ก้าวประวัติศาสตร์การค้าไทย-ส่านซี เมื่อทัพนักธุรกิจไทยนำสินค้าเข้าสำรวจตลาดซีอาน

ก้าวประวัติศาสตร์การค้าไทย-ส่านซี เมื่อทัพนักธุรกิจไทยนำสินค้าเข้าสำรวจตลาดซีอาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ส.ค. 2564

| 1,028 view

เขียนโดย adminxian   

          เมื่อวันที่ 4 – 8 เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจัดการประชุมเพื่อการค้าการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนที่ชื่อว่า  “งาน Investment & Trade Forum For Cooperation between East & West China ครั้งที่ 13 (ITFCEW)” ที่นครซีอาน มณฑลส่านซี ซึ่งปีนี้นับเป็นปีแรกในรอบประวัติศาสตร์ที่งานดัวกล่าวคึกคักไปด้วยกองทัพนักธุรกิจไทยที่นำสินค้าเข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายถึง 70 คูหา และเป็นปีแรกในรอบประวัติศาสตร์เช่นกันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพร้อมใจนำทัพสินค้าเด่นประจำจังหวัดเข้าชิมลางผู้บริโภคในมณฑลส่านซี อย่างไรก็ดี ก่อนที่เราจะไปสำรวจตลาดสินค้าไทยพร้อม ๆ กับกองทัพนักธุรกิจดังกล่าว ในบทความตอนนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานขอรายงานสรุปผลการจัดงาน ITFCEW ครั้งที่ 13 ที่สำคัญดังนี้

1. งาน Investment & Trade Forum For Cooperation between East & West China เป็นงานแสดงสินค้าและจัดการประชุมทางธุรกิจการค้า/การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน  จัดขึ้นเป็นประจำช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลกลางและมณฑลต่าง ๆ  33 มณฑล  โดยสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีนมณฑลส่านซีเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน

2. การจัดงานฯ ครั้งที่ 13 ในปี 2552 นี้นับเป็นครั้งแรกที่มีหน่วยงานราชการถึง 36 แห่งเป็นประธานร่วมในการจัดงาน ประกอบด้วยกระทรวงและสำนักงานคณะกรรมการระดับประเทศของจีนถึง 7 หน่วยงาน คือ สนง.คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน (CCPIT) สนง. อุตสาหกรรมและการค้าแห่งชาติ สนง. ตรวจสอบคุณภาพสินค้าแห่งชาติ  สนง. เพื่อกิจการไต้หวันแห่งชาติจีน กระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  รัฐบาลมณฑล/เขตปกครอง 28 แห่ง และมีผู้แทนประเทศต่าง ๆ ร่วมงาน 44 ประเทศ และผู้บริหารหน่วยงานระดับกระทรวงและมณฑล 45 หน่วยงานนำคณะเข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ภายในงานมีการลงนามสัญญาการลงทุนต่าง ๆ ดังนี้

     2.1  มูลค่ารวมสัญญาโครงการที่ใช้เงินลงทุนจากต่างชาติ 5,008  ล้านดอลล่าร์สหรัฐ  เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 31.2
     2.2  มูลค่ารวมการลงทุนสัญญาโครงการพันธมิตรภายในประเทศ 395,565 ล้านหยวน
     2.3  มูลค่ารวมการส่งมอบสัญญาลิขสิทธิ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 104 ล้านหยวน
     2.4  มูลค่ารวมสัญญาการค้าภายในประเทศที่ตอบรับการส่งมอบแล้ว 41,286 ล้านหยวน 

3. ภายในงานดังกล่าวประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ การประชุมหารือทางธุรกิจและการลงทุน และการจัดแสดงสินค้า โดยในส่วนของการจัดแสดงสินค้าแบ่งเขตจัดแสดงออกเป็น 6 ส่วน ภายใน 5 อาคารจัดแสดง ได้แก่ ส่วนจัดแสดงเพื่อการลงทุนและความร่วมมือ ส่วนจัดแสดงสำหรับกิจการต่างประเทศ ส่วนจัดแสดงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ส่วนจัดแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนจัดแสดงเพื่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และส่วนจัดแสดงเพื่อการผลิตและประกอบ รวม 2,600 คูหา ในจำนวนนี้ เป็นคูหาจัดแสดงจากต่างประเทศรวม 27 ประเทศ 263 คูหา ซึ่งประกอบด้วยคูหาจากประเทศไทยรวม 70 คูหา

