จะช่วยสนับสนุนให้ไทย-หนิงเซี่ยมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคตแล้ว ลักษณะเฉพาะทางสังคมของทั้งสองพื้นที่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในหลาย ๆ ด้าน โดยจะสามารถดึงศักยภาพด้านการค้า การผลิตที่ทั้งสองแห่งมี นำมาผสมผสานกับวัฒนธรรมที่โดดเด่นในการเป็นสังคมมุสลิม น่าจะเป็นจุดแข็งของการทำธุรกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทย-หนิงเซี่ยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การทูตวัฒนธรรม (cultural diplomacy) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน และนำมาซึ่งการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบอย่างแพร่หลาย ตลอดจนการเข้าใจถึงความแตกต่างของชนชาติในประเทศไทย ทั้งนี้การทูตวัฒนธรรมจะเป็นสื่อหลักที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นในสองประเทศระหว่างไทย-หนิงเซี่ยได้เป็นอย่างดี และส่งผลต่อการขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคต 

จัดทำโดย : นางสาวชนิดา อินปา นักพัฒนาระบบราชการ (ศึกษาดูงาน ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน)
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน


แหล่งข้อมูล
1)     หนังสือพิมพ์ China Daily คอลัมน์ Special Supplement ฉบับวันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2551 และวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม 2551       
2)     กรมส่งเสริมการส่งออก http://www.depthai.go.th/
3)     ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
4)     กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
5)     www.halalthailand.com/halal/
6)     ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน http://www.thaibizchina.com/

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Wednesday, 27 August 2008 )

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