เมืองหยูหลิน มณฑลส่านซี คูเวตของประเทศจีน

เมืองหยูหลิน มณฑลส่านซี คูเวตของประเทศจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 1,867 view

พื้นที่ใต้ดินของเมืองหยูหลินมีทรัพยากรสินแร่ซ่อนอยู่คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าทรัพยากรสินแร่ทั่วจีน และร้อยละ 95 ของมูลค่าทรัพยากรสินแร่ของมณฑลส่านซี ทั้งนี้ เหมืองถ่านหินเสินฟู่เป็น 1 ใน 7 เหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมืองหยูหลินมีแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่ใหญ่ที่สุดในจีน”

          มีผู้กล่าวถึงเมืองหยูหลินว่าเป็นเมืองแห่งทรัพยากร 5 สี ประกอบด้วย สีเหลือง แดง เขียว ดำ และฟ้า แต่ภาพที่ได้เห็นเมืองหยูหลินในวินาทีแรกขณะที่โดยสารอยู่บนเครื่องบิน คือ ผืนทะเลทรายสีเหลือง และที่ราบสูงดินเหลืองอันน่าอัศจรรย์ตา ภาพต่อมาคือ สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าที่จงใจแซมท่ามกลางทะเลทรายสีเหลือง กระทั่งเมื่อลงจากเครื่องบินและโดยสารรถไปยังที่พัก ภาพถนนและทางด่วนที่ตัดผ่านกลางทะเลทรายทำให้มองเห็นสีเหลืองและเขียวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี การเดินทางจากนครซีอานสู่เมืองหยูหลินด้วยเครื่องบินโดยสารขนาดกระทัดรัดเที่ยวบิน GS 7513 ซึ่งใช้เวลาโดยสารทั้งสิ้น 50 นาทีครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตามหาทรัพยากร 5 สีของเมืองหยูหลิน พร้อมหาคำตอบว่าเหตุใดเมืองหยูหลินจึงได้รับสมญานามว่าเป็น คูเวตของประเทศจีน”

          ก่อนเดินทางมายังเมืองหยูหลินเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2551 มีผู้เล่าให้ฟังว่า ชาวหยูหลินร่ำรวยขนาดซื้อรถยนต์ยุโรปและบ้านพักในนครซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซีด้วยการชำระเงินสดในราคาเต็มเพียงครั้งเดียว แต่ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ มีผู้เล่าว่า ชาวหยูหลินรายหนึ่งแต่งตัวซอมซ่อเหมือนชาวนาที่เพิ่งมาจากชนบทได้เข้าร่วมงานจัดแสดงและจำหน่ายรถยนต์งานหนึ่งในนครซีอาน ชาวหยูหลินดังกล่าวได้ตรงดิ่งไปยังรถยนต์ยี่ห้อ BMW คันหนึ่งพร้อมใช้มือที่หยาบกร้านแลดูสกปรกลูบคลำรถยนต์ดังกล่าว พนักงานขายเห็นเข้าจึงไม่พอใจพร้อมกล่าวว่า ลุงระวังหน่อยนะ เดี๋ยวรถยนต์เป็นรอยไป ผมรับผิดชอบไม่ไหว คันละหลายล้านหยวนเชียวนะ” ชายชาวหยูหลินดังกล่าวจึงกล่าวกับพนักงานขายกลับไปว่า ลุงเอาคันนี้ล่ะ จ่ายสด” พร้อมโยนกระสอบข้าวสารที่พกมาส่งแก่พนักงานขาย แน่นอนว่าในกระสอบข้าวสารนั้นเต็มไปด้วยเงินสดที่สร้างความตกใจแก่พนักงานขายไม่น้อยที่เดียว

อย่างไรก็ดี แม้เมืองหยูหลินจะมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องความร่ำรวยจากธุรกิจสินแร่พลังงาน แต่ขณะเดียวกันก็มีคนจนอาศัยอยู่ในหยูหลินถึง 502,000 คน นับว่าเป็นเมืองที่มีคนจนอยู่มากที่สุดในมณฑลส่านซีทีเดียว สาเหตุดั้งเดิมคือ การพัฒนาและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่เกินขนาดทำให้สภาพแวดล้อมรับผลกระทบหนัก แต่การพัฒนาทรัพยากรดังกล่าวกลับไม่ได้ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของหยูหลินมากนัก จนกระทั่งรัฐบาลมณฑลและรัฐบาลเมืองหยูหลินได้ประกาศนโยบายต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางพลังงานเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ทดแทนการขายแร่ธาตุหรือพลังงานดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป พร้อมกระตุ้นอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่แก่พื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองหยูหลินที่ได้ชื่อว่ามีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างจากตอนเหนือของเมืองอย่างมาก
 

สำรวจเมืองหยูหลิน

พื้นที่ 43,578 ตารางกิโลเมตร

ที่ตั้งและอาณาเขต  ตอนบนสุดของมณฑลส่านซี มีพื้นที่ติดต่อกับ 4 มณฑล/เขตปกครองตนเอง คือ กานซู เขตหนิงเซี่ย เขตมองโกลเลียใน และซานซี ดังนี้

