ซอกแซกเมืองฉินซีฮ่องเต้ ผู้เฒ่าชาวส่านซีอายุยืนถึง 115 ปี

ซอกแซกเมืองฉินซีฮ่องเต้ ผู้เฒ่าชาวส่านซีอายุยืนถึง 115 ปี

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,189 view

ย้อนรอยส่านซี : ต้นกำเนิดดาวจรัสแสงแห่งอายุวัฒนะ

เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะที่ชาวแต้จิ๋วรู้จักกันดีว่าเป็น 1 ใน 3 ของเทพเจ้า “ฮก” “ลก” “ซิ่ว” (福禄寿) หรือ เทพเจ้าแห่งความสุข เทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะ ตามลำดับนั้น ในบันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน (司马迁:史记,天官书) ยอดนักปราชญ์ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนได้กล่าวถึงตำนานความเป็นมาของเทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะไว้ว่า มีจุดเริ่มต้นจาก “ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ” ซึ่งเป็นดาวในตำแหน่งทิศใต้ของโลก

เมื่อสมัยที่จักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้ได้รวบประเทศเป็นหนึ่งเดียวก็ได้สร้างศาลบูชาดวงดาวแห่งอายุวัฒนะขึ้นที่เมืองเสียนหยางซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนในขณะนั้น (ปัจจุบันคือพื้นที่หนึ่งของเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี) ด้วยความเชื่อที่ว่าดวงดาวแห่งอายุวัฒนะเป็นสัญญาณบ่งบอกสันติสุข หากเห็นดวงดาวแห่งอายุวัฒนะปรากฏบนผืนฟ้า บ้านเมืองจะร่มเย็นสันติสุข แต่กลับกันหากคราใดที่ดวงดาวดังกล่าวริบหรี่แสงหรือลับหาย นั่นส่อถึงสัญญาณว่าสงครามกำลังย่างกรายเข้าเยือน ผืนฟ้าของเมืองเสียนหยางในขณะนั้นจึงเป็นแหล่งกำเนิดดวงดาวแห่งอายุวัฒนะที่ต่อมาวิวัฒนาการกลายเป็นตำนานแห่ง “เทพเจ้าซิ่ว” ในลัทธิเต๋านั่นเอง

บทบาทของ “ดวงดาวแห่งวัฒนะ” เริ่มปรากฎเด่นชัดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บันทึกประวัติศาสตร์ฮั่นซู (汉书:礼仪志)ได้กล่าวไว้ว่า จักรพรรดิหมิงตี้ (东汉明帝)เคยบำเพ็ญพิธีบูชาดวงดาวแห่งเทพวัฒนะ และให้ความสำคัญด้วยการดำเนินพิธีสักการะ อ่านบทสรรเสริญ และถวายของสักการะต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง จากนั้นได้จัดงานเลี้ยงรับรองพิเศษแก่ผู้เฒ่าที่มีอายุ 70 ขึ้นไปโดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ และเมื่องานเลี้ยงดังกล่าวเสร็จสิ้นลง พระองค์ยังได้พระราชทานของกำนัลต่าง ๆ และไม้เท้าแก่ผู้เฒ่าที่เข้าร่วมงาน

ไม้เท้าที่จักรพรรดิหมิงตี้มอบแก่ผู้เฒ่าในงานเลี้ยงรับรองมีลักษณะพิเศษคือ หัวไม้เท้าแกะสลักเป็น “ตัวนกเขาลาย” อันเป็นสัญลักษณ์เพื่ออวยพรให้ผู้เฒ่ามีสุขภาพแข็งแรง ร่มเย็นเป็นสุข และมีอายุมั่นขวัญยืน เนื่องจากนกเขาลายเป็นนกที่ไม่มีปัญหาเรื่องการหายใจติดขัด หรือสำลักอากาศ

จักรพรรดิหมิงตี้ได้ใช้โอกาสดังกล่าวแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าตนเป็นผู้นอบน้อม เคารพผู้อาวุโส และพระราชทานสิทธิพิเศษบางประการแก่ผู้อาวุโสด้วยการมอบไม้เท้าแห่งราชสำนักให้แก่ผู้เฒ่าที่เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองของพระองค์ อย่างไรก็ดี แม้การให้ความเคารพแก่ผู้อาวุโสเป็นการแสดงออกถึงนิสัยอันประเสริฐ แต่การแสดงออกดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในกลยุทธ์การปกครองเพื่อผูกมัดใจราษฏรของพระองค์

