วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ส.ค. 2565
กานซู แหล่งพลังงานทดแทนของจีนที่น่าจับตามอง
กานซูเป็นแผ่นดินตอนในที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีปริมาณน้ำฝนน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง มีภูมิอากาศแบบมรสุมเขตอบอุ่น อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของกานซูมี 5 ประเภท คือ โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Nonferrous Metals) การหลอมโลหะ น้ำมัน วัตถุดิบและพลังงาน บริเวณ Hexi Corridor (河西走廊) 1 ในกานซูเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ด้านพลังงานลม โดยเฉพาะอำเภอกวาโจว (ถูกขนานนามว่าเป็น “คลังลมของโลก”) เมืองยู่เหมิน (ถูกขนานนามว่าเป็น “แหล่งลม”) และอำเภอปกครองตนเองชนชาติมองโกลซู่เป่ยของเมืองจิ่วเฉวียน (酒泉市) ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีน คาดกันว่า Hexi Corridor น่าจะมีพลังงานลมสะสมราว 200 ล้านkW (กิโลวัตต์) เฉพาะที่เมืองจิ่วเฉวียนคาดว่าจะมีถึง 150 ล้านkW แต่รัฐบาลได้วางแผนที่จะพัฒนาประมาณ 40 ล้านkW ก่อนในเบื้องต้น และในอนาคตเมืองจิ่วเฉวียนจะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญด้านพลังงานลมของจีน
ปี 2552 นับเป็นปีที่มณฑลกานซูได้รับการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างมาก ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาิทิตย์ พลังงานชีวภาพในครัวเรือน พลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ อีกทั้งได้มีการส่งกระแสไฟฟ้าสู่ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคเหนือของจีนอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอานขอนำทุกท่านติดตามความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนของกานซู มณฑลตอนในของจีนที่น่าจับตามอง ว่าได้มีการพัฒนาพลังงานทดแทนในแต่ละด้านที่โดดเด่นอย่างไรบ้าง...
พลังงานลม
จากสถิติสำนักงานพลังงานแห่งชาติปี 2552 จีนผลิตไฟฟ้ารวม 874.07 ล้านkW เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนร้อยละ 10.23 โดยในจำนวนนี้เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล 652.05 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.16 จากพลังงานน้ำ 196.79 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.01 และจากพลังงานลม 16.13 ล้านkW เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.96 นับเป็นปีที่จีนมีการพัฒนาพลังงานลมอย่างรวดเร็ว และจาก “แผนส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานลม” ฉบับร่างของจีนได้เสนอว่า ภายในปี 2563 จีนจะพัฒนาพลังงานลมให้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 150 ล้านkW ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระยะกลาง-ยาว” ที่ได้วางไว้เมื่อปี 2550 ถึง 5 เท่า
นอกจากนี้ จีนเตรียมสร้างเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW 7 แห่งใน 6 มณฑล ได้แก่ กานซู ซินเจียง เหอเป่ย จี๋หลิน มองโกลเลียใน และเจียงซู ซึ่งเขตพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW ที่ได้เริ่มการก่อสร้างแห่งแรก คือ เขตพลังงานลมที่เมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู ส่วนเขตพลังงานลมอีก 6 แห่ง 5 มณฑลที่เหลือ คาดว่าแผนโครงการคงจะเริ่มดำเนินการเร็ว ๆ นี้
“แผนพัฒนาเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW เมืองจิ่วเฉวียน (酒泉千万千瓦级风电基地)” ขอเรียกสั้น ๆ ว่า เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียน ตั้งอยู่ที่เมืองยู่เหมินในเขตปกครองของเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) เมื่อเดือนเมษายน 2551 โดยแผนดังกล่าวระบุว่า ภายในปี 2558 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เมืองจิ่วเฉวียนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมสูงถึง 12.71 ล้านkW นับเป็นเขตพลังงานลมระดับ 10 ล้านkW แห่งแรกของจีน หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถประหยัดพลังงานถ่านหินได้ปีละ 10.20 ล้านตัน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กว่า 20 ล้านตัน
และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2552 เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนระยะที่ 1 ได้เริ่มโครงการอย่างเป็นทางการแล้ว งบประมาณในการลงทุนคาดว่าจะสูงถึง 300,000 ล้านหยวน ซึ่งการลงทุนและกำลังการผลิตไฟฟ้าจะมากกว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำซานเสีย (三峡大坝) 2 เท่าตัว ปัจจุบันมีบริษัทชั้นแนวหน้าด้านพลังงานของจีีนจำนวนมาก ทั้งบริษัทที่ได้รับสัมปทานผลิตกระแสไฟฟ้าและบริษัทผลิตอุปกรณ์พลังงานลมได้เริ่มการก่อสร้างแล้วเช่นกัน
บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนด้านผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม เช่น Guodian (中国国电) , Datang (大唐集团) , CPI (中国电力) และ CGNPC (中广核) ต่างทยอยเข้ามามากมาย บริษัทผลิตอุปกรณ์พลังงานลมที่มีชื่อเสียงของจีนรวมกว่า 18 บริษัทได้เข้าดำเนินโครงการในกานซูแล้ว เช่น บริษัท Goldwind (金凤科技) , Sinovel (华锐风电) และ Sinoma (中材科技) โดยผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ติดตั้งกังหันลม เช่น ใบพัดกังหันลม เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าสำหรับผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ฐานเสาและฝาครอบใบพัด รวมมูลค่าการลงทุน ณ ปัจจุบันกว่า 3,400 ล้านหยวน เพื่อให้กานซูกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมที่สำคัญของจีน
ปลายปี 2552 เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียน มีสถานีผลิตกระแสไฟฟ้า 5 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2.16 ล้านkW คิดเป็น 1/5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของมณฑล นอกจากนี้ ยังมีแผนจะพัฒนาให้มีกำลังการผลิตถึง 5.16 ล้านkW ภายในปี 2553 นี้ ปี 2552 กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมของเมืองจิ่วเฉวียนเติบโตกว่า 3 เท่า มีรายได้การคลังเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมถึงได้พัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยช่วงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้ามีการจ้างแรงงานถึง 15,000 คน ช่วงสถานีไฟฟ้าดำเนินการใช้แรงงาน 2,500 คน อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมมีการจ้างแรงงานกว่า 5,000 คน และภาคบริการที่เกี่ยวข้องจ้างแรงงานอีกกว่า 5,000 คน
กานซูจะใช้เวลา 10 ปีต่อจากนี้ พัฒนาเขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนให้กลายเป็นเขตผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ภายใต้สโลแกนและเป้าหมายที่เรียกว่า ลู่ซ่างซานเสีย (陆上三峡) แปลว่า เขตสามช่องเขาบนดิน โดยมีแผน 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 แผน 5 ปี จะพัฒนาให้เขตดังกล่าวมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 10 ล้านkW ภายในปี 2558
ระยะที่ 2 แผน 10 ปี จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 20 ล้านkW ภายในปี 2563
ระยะที่ 3 แผนหลังจาก 10 ปี จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 30 ล้านkW หลังปี 2563
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะพัฒนาด้านพลังงานลมอย่างรวดเร็ว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มิฉะนั้นปัญหาอาจตามมาอย่างไม่คาดคิด รวมถึงทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย เช่น อุปกรณ์ในระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีความล้าสมัยและปัญหาด้านเทคโนโลยี มีหลายฝ่ายได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานลมในกานซู ดังนี้