ทิศเหนือ             ติดต่อกับ        เขตมองโกลเลียใน

ทิศใต้                 ติดต่อกับ        เมืองเอี๋ยนอาน มณฑลส่านซี

ทิศตะวันออก        ติดต่อกับ        แม่น้ำฮวงโห และมณฑลซานซี

ทิศตะวันตก          ติดต่อกับ        เขตหนิงเซี่ย มณฑลกานซู

          มีแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง) ไหลผ่านชายแดนฝั่งตะวันออกของเมืองหยูหลินในแนวเหนือลงใต้รวมระยะทางความยาว 400 กิโลเมตร และมีกำแพงเมืองจีนโบราณพาดผ่านเมืองจากทิศตะวันออก -ทิศตะวันตกยาว 700 กว่ากิโลเมตร

 

ภูมิอากาศ แบบอบอุ่น และอบอุ่นกึ่งชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 400 มิลลิเมตรต่อปี

ภูมิประเทศ

พื้นที่ตอนบนของเมืองหยูหลินเป็นเขตทุ่งหญ้ามีพายุทราย และพื้นที่ตอนล่างเป็นเนินเขาดินเหลืองที่มีร่องน้ำพาดผ่าน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 และ 58 ของพื้นที่ทั้งหมด ตามลำดับ

เมืองหยูหลินอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,300 เมตร โดยจุดที่สูงที่สุดคือ เว่ยเหลียง ทางตอนใต้ของอำเภอติ้งเปียน (定边南部的魏梁)สูง 1,907 เมตร มีแม่น้ำ 53 สายในพื้นที่ และตอนบนของเมืองหยูหลินมีทะเลสาบประมาณ 200 กว่าแห่ง โดยทะเลสาบ “หงเจี่ยนเน่า” เป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในส่านซี และเป็นทะเลสาบน้ำจืดกลางทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีพื้นที่ถึง 67 ตารางกิโลเมตร และเก็บกักน้ำได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร

เดิมเมืองหยูหลินเป็นพื้นที่แห้งแล้งและยากจน สาเหตุหลักมาจาก ความแห้งแล้งและพายุทราย อากาศหนาวเหน็บในฤดูหนาว ทำให้มีการอพยพย้ายเมืองหยูหลินลงใต้ถึง 3 ครั้ง เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาประชาชนชาวหยูหลินได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งดังกล่าวภายใต้นโยบาย “รักษาทรายทางเหนือ รักษาดินทางใต้” ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการสูญเสียพื้นดินถึง 21,000 ตารางกิโลเมตร และสร้างพื้นที่สีเขียวปกคลุมพื้นที่ทะเลทรายตามนโยบาย “คนบุกทรายถอย” (人进沙退) รวมความยาว 1,500 กิโลเมตรส่งผลให้ปัจจุบันเมืองหยูหลินมีทัศนียภาพที่งดงาม และกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทะเลทรายของจีน

การแบ่งเขตปกครอง

เมืองหยูหลินแบ่งเขตปกครองออกเป็น  1 เขต 11 อำเภอ รวม 222 ตำบลคือ เขตหยูหยาง (榆阳区) อำเภอเสินมู่ (神木县)อำเภอฟู่กู่ (府谷县)อำเภอเหิงซาน (横山县) อำเภอจิ้งเปียน (靖边县) อำเภอติ้งเปียน (定边县) อำเภอสุยเต๋อ (绥德县) อำเภอหมี่จื่อ (米脂县) อำเภอเจีย (佳县) อำเภออู๋เป่า (吴堡县) อำเภอชิงเจี้ยน (清涧县)อำเภอจื่อโจว (子 洲县)

ประชากร ปี 2551 มีประชากรรวม 3.47 ล้านคน แบ่งเป็นชาย 1.85 ล้านคน หญิง 1.6 ล้านคน ทั้งนี้ มีประชากรที่อาศัยในเขตเมืองและปริมณฑล 2.4 ล้านคน และประชากรที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 619,107 คน

ประวัติศาสตร์

ค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณเหอเถ้า (河套人) เมื่อ 30,000-40,000 ปีก่อน และค้นพบโบราณสถานยุคหินใหม่ของวัฒนธรรมหลงซาน(龙山文化:黑陶文化) และวัฒนธรรมหยางเสา ( 仰韶文化:彩陶文化) กระจายอยู่ทั่วเมืองหยูหลิน

สมัยชุนชิว (770 - 476 ก่อนคริสตกาล) หยูหลินอยู่ใต้การปกครองของรัฐจิ้น

สมัยจั่นกว๋อ (475-221 ก่อนคริสตกาล) หยูหลินอยู่ใต้การปกครองของรัฐเว่ย

          หลังจากจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้ได้รวบรวมประเทศแล้ว โอรสองค์แรกของราชวงศ์ฉินนาม ฟูซู (扶苏) ได้เคยนำทหารมาตั้งมั่นที่นี่

            สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกและฮั่นตะวันออก (ก่อนคริสตกาลที่ 202 - คริสตศักราช 220) หยูหลินเป็นพื้นที่ที่งดงามอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งปศุสัตว์แพะที่ขึ้นชื่อ ทั้งนี้ขุดค้นพบหลักฐานภาพแกะสลักบนหินในสมัยราชวงศ์ฮั่นที่อำเภอสุ่ยเต๋อและอำเภอหมี่จื่อ

            นอกจากนี้ บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยเดินทางเยือนหรือพำนักที่หยูหลิน เช่น

          สมัยราชวงศ์ฉิน ได้แก่ ฟูซู (扶苏)เหมิ่งเถียน (蒙恬)

          สมัยราชวงศ์ฮั่น ได้แก่ หลี่กว่าง (李广) เว่ยชิง(卫青)

สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (คศ. 317-420) กษัตริย์เฮ้อเหลียนปั๋วปั๋ว (赫连勃勃)ชนชาติซงหนูได้สถาปนาประเทศต้าเซี่ย(大夏国)ขึ้นที่ป๋ายเฉิงจื่อในอำเภอจิ้งเปียน(靖边县白城子)และกษัตริย์หลี่ หยวนเฮ้า (李元昊)ผู้สถาปนาราชวงศ์ซีเซี่ยพร้อมบิดานามว่า หลี่ จี้เชียน (李继迁) ล้วนมีถิ่นกำเนิดที่เมืองโบราณอิ๋นโจว (ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเหิงซานในเมืองหยูหลิน)

สมัยราชวงศ์ถัง(คศ. 618 - 907)ได้แก่ ยู่ฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德) กั๋วจื่ออี๋(郭子仪)

สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (คศ.960 - 1127)ได้แก่  ตี๋ชิง (狄青)ฟั่นจ้งเอียน (范仲淹)นอกจากนี้ขุนศึกตระกลูหยางล้วนเป็นคนอำเภอเสินมู่ และบรรพบุรุษของขุนศึกตระกูลหยางนามว่า แม่ทัพหยาง จี้เย่ (杨继业)และนางเสอ ไซ้ฮวา (佘赛花) ได้มาประลองยุทธ์ที่วัดชีซิง (七星庙) ในอำเภอฟู่กู่

นอกจากนี้ แม่ทัพหาน ซื่อจง (韩世忠)ผู้ต่อต้านราชวงศ์จิน ก็เป็นคนอำเภอสุ่ยเต๋อ และนายหลี่ จื่อเฉิง (李自成)ผู้โค่นล้มราชวงศ์หมิง ก็เป็นคนอำเภอหมี่จื่อ

เศรษฐกิจ

          ปี 2551 หยูหลินมีมูลค่า GDP 101,000 ล้านหยวน หรือมากเป็นอันดับที่ 2 ของมณฑล เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 24  แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 6,611 ล้านหยวน อุตสาหกรรม 79,303 ล้านหยวน และบริการ 14,912 ล้านหยวน มีมูลค่าการคลัง 22,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7 และรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวในเขตเมืองและในชนบท 12,000 หยวน และ 3,300 หยวน ตามลำดับ        

การค้าระหว่างประเทศ

มูลค่าการค้ารวมระหว่างปี 2548-2550 ประกอบด้วยการนำเข้า 1.31 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และการส่งออก 67.49 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้สินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือ เครื่องจักร และสินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือ สินค้าโลหะที่ผ่านการหลอม และสินค้าผลพลอยได้ทางการเกษตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 และ 31 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดตามลำดับ

ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ปัจจุบันมีบริษัทนำเข้าส่งออกในพื้นที่ 60 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทของรัฐ บริษัทรัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน 10, 4, 45 แห่งตามลำดับ

การลงทุนจากต่างประเทศระหว่างปี 2548-2550 มีมูลค่าสัญญาการลงทุน 101.64 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ มูลค่าการลงทุนจริง 18.09 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีบริษัทต่างชาติที่เพิ่งได้รับอนุมัติให้ลงทุนในพื้นที่ 3 ราย

เครือบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในหยูหลิน ประกอบด้วย เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ 500 อันดับแรกของโลก 6 บริษัท คือ เครือบริษัท DOW ของสหรัฐฯ เครือบริษัท Anglo American เครือบริษัท Shell ของฮอลแลนด์ เครือบริษัท China Natioanl petroleum cooperation (CNPC) และเครือบริษัท China Petroleum & Chemical (Sinopec) นอกจากนี้ยังมีบริษัท France’s Air Liquide  เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ของไทย และบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วของจีนอีก 14 บริษัท เป็นต้น

ความร่วมมือที่สำคัญกับประเทศไทย

          เครือบริษัท Shaanxi Yanchang Petroleum (เครือบริษัทรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลมณฑลส่านซี ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานน้ำมันที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของจีนรองจากเครือบริษัท CNPC, SINOPEC และ CNOOC) ได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในภาคอีสานของไทย โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจราจาเงื่อนไขกับฝ่ายไทย

          เมื่อวันที่ 18 – 20 พ.ย. 2551 คณะผู้แทนรัฐบาลและผู้บริหารวิสาหกิจที่สำคัญของเมืองหยูหลินได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนมณฑลส่านซีเดินทางเข้าร่วมออกร้านและจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์เมืองหยูหลินภายในงาน “สัปดาห์ความร่วมมือไทย-ส่านซี” ที่กรุงเทพฯ

          เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2552 พล. อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางเยือนนครซีอานและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามสัญญา “ความร่วมมือโครงการเคมีพลังงานที่อำเภอจิ้งเปียน” ระหว่างเครือบริษัท X.N.Y.I Group (Thailand) Co., Ltd จากประเทศไทยกับ 2 เครือบริษัทของจีน คือ Shaanxi Yanchang Petroleum และ China National Coal Group Corperation ซึ่งกำหนดจะร่วมมือลงทุนในโครงการผลิตและแปรรูปเคมีพลังงาน เช่น เมทานอล เป็นต้น โดยเครือบริษัททั้ง 3 ฝ่ายจะถือครองหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30, 40 และ 30 ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแรกลงทุน 23,250 ล้านหยวน และระยะที่ 2 คาดว่าจะลงทุน 30,000 ล้านหยวน โดยโครงการระยะแรกจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2555