ทั้งนี้ ในปีคศ. 1981 นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบ “กระบอกไม้ไผ่จดบันทึกในสมัยราชวงศ์ฮั่น” ที่เมืองอู่เวย มณฑลกานซู ซึ่งจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคดีอาญาบางประการ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้เฒ่าที่มีไม้เท้าราชสำนักในครอบครอง มีคดีหนึ่งบันทึกว่า บุคคลผู้หนึ่งได้ตบตีทำร้ายผู้เฒ่าที่มีไม้เท้าราชสำนักในครอบครอง จึงถูกตัดสินประหารชีวิตและทิ้งศพประจานไว้เพื่อไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง คดีที่ 2 กล่าวถึง ข้าราชการท้องถิ่นระดับหมู่บ้านผู้หนึ่งได้จับกุมตัวผู้เฒ่า (ที่มีไม้เท้าราชสำนักไว้ในครอบครอง) โดยพลการ ด้วยสงสัยว่าผู้เฒ่าดังกล่าวได้ละเมิดทำผิดกฏหมาย แม้มิได้ทุบตีทำร้ายผู้เฒ่า แต่สุดท้ายข้าราชการผู้นั้นก็ได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิต

“กระบอกไม้ไผ่จดบันทึกในสมัยราชวงศ์ฮั่น” บางกระบอกยังได้จดบันทึกกฏหมายพาณิชย์ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้สูงอายุว่า เมื่อ 32 ปีก่อนคริสตกาล จักรพรรดิฮั่นเฉิง (汉成帝) ได้มีพระราชโองการว่า ผู้เฒ่าที่ไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดูสามารถประกอบการค้าเกี่ยวกับสุราได้ โดยรัฐจะงดเว้นการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ใดสมัครใจรับเลี้ยงดูผู้เฒ่าไร้ญาติก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเปิดโรงจำหน่ายสุราเช่นกัน”

หลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ช่วยไขปริศนาสำคัญที่ว่า ทำไมจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุอย่างมากจนกำหนดเป็นตัวบทกฏหมายดังกล่าว แน่นอนว่า การให้ความเคารพต่อผู้อาวุโสไม่ได้เป็นเพียงจริยธรรมที่งดงามเท่านั้น แต่ทฤษฎีการเคารพผู้อาวุโสคือรากเหง้าของระบบการปกครองในสังคมศักดินา แก่นแท้ของความกตัญญูคือการเชื่อฟังและเคารพต่อบิดา เฉกเช่นทฤษฎีสัมพันธภาพ 天地君亲师五伦ของขงจื้อ และเนื่องด้วยจักรพรรดิและขุนนางในสมัยดังกล่าวมีความสัมพันธ์ในลักษณะพ่อปกครองลูก ดังนั้น การสนับสนุนจริยธรรมความกตัญญูคือการส่งเสริมให้เหล่าบรรดาขุนนางซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อจักรพรรดินั่นเอง

อย่างไรก็ดี ประชาชนทั่วไปสนใจ “ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ”  ในแง่มุมเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาว “ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ” จึงได้วิวัฒนาการมาเป็น “เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะ” ตามตำนานของลัทธิเต๋าในเวลาต่อมา

 

ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ” วิวัฒน์สู่ “เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะ”

ตำนานแห่งเทพยุทธ์ (神仙传)บทประพันธ์ของนายเก๋อ หง (葛洪ปี 284-364)นักปราชญ์สำนักลัทธิเต๋าในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกได้กล่าวไว้ว่า “เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะ” แท้ที่จริงคือบรรพบุรุษต้นตระกูลเผิง(彭)ซึ่งเป็นนามสกุลหนึ่งของชาวจีนในปัจจุบัน โดยผู้เฒ่าผู้นี้มีอายุยืนยาวถึง 767 ปีในสมัยราชวงศ์เซี่ย-ราชวงศ์ซาง และดำรงชีวิตอยู่ที่ตำบลเผิงซาน เมืองเหมยซาน มณฑลเสฉวน การมีอายุวัฒนะของผู้เฒ่าเผิงนี่เองที่สร้างตำนานเล่าขานถึงเคล็ดลับการบำรุงร่างกายให้มีอายุมั่นขวัญยืน และก่อเกิดตำนาน “เทพเจ้าซิ่ว” มาจนถึงทุกวันนี้