1. ปัญหาด้านระบบส่งกำลังไฟฟ้า การปรับระดับปริมาณไฟฟ้าและการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบ
ด้วยเหตุที่โรงผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่จะสร้างไว้ในที่ห่างไกลชุมชน การส่งกระแสไฟฟ้าจากที่ไกล ๆ มักประสบปัญหาแรงดันไฟตก การสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบสูง และส่งไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อย ในทางตรงข้าม หากมีการส่ง-จ่ายไฟฟ้าด้วยแรงดันยิ่งสูง การสูญเสียจะยิ่งต่ำ และส่งไฟฟ้าได้ในปริมาณมาก เขตพลังงานลมจิ่วเฉวียนระดับ 10 ล้านkW จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้อย่างเข้มงวด เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดพิเศษ เมื่อผลิตแล้วก็ต้องส่งและจำหน่ายออกไปทันที หากผลิตมากเกินไปก็จะะเกิดสภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน แต่หากผลิตแล้วไม่สามารถส่งไฟฟ้าออกไปได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ืทันที
อันที่จริง กานซูได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว เดือนมีนาคม 2551 กานซูได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีส่งและแปลงไฟฟ้าแรงดันสูง 750 kV (กิโลโวลต์) หรือ Extra High Voltage (EHV มีระดับแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 230 kV-1,000 kV) จากอำเภอกวาโจว – เมืองจิ่วเฉวียน – นครหลานโจว และโครงการดังกล่าวได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2552 อย่างไรก็ตาม สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 750 kV ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบัน กานซูได้เริ่มแผนวิจัยการส่งไฟฟ้าด้วยแรงดัน 800 kVแล้วและได้ทดลองส่งกระแสไฟฟ้าไปยังภาคกลางและภาคเหนือของจีน
2. ปัญหาด้านต้นทุน
การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมมีต้นทุนสูงและผลกำไรน้อยกว่าการใ้ช้พลังงานทดแทนอื่นในการผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม 1 kW ต้องใช้เงินทุนกว่า 9,000 หยวน หากใช้พลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า 1 kW จะใช้เงินทุนราว 6,000 หยวน และหากใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะใช้เงินทุนน้อยลงไปอีก
พลังงานแสงอาทิตย์
เดือนธันวาคม 2551 โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่ง (Grid-Connected Photovoltaic Power Systems) ขนาด 1 MW (เมกะวัตต์) ได้ก่อกำเนิดขึ้นที่เมืองตุนหวง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู โดยบริษัท Datang (大唐武威太阳能) เป็นผู้ได้รับสัมปทาน นับเป็นโครงการสถานีไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งที่ก่อสร้างในพื้นที่แห้งแล้งเป็นแห่งแรกของจีน
ต่อมา เดือนมีนาคม 2552 มี 2 บริษัทได้รับสัมปทานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งขนาด 10 MW (รวมเป็น 20 MW) และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเมืองตุนหวง บริษัทที่ได้รับสัมปทานดังกล่าวคือ บริษัท SDIC Huajing Power Holding (国投华靖电力) และบริษัท China Guangdong Nuclear Energy Development (中广核能开发) ซึ่งทางบริษัท SDIC Huajing Power Holding ได้ทดลองส่งกระแสไฟฟ้า 1 MW อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 โดย 2 โครงการของ 2 บริษัทดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนรวม 473 ล้านหยวน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปีละ 32.74 ล้านkWh คาดว่าก่อนปลายปี 2553 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ นับเป็นโครงการสถานีไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดเชื่อมต่อระบบสายส่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2552 เช่นเดียวกับสถานีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองสวีโจว มณฑลเจียงซู ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 20 MW