 

ภารกิจตามล่าหาทรัพยากร 5 สี

เมืองหยูหลินเปรียบเทียบทรัพยากรในพื้นที่ของตนว่าประกอบด้วย 5 สี คือ สีเหลือง (พื้นที่ทะเลทราย ที่ราบสูงดินเหลือง และพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์) แดง (การกรีฑาทัพทางไกลของกองทัพแดง) เขียว (โอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย) ดำ (ทรัพยากรสินแร่ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเกลือหิน) และฟ้า (ฟ้าครามปราศจากมลพิษ และมีหนังสือปกฟ้า หรือ แผนพัฒนาเมืองหยูหลินระยะยาว)

แน่นอนว่า เราได้พบสีเหลืองและสีเขียวตั้งแต่วินาทีแรก ๆ ที่ถึงเมืองหยูหลิน ลำดับต่อไป เราจะไปค้นหาสีแดง ดำ และฟ้ากัน

 

ทรัพยากรสีแดง

หมายถึง ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์การกรีฑาทัพทางไกลของกองทัพแดงเพื่อปฏิวัติและก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปี 1935 ประธานาธิบดีเหมา เจ๋อตุงได้เดินทางกรีฑาทัพทางไกล 25,000 ลี้ขึ้นมาทางบริเวณเถี่ยเจี่ยวเฉิง (รอยต่อระหว่างส่านซีและกานซู) ในอำเภอติ้งเปียน เมืองหยูหลิน (榆林定边县的铁角城) โดยได้ใช้ชีวิต และทำสงครามภายใน 8 อำเภอ 36 หมู่บ้านของเมืองหยูหลิน ทั้งนี้ขณะพำนักอยู่ที่หยวนเจียโกว อำเภอชิงเจี้ยน (清涧县袁家沟)ได้ประพันธ์บทกลอนไพเราะทรงพลังที่ชื่อว่า “ชิ่นหยวนชุน.เซวี่ย” (沁园春。雪)

นอกจากนี้ นายหลี่ โย่วหยวน (李有源)ชาวนาของอำเภอเจียได้แต่งเพลง “สีแดงแห่งบูรพา” (东方红)สดุดีประธานเหมา เพลงดังกล่าวมีชื่อเสียงและร้องสืบทอดต่อกันมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

หยูหลินจึงเป็นสถานที่พำนักการกรีฑาทัพทางไกลของกองทัพแดง เป็นจุดออกเดินทางของแนวรบแนวหน้าต่อต้านญี่ปุ่น และเป็นจุดหักเหของสงครามปลดแอกจีน

ปี 2528 สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีแห่งชาติจีนจึงได้อนุมัติให้เมืองหยูหลินเป็นเมืองประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งชาติ

 

ทรัพยากรสีดำ : สมญานามคูเวตแห่งจีน

หมายถึง ทรัพยากรสินแร่ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรสินแร่ด้านพลังงาน

เมืองหยูหลินมีทรัพยากรสินแร่ที่อุดมสมบรูณ์จนได้รับการขนานนามว่าเป็น คูเวตของจีน” พื้นที่ใต้ดินของเมืองหยูหลินมีทรัพยากรสินแร่ซ่อนอยู่คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของมูลค่าทรัพยากรสินแร่ทั่วจีน และร้อยละ 95 ของมูลค่าทรัพยากรสินแร่ของส่านซี หรือกล่าวได้ว่า พื้นที่ใต้ดินของเมืองหยูหลินทุก 1 ตารางกิโลเมตร มีทรัพยากรสินแร่ซ่อนอยู่คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านหยวน  ทั้งนี้ เหมืองถ่านหินเสินฟู่ในเมืองหยูหลินเป็น 1 ใน 7 เหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเมืองหยูหลินมีแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่ใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาสูงมาก

 

หยูหลิน :ฐานเคมีพลังงานแห่งชาติจีน”

เมืองหยูหลินประกอบด้วยสินแร่สำคัญ 4 ประเภทคือ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และเกลือ โดยทางเหนือของหยูหลินอุดมไปด้วยถ่านหิน ทางใต้อุดมไปด้วยเกลือหิน และทางตะวันตกอุดมไปด้วยเหมืองก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบันได้สำรวจพบทรัพยากรสินแร่ในเมืองหยูหลิน 8 ประเภท 48 ชนิด ที่สำคัญคือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเกลือหิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.2, 43.4, 99.9, 100 ของทั้งมณฑลส่านซีตามลำดับ โดยถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเกลือหินมีปริมาณสำรองเฉลี่ยต่อตารางกิโลเมตรอยู่ที่ 6.22 ล้านตัน 14,000 ตัน 100 ล้านลูกบาศ์กเมตร และ 140 ล้านตัน ตามลำดับ

ดังนั้น เมืองหยูหลินจึงมีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ 7 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับสินแร่พลังงาน คือ ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เกลือ ไฟฟ้า การแปรรูป และผลิตวัสดุก่อสร้าง