 

สมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น ทฤษฎีการบำรุงรักษาสุขภาพร่างกายตามแนวปฏิบัติในลัทธิเต๋าเริ่มมีระบบที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดขึ้น มีการจดบันทึกต่าง ๆ ที่อ้างอิงเคล็ดลับการดูแลสุขภาพของผู้เฒ่าต้นตระกูลเผิง โดยอาศัยวิธี “กลับคืนสู่ธรรมชาติตามแนวลัทธิเต๋า” เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะจึงได้กลายเป็นตำนานที่ถูกกล่าวขานในวงกว้างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นอย่างมากตามวัฒนธรรมขงจื้อที่ได้สืบทอดต่อกันมานับแต่ครั้งบรรพกาล แม้วัฒนธรรมดังกล่าวจะชงักขาดช่วงไปบ้างในบางยุคสมัย แต่รากแท้แห่งวัฒนธรรมจีนที่หยั่งลึกมานานนับกว่าพันปีมิสามารถลบเลือนทิ้งได้ในเวลาแค่ช่วงทศวรรษ จวบจนปัจจุบัน “เทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะ” นอกจากได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอวยพรให้ผู้อาวุโสมีอายุมั่นขวัญยืนด้วยสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้เฒ่าที่มีอายุเกือบร้อยปี ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ให้ความสำคัญแก่การรวบรวมสถิติผู้เฒ่าภายในประเทศที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป เนื่องจากจำนวน “ผู้เฒ่าร้อยปี” เป็นดัชนีชี้วัดระดับคุณภาพชีวิต ความสุข สาธารณสุขของพื้นที่ต่าง ๆ และการพัฒนาความเป็นเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในจีนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ค. 2551 สมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศจีนได้จัดกิจกรรมผู้เฒ่าอายุวัฒนะแห่งประเทศครั้งที่ 1 ขึ้นที่เมืองหยูเกาในมณฑลเจียงซู เพื่อคัดเลือกและจัดอันดับผู้เฒ่าที่มีอายุมากที่สุดในประเทศจีน 10 อันดับแรก โดยผู้เฒ่าที่อายุมากที่สุดในจีนพบที่เขต Kashkar ในเขตปกครองตนเองซินเจียงมีอายุ 121 ปี

 

ผู้เฒ่าส่านซีอายุยืน 115 ปี

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่องานผู้สูงอายุมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นมณฑลต้นกำเนิดตำนาน “ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ” ที่กล่าวมาข้างต้น ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มณฑลส่านซีมีผู้เฒ่าที่อายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 496 ราย แบ่งเป็นผู้เฒ่าเพศหญิง 386 ราย และเพศชาย 110 ราย โดยผู้เฒ่าอายุเกิน 100 ปีเหล่านี้มีอายุสูงสุด 115 ปี และต่ำสุด 102 ปี ทั้งนี้จำนวนของ “ผู้เฒ่าร้อยปี” แบ่งแยกตามเมืองที่อยู่อาศัยซึ่งกระจายทั่วมณฑลส่านซี 3 ส่วนดังนี้

1. เขตที่ราบกวานจง (นครซีอาน เมืองเป่าจี เมืองเว่ยหนาน เมืองเสียนหยาง และเมืองถงชวน เขตหยางหลิง) ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่เจริญที่สุดในส่านซีมี “ผู้เฒ่าร้อยปี” มากที่สุดคือ 293 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในนครซีอานถึง 98 ราย

2. ตอนใต้ของมณฑล (เมืองอานคัง เมืองฮั่นจง) ซึ่งเป็นเขตเทือกเขามี “ผู้เฒ่าร้อยปี”  145 ราย