4. ตลอดการจัดงานมีนักธุรกิจจีนและต่างประเทศ เข้าร่วมงานมากกว่า 120,000 คน และมีจำนวนผู้เข้าชมงานสูงถึง 600,000 กว่าคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 กว่าร้อยละ 20 และมีนักข่าว 1,072 คนจากสำนักข่าวข่าวทั้งในและต่างประเทศรวม 305 แห่งร่วมรายงานข่าวการจัดงาน

5. ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ การจัดงานครั้งนี้มีคณะผู้เข้าร่วมงานรวม 200 คณะจาก 44 ประเทศ/ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และมีนักธุรกิจต่างชาติ 5,200 คนได้เข้าร่วมงานการประชุมและนำสินค้าเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ซึ่งนับเป็นงานที่มีนักธุรกิจต่างชาติเข้าร่วมมากที่สุดในภาคตะวันตกของจีน

6. ลักษณะพิเศษของการจัดงานครั้งนี้ คือ ความโดดเด่นของการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่มีมณฑลต่าง ๆ 13 มณฑล เครือกองทัพเพื่อการผลิตและก่อสร้างเขตปกครองตนเองซินเจียง และสำนักงานการท่องเที่ยวต่างประเทศ 2 ประเทศ คือ สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งเกาหลีใต้ประจำกรุงปักกิ่ง และสำนักงานการท่องเที่ยวมาเลเซียเข้าร่วมจัดแสดงบูธ นอกจากนี้ ยังมีการจัดการประชุมเพื่ออุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมได้แก่ การประชุมเพื่อกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวแห่ง (ส่านซี) ประเทศจีน  และการประชุมสุดยอดด้านอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและการแนะนำโครงการอุตสาหกรรมโบราณวัตถุแห่งภาคตะวันตกจีน เป็นต้น

 

7. ในส่วนของการเข้าร่วมงานของฝ่ายไทย สรุปดังนี้

     7.1 คณะผู้เข้าร่วมงานฝ่ายไทยรวม 70 คูหา ประกอบด้วย 3 คณะ คือ

                 - คณะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ 17 คน โดยมีผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย นายราเชนทร์ พจนสุนทร  อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก นางเบญจวรรณ รัตนประยูร ที่ปรึกษาการพาณิขย์ และนางจิรภาพรรณ วรพงศ์ ผอ.สคต.เฉิงตู และผู้ประกอบการภาคเอกชนจาก 38 บริษัท เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้ารวม 50 คูหา และเข้าร่วมงานการประชุมเพื่อหารือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ส่านซีเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2552

                 - คณะผู้แทนจังหวัดสุโขทัยรวม 28 คน โดยมีนายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นหัวหน้าคณะเดินทางนำคณะผู้บริหารจังหวัดสุโขทัย ได้แก่ นายสุรีย์ จิระเสวี ปลัดจังหวัดสุโขทัย นายชัยยงค์ วุฒิมานานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสุโขทัย นายวงศ์ศักดิ์ จารุวนาลัย พาณิชย์จังหวัดสุโขทัย นายเกษม ธาราวิวัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น และผู้ประกอบการภาคเอกชนจาก 8 บริษัทร่วมออกบูธแสดงสินค้ารวม 10 บูธ และเข้าร่วมงานการประชุมเพื่อหารือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ส่านซี

                - คณะผู้แทนจังหวัดปทุมธานีรวม 32 คน โดยมีนายพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีเป็นหัวหน้าคณะเดินทางนำคณะผู้บริหารจังหวัดปทุมธานี และผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้ารวม 10 คูหา และเข้าร่วมงานการประชุมเพื่อหารือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ส่านซี โดยคณะฯ ได้รับการประสานงานจากนายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา รองผอ. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และนาย Jacky Chen ประธานสมาคมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประเทศไทย

     7.2 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2552 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างไทย-ส่านซีรวม 2 ฉบับ ดังนี้