เดือนมีนาคม 2546 รัฐบาลกลางจีนจึงได้อนุมัติให้ก่อตั้งฐานพลังงานเคมีแห่งชาติขึ้นทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี โดยมีพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมเมืองหยูหลินและเมืองเอี๋ยนอาน เมืองหยูหลินจึงได้กลายเป็น“ฐานเคมีพลังงานแห่งชาติจีน” และเป็นเขตเชื่อมรับพลังงานแห่งศตวรรษที่ 21 ของประเทศจีน  โดยปัจจุบันได้สร้างฐานการผลิตถ่านหินขนาดมากกว่า 100 ล้านตันขึ้นที่อำเภอเสินมู่ ฐานการผลิตเมทานอลที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่เขตหยูหยาง ก่อสร้างโรงงานก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียขึ้นที่อำเภอจิ้งเปียน และอยู่ระหว่างก่อสร้างฐานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในจีนขึ้นที่อำเภอฟู่กู่

สถิติปี 2551 ระบุว่า เมืองหยูหลินผลิตถ่านหินดิบได้ 155 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของปริมาณการผลิตถ่านหินดิบของทั้งประเทศ ผลิตน้ำมันดิบ 7.5 ล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 8,700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 14.43 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.75 ของปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังผลิตเกลือดิบ 410,000 ตัน refined methanol 820,000 ตัน ผลิตกระแสไฟฟ้า 23,800 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ปริมาตรกำลังไฟฟ้า 6.2 ล้านกิโลวัตต์ และ calcium carbide 1.1 ล้านตัน เป็นต้น

เป้าหมายการผลิตในปี 2553 คือจะผลิตถ่านหิน 200 กว่าล้านตัน น้ำมัน 10 ล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 12,000 ลูกบาศ์กเมตร เกลือ 1 ล้านตัน กำลังไฟฟ้า 100 ล้านกิโลวัตต์ เมทิลแอลกอฮอล 6 ล้านตัน และ PVC 900,000 ตัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ตลอด 20 ปีแห่งการพัฒนาทรัพยากรพลังงานของเมืองหยูหลินที่ผ่านมา มีการขุดถ่านหินขึ้นมาใช้เพียง 1,000 ล้านตัน หรือเพียงร้อยละ 1.5 ของปริมาณถ่านหินที่ได้รับอนุมัติให้ขุดมาใช้ จึงยังมีเหมืองถ่านหินอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้น รัฐบาลเมืองหยูหลินจึงกำหนด “แผนการดำเนินการก่อสร้างระบบพลังงานขนาดใหญ่แห่งเมืองหยูหลิน” ไว้ว่าปี 2561 เมืองหยูหลินจะกลายเป็นฐานเคมีถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในจีน ฐานสาธิตเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับประเทศ และฐานเคมีเกลือที่สำคัญระดับประเทศ โดยเมืองหยูหลินจะกลายเป็นเมืองผลิตพลังงานอันดับ 1 ของจีนที่มีประสิทธิภาพการผลิตถ่านหินได้ 400 ล้านตัน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 38 ล้านตันหรือเป็นเมืองที่ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้มากที่สุดในจีน เกลือดิบ 8 ล้านตัน ปริมาตรกำลังไฟฟ้า 30 ล้านกิโลวัตต์ เมทานอลและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 36 ล้านตัน น้ำมันจากถ่านหิน 10 ล้านตัน และ PVC 6.5 ล้านตัน เป็นต้น ทั้งนี้ ถ่านหินดิบจะต้องมีอัตราการแปรรูปมากกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป

ด้านการแปรรูปทรัพยากรสินแร่พลังงาน สถิติปลายปี 2551 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์สินแร่ด้านพลังงานขั้นปฐมภูมิของทั้งเมืองหยูหลินมีอัตราการแปรรูปร้อยละ 21.3 และปริมาณการแปรรูปมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้เมื่อเดือนต.ค. 2551 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาได้เดินทางเยือนเมืองหยูหลินและกล่าวย้ำให้เมืองหยูหลินรักและถนุถนอมทรัพยากรในพื้นที่และจะต้องแปรรูปทรัพยากรในเชิงลึกมากขึ้น  

นอกจากนี้ ที่ประชุมหารือการก่อสร้างฐานพลังงานเคมีทางตอนเหนือของมณฑลส่านซีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 - 27 มี.ค. 2546 ได้ริเริ่มโครงการแปรรูป 3 ประการครอบคลุมถึง การแปรรูปถ่านหินเป็นไฟฟ้า แปรรูปไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นสินค้าอุตสาหกรรมชนิดตัวพาหนะ การผลิตน้ำมันจากถ่านหิน และการแปรรูปถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเกลือหินเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเคมีประเภทต่าง ๆ 

          ด้านความหลากหลายของทรัพยากร

รัฐบาลเมืองหยูหลินได้วางนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในพื้นที่ไว้ว่า อุตสาหกรรมพลังงานต้องมีความหลายหลาย ต้องวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพลังงานประเภท renewable energy sources โดยจะให้ความสำคัญกับพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวะภาพ ดังนี้

-   ทรัพยากรพลังงานลมในเมืองหยูหลินมีความอุดมสมบูรณ์มาก เช่น อำเภอจิ้งเปียน และติ้งเปียนมีอัตราความเร็วลมเฉลี่ย 5m/s ขึ้นไปต่อปี และมีอัตราความหนาแน่นของลมตามปกติเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 180 w/ตารางเมตร และมีลมที่มีความเร็วประสิทธิภาพ 6,500 ชั่วโมงต่อปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 3.26 ล้านกิโลวัตต์ ปัจจุบันเครือบริษัท Shandong Luneng ได้เข้ามาลงทุนในโครงการการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในอำเภอจิ้งเปียน ซึ่งถือเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังลมแห่งแรกของมณฑลส่านซี