3. ตอนเหนือของมณฑล (เมืองหยูหลิน เมืองเอี๋ยนอาน) ซึ่งเป็นเขตทะเลทรายและที่ราบสูงดินเหลืองมี “ผู้เฒ่าร้อยปี” น้อยที่สุดคือ  58 ราย

จากสถิติข้างต้น จึงเห็นได้ชัดว่า นครซีอานเป็นเมืองที่มี “ผู้เฒ่าร้อยปี” กระจุกตัวอาศัยอยู่มากที่สุดในบรรดา 11 เมืองของส่านซี (98 ราย) ขณะที่เขตหยางหลิงมี “ผู้เฒ่าร้อยปี” น้อยที่สุดคือ  5 ราย

 

เสาะหายาอายุวัฒนะ : เบื้องหลังผู้เฒ่าอายุยืน

เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกองสิทธิประโยชน์ใน สนง. คณะกรรมการเพื่องานผู้สูงอายุมณฑลส่านซีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เขตที่ราบกวานจงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันมากที่สุดในส่านซี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จำนวนของผู้สูงอายุจะมีมากกว่าในพื้นที่อื่น อีกทั้งเป็นเขตที่ตั้งอยู่กึ่งกลาง “เขตฉินชวน 800 ลี้” (ที่ราบเชื่อมภาคเหนือและภาคใต้ของส่านซีก่อนมุ่งใต้สู่เสฉวน) คุณภาพของน้ำและดินมีความเป็นด่างอ่อน ดังนั้นหากดื่มและใช้เป็นเวลานานจะช่วยปรับสมดุลของกรดและด่างในร่างกายได้เป็นอย่างดี ส่งผลบำรุงร่างกายให้แข็งแรงได้ นั่นย่อมสัมพันธ์กับการมีอายุยืนยาวแน่นอน นอกจากนี้ “ผู้เฒ่าร้อยปี” เพศหญิงมีจำนวนสูงกว่าเพศชายอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยเรื่องอาชีพและวิถีการดำเนินชีวิต หลังการสำรวจพบสถิติที่น่าพอใจว่า ร้อยละ 80 ของผู้เฒ่าสตรีมีอาชีพเป็นแม่ศรีเรือน (แม่บ้าน) ที่เหลือมีอาชีพเป็นอาจารย์และช่างตัดผม นอกจากนี้ วิถีการทำงานและการดำรงชีวิตในสังคมของเพศชายมีความกดดันสูงกว่า  อีกทั้งเพศชายมักนิยมดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ จึงมักมีอายุขัยน้อยกว่าเพศหญิง และสมองของเพศหญิงมีระดับความเร็วในการรับรู้ความเหนื่อยล้าช้ากว่าทำให้หลับง่ายกว่าเพศชาย  

การสำรวจยังพบว่า “ผู้เฒ่าร้อยปี” เหล่านี้ 1) มักอาศัยอยู่ในครอบครัวที่ปรองดองสมานฉันท์ 2) มีอุปนิสัยร่าเริงแจ่มใส  3) มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีและแบ่งสรรเวลาทำงานและพักผ่อนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังผู้เฒ่าอายุยืนในส่านซีดังกล่าวมีวิถีการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกับการสำรวจผู้เฒ่าร้อยปีทั่วประเทศจีน ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมผู้เฒ่าอายุวัฒนะแห่งประเทศครั้งที่ 1 ขึ้นที่เมืองหยูเกาในมณฑลเจียงซูเมื่อเดือนก.ค. 2551 ได้รวบรวมเคล็บไม่ลับของผู้เฒ่าร้อยปีที่มีอายุมากที่สุด 10 อันดับแรกของจีน ดังนี้ 1) เป็นผู้เฒ่าที่มีจิตใจสงบ ไม่จุกจิก 2) มีกิจวัตรประจำวัน แบ่งสรรเวลาการทำงานและพักผ่อนได้ดี และชอบออกกำลังกาย 3) มีเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น 4) มีครอบครัวที่สมานฉันท์ ลูกหลานรู้คุณกตัญญู 5) มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ดี บ้านพักมีความเรียบง่าย
 