กานซูเป็นมณฑลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะบริเวณ Hexi Corridor ตลอดทั้งปีปริมาณแสงแดดส่องอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,800 – 6,400 เมกะจูล (Megajoule) และมีแสงแดดต่อปีประมาณ 1,700 – 3,300 ชั่วโมง รัฐบาลกานซูได้กำหนดแผนว่า ภายในปี 2558 เมืองจิ่วเฉวียนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 2 ล้านkW และที่เมืองเจียยู่กวนอีก 500,000 kW (บริษัท China Huadian Corporation (中国华电集团) ได้รับสัมปทานโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 10 MW และได้เริ่มการก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2553) อย่างไรก็ตาม อุปสรรคในการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่กานซูต้องพบเจอ มีดังนี้
พลังงานชีวภาพในครัวเรือน
พลังงานชีวภาพได้รับการพัฒนาอย่างมากในชนบทของกานซู กรมเกษตรและปศุสัตว์มณฑลกานซูได้รายงานว่า กานซูเป็นมณฑลที่มีการปลูกข้าวโพดมากถึง 7.5 ล้านหมู่ ( 2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่ ) มีปริมาณซางข้าวโพดในแต่ละปีมากกว่า 15 ล้านตัน ชาวบ้านจึงนำซางข้าวโพดและของเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ในครัวเรือนจำพวกเศษอาหาร นำมาหมักเพื่อทำให้เกิดแก๊สแล้วนำกลับไปใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะที่เมืองผิงเหลียงและเมืองชิ่งหยาง ซึ่งเป็นเมืองนำร่องในการนำซางข้าวโพดมาหมักและสร้างระบบการผลิตแก๊สชีวภาพในครัวเรือน
ชาวชนบทของมณฑลกานซู แต่ละครัวเรือนจะมีถังแก๊สชีวภาพขนาด 10 ลบ.ม. สามารถผลิตแก๊สชีวภาพต่อปีได้ 320 ลบ.ม. จากสถิติปี 2551 กานซูมีผู้ใช้ถังแก๊สชีวภาพ 454,000 ครัวเรือน ดังนั้น จะสามารถผลิตแก๊สชีวภาพต่อปีรวม 145.30 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะสามารถประหยัดถ่านหิน 350,000 ตัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 550,000 ตัน และเทียบเท่ากับประหยัดการใช้ถ่านซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้กว่า 1.58 ล้านหมู่ ขณะเดียวกัน สถิติปี 2552 ปริมาณถังแก๊สชีวภาพของชาวชนบทในกานซูมีจำนวนรวม 900,000 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 เท่าตัว นั้นหมายความว่าจะสามารถประหยัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าตัวเช่นกัน
พลังงานทดแทนอื่น ๆ
1. พลังงานนิวเคลียร์
กานซูมีแผนก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 4x1,000 MW บนพื้นที่ 1,500 หมู่ รวมมูลค่าการลงทุน 45,000 ล้านหยวน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนโครงการและรอการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม กานซูมีความพยายามที่จะก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก เนื่องจากมีอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วย 6 ธุรกิจ คือ
1.) ธุรกิจสำรวจและทำเหมืองแร่ยูเรเนียม โดยมีทีม nuclear geology กว่า 4,000 คน
2.) ธุรกิจการเปลี่ยนรูปยูเรเนียม เช่น ยูเรเนียมเตตระฟลูออไรด์ (Uranium tetrafluoride (UF4)) และ ยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (Uranium hexafluoride (UF6)) ปัจจุบัน กานซูได้ก่อสร้างโรงงานที่มีสายการผลิตการเปลี่ยนรูปยูเรเนียมที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งสามารถใช้แร่ยูเรเนียมในการเปลี่ยนรูปปีละ 3,000 ตัน
3.) ธุรกิจการทำยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ (Enriched uranium)
4.) ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและประกอบชุดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
5.) ธุรกิจการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เช่น การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Reprocessing)