-   ทรัพยากรพลังงานแสงอาทิตย์ เมืองหยูหลินมีปริมาณรัศมีแสงอาทิตย์เฉลี่ยต่อปี 5,500-6,000 MJ ต่อตารางเมตร

-   ทรัพยากรพลังงานชีวภาพ ปัจจุบัน ที่อำเภอเสินมู่ได้ปลูกพืชที่เมื่อเจริญเติบโตแล้ว สามารถนำส่วนข้างในของพืชไปกลั่นเป็นน้ำมันได้ 

เมืองหยูหลินกับบทบาทยุทธศาสตร์พลังงานระดับชาติ   

เป็นที่รู้กันดีว่า ภาคตะวันตกอันกว้างใหญ่ของจีนมีเศรษฐกิจที่ล้าหลังกว่าเมืองชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออกอย่างมาก แต่ภาคตะวันตกก็มีข้อได้เปรียบเรื่องทรัพยากรพลังงานที่มีปริมาณมหาศาล  ขณะที่ภาคตะวันออกของจีนมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ขาดปัจจัยสำคัญคือวัตถุดิบพลังงานสำหรับใช้ในภาคการผลิต รัฐบาลกลางจีนจึงได้กำหนดโครงการสำคัญระดับประเทศให้ภาคตะวันตกของจีนมีบทบาทเป็นพื้นที่สำรองพลังงานของชาติ และมีบทบาทด้านการขนส่งและป้อนพลังงานประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าแก่พื้นที่เศรษฐกิจในภาคตะวันออก และแน่นอนว่า เมืองหยูหลินก็เป็นพื้นที่สำคัญของโครงการข้างต้น

เมืองหยูหลินเป็นพื้นที่สำคัญในโครงการพัฒนาพลังงานของจีน และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยด้านพลังงานระดับประเทศ โดยเมืองหยูหลินเป็นพื้นที่สำคัญของโครงการขนส่งเคลื่อนย้ายพลังงานจากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออกจีน 3 โครงการ  ส่งผลให้เมืองแห่งพลังงานหยูหลินกลายเป็นเมืองแห่งระบบการขนส่งพลังงาน 3 มิติครอบคลุมมิติภาคพื้นดิน ใต้ดิน และอากาศ ดังนี้

  1. โครงการขนส่งถ่านหินจากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออกจีน โดยอาศัยการคมนาคมทางบกทั้งถนน และรถไฟ
  2. โครงการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออกจีน โดยหยูหลินถือเป็นพื้นที่จุดเริ่มต้นของโครงการ โดยใช้ระบบท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ดินที่มีการวางท่อต่อกันเป็นมิติหลายชั้น ปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นทางหลักจากเมืองหยูหลินสู่เมืองต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ซีอาน อิ๋นชวน เป็นต้น รวมระยะทางประมาณ 3,500 กิโลเมตร
  3. โครงการขนส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคตะวันตกสู่ภาคตะวันออกจีน โดยหยูหลินเป็นศูนย์กลางชุมทางขนส่งกระแสไฟฟ้าของโครงการ ด้วยเครือข่ายการขนส่งกระแสไฟฟ้าทางอากาศผ่านระบบเครือข่ายวงจรสายไฟฟ้านั่นเอง 

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การก่อสร้างฐานเคมีพลังงานของเมืองหยูหลินไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของรัฐบาลมณฑลส่านซีและรัฐบาลเมืองหยูหลินเท่านั้น แต่ยังแบกรับภาระหนักอึ้งระดับชาติเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางพลังงานของจีนอีกด้วย 

ทรัพยากรสีฟ้า

          หมายถึง ฟ้าครามปราศจากมลพิษ และมีหนังสือปกฟ้า หรือ แผนพัฒนาเมืองหยูหลินระยะยาว

          แม้เมืองหยูหลินจะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่า GDP สูงเป็นลำดับที่ 2 ของส่านซี รองจากนครซีอาน และ GDP มีอัตราเติบโตสูงเป็นลำดับที่ 1 ของส่านซีติดต่อกันถึง 7 ปี แต่เมืองหยูหลินก็ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย เช่น ความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจทางตอนเหนือและตอนใต้ของเมือง ความไม่สมดุลของรายได้ประชากรในเขตเมืองและชนบท และโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังไม่หลากหลาย ดังนั้นรัฐบาลมณฑลส่านซี และรัฐบาลเมืองหยูหลินจึงร่วมกันกำหนดแผนการพัฒนาเมืองหยูหลินอย่างยั่งยืนและเป็นโครงการระยะยาวโดยนำข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรพลังงานในพื้นที่มาพัฒนาเศรษฐกิจ

เพื่อให้เมืองหยูหลินได้สำแดงศักยภาพ คูเวตของจีน” และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลส่านซีร่วมกับเขตเมืองในที่ราบกวานจง (ที่ราบตอนกลางของมณฑลส่านซี เป็นที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดในส่านซี)

         
 

โครงการพัฒนาเมืองหยูหลิน

เมืองหยูหลินกำลังดำเนินโครงการ “ 1 ศูนย์กลาง 2 ฐานการผลิต” คือ เมืองศูนย์กลางที่มีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง 5 มณฑล คือส่านซี กานซู หนิงเซี่ย ซานซี และมองโกเลียใน  ฐานอุตสาหกรรมเคมีพลังงานระดับประเทศ และฐานอุตสาหกรรมทางการเกษตรสมัยใหม่ที่โดดเด่น เพื่อพัฒนาให้เกิดศูนย์กลางการกระจุกตัวรวมกันของอุตสาหกรรมใหญ่ 3 ด้าน คือ เคมีพลังงาน การเกษตร และการบริการ  ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2551 รัฐบาลส่านซีได้กำหนดให้เมืองหยูหลินมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้