การดูแลผู้สูงอายุของภาครัฐ

ปัจจุบันประเทศจีนมีประชากรราว 1,300 ล้านคน ประกอบด้วยประชากรวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) 256 ล้านคน วัยกลางคน (อายุ 15- 59 ปี) 911 ล้านคน และวัยชรา (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 153 ล้านคน โดยเป็นวัยชราที่อายุ 65 ปีขึ้นไปถึง 106 ล้านคน ทั้งนี้ โครงสร้างอายุของประชากรจีนในวัยเด็ก วัยกลางคน และวัยชราคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.4, 69 และ 11.6 ตามลำดับ ขณะที่มณฑลส่านซีมีพื้นที่ 205,800 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยประชากร 37.62 ล้านคน โดยประชากรในมณฑลส่านซีมีโครงสร้างที่ไม่ต่างจากระดับประเทศมากนักคือ ประกอบด้วยวัยเด็ก วัยกลางคน และวัยชราที่อายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.13, 72.91  และ 8.96 ตามลำดับ  

ด้วยโครงสร้างอายุทั้งระดับประเทศและระดับมณฑลดังกล่าว บ่งชี้ว่าสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจสร้างปัญหาภาวะการเลี้ยงดูผู้สูงอายุของประเทศได้ ดังนั้นรัฐบาลกลางจีนจึงได้มองการณ์ไกลและวางแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมกำหนดนโยบายดูแลผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ขึ้น เพื่อรองรับกับสัดส่วนประชากรที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการตอบแทนพระคุณแก่ผู้สูงอายุที่เคยเสียสละเพื่อส่วนรวมในสมัยที่จีนเริ่มก่อตั้งประเทศในระยะต้น ทั้งนี้ การให้สวัสดิการและสิทธิพิเศษแก่ผู้สูงอายุในจีนมีกรณีที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษาเป็นแบบอย่างแก่รัฐบาลไทยในบางแง่มุม

สิทธิพิเศษพื้นฐานที่ผู้สูงอายุชาวจีนได้รับจากภาครัฐได้แก่ บัตรสิทธิพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นสวัสดิการและบริการจากสังคมที่ครอบคลุมด้านการเลี้ยงดู การรักษาพยาบาล (การตรวจสุขภาพฟรีแก่ผู้สูงอายุ) การดำรงชีพ (ได้รับเงินบำนาญ ได้รับส่วนลดในการซื้อตั๋วรถไฟและเครื่องบิน) การท่องเที่ยว (ไม่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรมบางแห่ง) และการศึกษาของผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ การดำเนินงานรองรับด้านผู้สูงอายุของรัฐบาลส่านซีได้วางเป้าหมายไว้ว่า  ภายในปี 2555 ส่านซีจะสร้างศูนย์สงเคราะห์คนชราภายในเขตเมืองให้ครบทั่วทุกอำเภอ ๆ 1 แห่ง (ทั่วส่านซีมี 107 อำเภอ) รวมทั้งจะสร้างสถานสงเคราะห์คนชราระดับตำบลขี้นใหม่อีก 175 แห่ง ขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงสถานสงเคราะห์คนชราที่มีอยู่ในปัจจุบัน 615 แห่งให้ดีขึ้น

สิทธิพิเศษของผู้สูงอายุแต่ละมณฑลในจีนอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันบ้าง แต่ประเด็นเนื้อหาหลักมีความคล้ายคลึงกัน แต่กระนั้น งานการดูแลและให้สวัสดิการแก่ผู้สูงอายุของจีนยังอยู่ในระยะการปรับปรุงตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการกระจายสวัสดิการของผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน “ดวงดาวแห่งอายุวัฒนะ” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดตำนานเทพเจ้าแห่งอายุวัฒนะข้างต้น หรือภาษาจีนเรียกว่า “寿星” ได้กลายเป็นคำเรียกผู้เฒ่าที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนยาว ฉะนั้นแล

 

จัดทำโดย

ดุจเนตร อาจหาญศิริ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

วันที่ 3 มี.ค. 2552

 

แหล่งข้อมูล

หนังสือพิมพ์ Chinese Business View ฉบับวันที่ 24 ก.พ. 2552

http://www.sz60.com.cn/news_view.asp?newsid=31853

www.baidu.com

http://www.luonan.gov.cn

http://member.dongao.com/article/63278.html

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