6.) ธุรกิจการจัดการกากกัมมันตภาพรังสี ปัจจุบัน จีนมีโรงกำจัดกากกัมมันตภาพรังสี 2 แห่ง คือที่เมืองยู่เหมินในเมืองจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู และโรงงานเป่ยหลง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับ Daya Gulf เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง
2. พลังงานน้ำ
การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำของมณฑลกานซูส่วนใหญ่เป็นเขื่อนชลประทานขนาดเล็ก โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำเหลืองเป็นหลัก เช่น เมืองป๋ายอิ๋น ซึ่งมีแม่น้ำเหลืองพาดผ่านภายในยาว 38 กม. มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำปีละ 1.8 ล้านkW และในจำนวนนี้ 300,000 kWได้เชื่อมต่อระบบสายส่งเรียบร้อยแล้ว นอกจากเขื่อนที่เมืองป๋ายอิ๋นแล้ว เขื่อนที่เหลือส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึงล้านkW และเมื่อเดือน พ.ย. 2551 กานซูได้ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดใหญ่ในนครหลานโจว โดยมีมูลค่าการลงทุน 852 ล้านหยวน จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 385 ล้านยูนิต คาดว่าเดือน ก.ย. 2554 จะแล้วเสร็จ
หมายเหตุ
1. Hexi Corridor หรือ Gansu Corridor คือ พื้นที่บริเวณทิศตะวันตกของแม่น้ำเหลืองในมณฑลกานซู เนื่องจากมีพื้นที่เป็นลักษณะทางเดินยาวประมาณ 1,000 กม. และกว้างประมาณ 100 - 200 กม.จึงเรียกเป็นภาษาจีนว่า เหอซีโจ่วหลาง (河西走廊) แปลว่า “ระเบียงทิศตะวันตกของแม่น้ำเหลือง” และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ระเบียงกานซู” ครอบคลุมพื้นที่ 5 เมืองในมณฑลกานซู ได้แก่ เมืองอู่เวย เมืองจางเย่ เมืองจินชาง เมืองจิ่วเฉวียน และเมืองเจียยู่กวน
2. เขื่อนซานเสีย (三峡大坝 , Three Gorges Dam) หรือแปลว่า เขื่อนสามช่องเขา ตั้งอยู่ที่ตำบลซานโต้ผิง เมืองอี้ชาง มณฑลหูเป่ย ครอบคลุมพื้นที่ 2 มณฑล คือ มหานครฉงชิ่งและมณฑลหูเป่ย (ทิศตะวันตกเริ่มต้นที่อำเภอเฟิ่งเจี๋ย เมืองฉงชิ่ง – ทิศตะวันออกที่เมืองอี้ชาง มณฑลหูเป่ย) รวมระยะทาง 192 กม.
เขื่อนซานเสีย มีตัวเขื่อนยาว 3,035 เมตร ลึก 185 เมตร มีสถานีไฟฟ้า 26 จุด นับเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่ใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วม ผลิตกระแสไฟฟ้า การขนส่งและชลประทาน ระยะเวลาในการดำเนินงานและการก่อสร้างรวม 18 ปี (1992 – 2009) รวมมูลค่าการลงทุน 151,468 ล้านหยวน อ่างเก็บน้ำมีความยาวกว่า 600 กม. ความกว้าง 2,000 เมตร รวมพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตร โดยปกติกักเก็บน้ำอยู่ที่ระัดับความลึก 175 เมตร สามารถกักเก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ราว 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉลี่ยต่อปีราว 84,900 ล้านยูนิต และมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าปีละ 18,100 – 21,900 ล้านหยวน
จัดทำโดย
ธิดารัตน์ วนพฤกษาศิลป์
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน วันที่ 1 เมษายน 2553
แหล่งข้อมูล
http://news.xinhuanet.com/local/2010-03/10/content_13138744.htm
http://gs.xinhuanet.com/news/2009-12/31/content_18648645.htm
http://wwwl.www.gov.cn/jrzg/2009-12/31/content_1500916.htm
http://gs.cnr.cn/gsxw/kx/201002/t20100226_506065389.html
http://baike.baidu.com/view/2767579.htm
http://szb.gsjb.com/jjrb/page/1/2009-12/31/01/2009123101_pdf.pdf
http://finance.ifeng.com/news/hgjj/20090804/1038045.shtml
http://www.zdxw.com.cn/cpnn_zt/hg2009/dsj/201001/t20100115_303803.htm
รูปภาพประกอบ
Office Hours : Mon-Fri, 09.00-12.00 hrs. and 13.30-17.00 hrs.
Consular Section
VISA inquiries : +(86-29) 6125 3668 ext 801 Monday - Friday 15.00 - 17.00 hrs.
Thai citizen, please contact (+๘๖) ๑๘๒๐๒๙๒๑๒๘๑ for an appointment.