1.    โครงการเมืองศูนย์กลางของฐานเคมีพลังงานแห่งชาติจีน

2.    โครงการเมืองศูนย์กลางที่มีเขตแดนติดต่อระหว่าง 5 มณฑล คือ ส่านซี กานซู หนิงเซี่ย ซานซี และมองโกลเลียใน

3.    โครงการเมืองแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งชาติ

4.    โครงการเมืองทะเลทรายโอเอซิสที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยในระยะใกล้วางแผนให้เขตเมืองมีประชากรราว 450,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคนในปี 2020 ทั้งนี้ ตามแผนจะสร้างพื้นที่เมือง 2,214 ตารางกิโลเมตร เขตใจกลางเมือง 400 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ใช้สอย 80 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น

5.    โครงการ 2 เขตพัฒนา 6 เขตอุตสาหกรรม”  โดยจะก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมในลักษณะ ระเบียงเขตอุตสาหกรรมตามรูปอักษรจีน “人” (แปลว่าคน) โดยเริ่มที่อำเภอฟู่กู่ถึงอำเภอติ้งเปียน และเขตหยูหยางถึงอำเภออูเป่า  โครงการ 2 เขตพัฒนา 6 เขตอุตสาหกรรม”  ประกอบด้วย

5.1   เขตพัฒนาระดับมณฑล 2 เขตคือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจหยูหลิน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจเสินมู่

5.2 เขตอุตสาหกรรม 6 เขต คือ

หนึ่ง เขตอุตสาหกรรมเคมีถ่านหินหยูเสิน (อำเภอเสินมู่)

สอง เขตอุตสาหกรรมเคมีถ่านหินหยูเหิง (อำเภอเหิงซาน)

สาม เขตไฟฟ้าถ่านหินฟู่กู่ (อำเภอฟู่กู่) 

สี่ เขตอุตสาหกรรมเคมีเกลือหินสุยหมี่เจีย (อำเภอสุยเต๋อ อำเภอหมี่จื่อ และอำเภอเจีย)

ห้า เขตอุตสาหกรรมเคมีการเผาไหม้ถ่านหินอู๋เป่า (อำเภออู๋เป่า)

หก เขตเคมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติติ้งจิ้น (อำเภอติ้งเปียน และอำเภอจิ้งเปียน)

 

การพัฒนาด้านเกษตรกรรม

แม้เมืองหยูหลินจะเป็นเมืองทรัพยากรพลังงานขนาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม โดยมีจำนวนเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 82 ของจำนวนประชากรทั่วเมืองหยูหลิน อีกทั้งเมืองหยูหลินมีพื้นที่กว้างใหญ่ ชาวหยูหลินมีพื้นที่เฉลี่ยคนละ 30 กว่าหมู่ (1 หมู่เท่ากับ 667 ตารางเมตร) แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรในเมืองหยูหลินก็ยังประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำ รัฐบาลเมืองหยูหลินจึงได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการการทดน้ำจากแม่น้ำเหลืองเข้ามาใช้ในพื้นที่ เป็นต้น และดำเนินนโยบาย “เกษตรกรรม 4 ฤดู” เพื่อให้เมืองหยูหลินสามารถผลิตพืชผลทางการเกษตร และทำปศุสัตว์ได้ตลอดปี ทั้งนี้ สถิติปี 2551 สำนักงานการคลังเมืองหยูหลินได้จัดตั้งเงินทุน 300 ล้านหยวน เพื่อโครงการพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่โดดเด่น และได้ลงทุน 50 ล้านหยวนจัดตั้งฐานการพัฒนา “เกษตรกรรม 4 ฤดู” เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์ สัตว์น้ำ และการเพาะปลูกพืชผล เป็นต้น

เมืองหยูหลินเป็นแหล่งผลิตข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่วที่สำคัญ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม มีแสงอาทิตย์มาก และมีอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันสูง ทั้งนี้ มีพื้นที่ผลิตมันฝรั่ง 3 ล้านหมู่ และผลิตมันฝรั่งได้สูงสุดปีละ 5,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ พืชผลประเภทถั่วเมล็ดใหญ่ของเมืองหยูหลินได้ครองตลาดในญี่ปุ่นถึงร้อยละ 27

สิ่งที่น่าจับตาคือ เมืองหยูหลินมีอำเภอที่มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำเหลืองถึง 6 อำเภอ และมีพื้นที่ในการปลูกพุทราถึง 3 ล้านหมู่ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “พื้นที่ชายหาดพุทราแห่งแม่น้ำเหลือง”

ด้านปศุสัตว์ มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ถึง 7 ล้านตัว ประกอบด้วยแพะ 3.8 ล้านตัว และหมูเกิดใหม่ 2.5 ล้านตัว