                 - เวลา 10.30 น. นายเกษม ธาราวิวัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสุโขทัย และนางหลี่ เสวี่ยเหมย (Li Xuemei) อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลส่านซีได้ร่วมลงนาม MOU เพื่อกระชับกิจกรรมความร่วมมือและประชาสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ในพิธีลงนามดังกล่าวได้มี นายจิ่ง จุ้นไห่ (Jing Junhai) รองผู้ว่าการมณฑลส่านซี ผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายพันธ์เทพ ศรีวนิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา รองผอ. สถาบันSMEs และนายวศิน เรืองประทีปแสง รักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

                 - เวลา 02.30 น. นายเกษม ธาราวิวัฒน์ รองประธานหอการค้าสุโขทัย และนายป๋าย เจี้ยนอู่ (Bai Jianwu) รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีนมณฑลส่านซี (CCPIT) ได้ร่วมลงนาม MOU ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างหน่วยงานทั้งสอง ทั้งนี้ในพิธีลงนามดังกล่าวได้มี นายจ้าว เต๋อเฉวียน (Zhao Dequan) รองประธานสภาประชาชนมณฑลส่านซี  นายหยู เสี่ยวตง (Yu Xiaodong) ผอ. ฝ่ายกิจการประชุม CCPIT จีน พร้อมด้วยผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และนายวศิน เรืองประทีปแสง รักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

     7.3 การเข้าร่วมการประชุมด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซีเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2552 ประกอบด้วย      

                  1.) เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2552 เวลา 10.00 น. กรมพาณิชย์มณฑลส่านซีและกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมจัดงาน “การประชุมเพื่อกระตุ้นและแนะนำการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-ส่านซี“ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน ประกอบด้วยฝ่ายไทย 90 คน โดยมีนายจิ่ง จุ้นไห่ รองผู้ว่าการมณฑลส่านซี นางหลี่ เสวี่ยเหมย อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑล และผศ.ดร.วีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์และประชาสัมพันธ์สภาพการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ส่านซี โดยมีผู้ว่าการจังหวัดสุโขทัย รองผู้ว่าการจังหวัดปทุมธานี สถาบันSMEs  และรักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน พร้อมคณะผู้ประกอบการฝ่ายไทยและส่านซีร่วมการประชุมดังกล่าว

                  2.) เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2552 เวลา 15.00 น. นายเกษม ธาราวิวัฒน์ รองประธานหอการค้าจังหวัดสุโขทัยเป็นผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมแสดงปาถกฐาในการประชุมโต๊ะกลมมิตรภาพความร่วมมือนานาชาติแห่งภาคตะวันตกจีน “ซีอาน” ครั้งที่ 5  ในหัวข้อ “การให้บริการของสมาคมการค้าภายใต้วิกฤตการณ์การเงินโลก ทั้งนี้ มีสมาคมการค้านานาชาติ 40 กว่าแห่งเข้าร่วมประชุม 

     7.4 ในส่วนของบูธจัดแสดงของฝ่ายไทยมีทั้งสิ้น 70 คูหา ประกอบด้วย สินค้าเชิงบริการ ได้แก่ การนวดแผนโบราณจากวัดโพธิ การสาธิตการทำขนมไทย และศิลปะการลงสีบนหัวโขน สินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าไหมเครื่องประดับเงิน อุปกรณ์ตกแต่งบ้านประเภทดอกไม้และหลอดไฟประดิษฐ์ เทียนหอม สินค้าประเภทอาหารและเครื่องสำอาง ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว ปลาทอดกรอบ ผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์สปา ยาหม่องสมุนไพร และสินค้าประเภทเสื้อผ้าและกระเป๋าสตรีเป็นต้น 

8. มณฑลกวางตุ้งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานร่วมในการจัดงานฯ ครั้งที่ 14 ในระหว่างวันที่ 6 - 9 เม.ย. 2553  

 

จัดทำโดย
ดุจเนตร อาจหาญศิริ
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 11 เม.ย. 2552  

ภาพโดย ดุจเนตร อาจหาญศิริ และภาพบางส่วนจากเวปไซต์รายงานข่าว

แหล่งข้อมูล
การสำรวจภาคสนามโดย ดุจเนตร อาจหาญศิริ
หนังสือพิมพ์ Chinese Business View , Shaanxi Daily News, Xi’an Evening News, Xi’an Daily News ฉบับวันที่ 4 – 11 เม.ย. 2552
http://www.sxdofcom.gov.cn/swt/ShowArticle.asp?ArticleID=5882

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 13 April 2009 )

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