               อย่างไรก็ดี รัฐบาลเมืองหยูหลินได้กำหนดแผนเศรษฐกิจระยะสั้นว่า ปี 2555 เมืองหยูหลินจะมีมูลค่า GDP 300,000 ล้านหยวน ประชากรในเขตเมืองและชนบทมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 20,000 หยวน และ 6,600 หยวน ตามลำดับ ฐานเคมีพลังงานมีเงินลงทุนรวมมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านหยวน และมีกำลังการผลิตถ่านหินดิบ 260 ล้านตัน น้ำมันดิบ 12 ล้านตัน ก๊าซธรรมชาติ 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เกลือดิบ 2.8 ล้านตัน เมทานอล 6 ล้านตัน น้ำมันจากถ่านหิน 1 ล้านตัน และปริมาตรไฟฟ้า 15 ล้านกิโลวัตต์ เป็นต้น
 

บทสรุป

เมืองหยูหลินมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยใช้อุตสาหกรรมเคมีพลังงานเป็นแกนนำหลัก และให้อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบ และอุตสาหกรรมการแปรรูปเคมีอย่างละเอียดเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน ทั้งนี้ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และเกลือ ถือเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่สำคัญที่สุดในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ภาคการเกษตรกลายเป็นโครงการบรรเทาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานในเมืองหยูหลินส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยเครือบริษัทขนาดใหญ่จากต่างชาติและต่างมณฑล  ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับเครือบริษัทต่างถิ่นดังกล่าว ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเมืองหยูหลินที่เติบโตอย่างรวดเร็วไม่ได้ส่งผลช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวหยูหลินมากนัก ชาวหยูหลินจำนวนมากยังมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างจากเดิม ขณะที่ขุมทรัพย์ใต้ผืนดินของเมืองหยูหลินกลายเป็นแหล่งทำเงินให้แก่วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายราย

นอกจากนี้ การลงทุนพัฒนาเหมืองสินแร่ต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตของชาวหยูหลิน เช่น การขุดเหมืองถ่านหินและอุตสาหกรรมเคมีถ่านหินได้ส่งผลให้พื้นดินโดยรอบเหมืองยุบตัวลง ทำให้อาคารที่พักของประชาชนในละแวกนั้นถล่มและยุบตัวตามพื้นดิน เป็นต้น แต่กระนั้นก็ดี รัฐบาลเมืองหยูหลินเข้าใจในสถานการณ์ที่ภาครัฐต้องพึ่งพาการลงทุนจากภายนอก ขณะที่ก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ไปด้วยพร้อมกัน เพื่อประสานรอยร้าวของความขัดแย้งระหว่างการรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าซึ่งเป็นแหล่งทำกินของประชาชน แน่นอนว่า นโยบายการสนับสนุนภาคการเกษตรได้มีบทบาทส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวหยูหลินอย่างมาก

 รัฐบาลเมืองหยูหลินยังให้ความสำคัญต่อภาคบริการด้วยยุทธศาตร์ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งของเมืองซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง 5 มณฑล/เขตปกครองตนเอง คือ ส่านซี ซานซี กานซู หนิงเซี่ย และมองโกเลียใน ดังนั้น จึงเกิดโครงการพัฒนาระบบการคมนาคมและโลจีสติกส์เพื่อให้เมืองหยูหลินได้เป็นศูนย์กลางสำคัญเชื่อมโยงการติดต่อคมนาคมระหว่าง 5 มณฑล/เขตปกครองตนเองข้างต้นนั่นเอง

การบุกเบิกและพัฒนาทรัพยากรใต้ดินสีดำของเมืองหยูหลิน ไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ล้วนแฝงด้วยยุทธศาสตร์สำคัญที่ส่งผลประโยชน์ทั้งต่อระดับชาติ ระดับมณฑลและระดับเมืองของหยูหลินเอง รัฐบาลกลางจีนมองหยูหลินว่าเป็นพื้นทียุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยทางพลังงานของชาติ ขณะที่รัฐบาลมณฑลส่านซีมองว่า การพัฒนาทรัพยากรพลังงานของเมืองหยูหลินคือการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของมณฑลส่านซี ส่วนเมืองหยูหลินก็ต้องการถีบตัวเองขึ้นจากพื้นที่แห้งแล้งยากจน สิ่งที่ทำได้คือ การดึงดูดเงินลงทุนเพื่อบุกเบิกและพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ และการนำทรัพยากรในพื้นที่ของตนมาขายให้แก่พื้นที่อื่น อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ประสบการณ์ที่ผู้อื่นเคยพลาดคือทางลัดสู่ความสำเร็จของนักบุกเบิกรุ่นหลัง เมืองหยูหลินเรียนรู้ประสบการณ์และปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมสินแร่จากมณฑลอื่น เช่น มณฑลซานซี เมืองหยูหลินจึงฉลาดเลือกที่จะเพิ่มอัตราการแปรรูปทรัพยากรในพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทดแทนการขายทรัพยากรสินแร่ดิบโดยตรง

อย่างไรก็ดี เมืองหยูหลินซึ่งเดิมเคยเป็นพื้นที่แห้งแล้งและยากจนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของมณฑลส่านซี พื้นที่ทะเลทรายและที่ราบสูงดินเหลือง 43,578 ตารางกิโลเมตรที่แลดูทุรกันดาร แต่ซ่อนเบญจทรัพยากรไว้ถึง 5 สี ไม่เคยมีผู้ใดคาดรู้มาก่อนว่า ช่วงเวลาเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เบญจทรัพยากรดังกล่าว โดยเฉพาะขุมทรัพย์ใต้ดินที่ยิ่งขุดยิ่งทำเงินนี้ กำลังจะกลายเป็นจุดถ่ายโอนอำนาจทางเศรษฐกิจของมณฑลส่านซี จากเดิมที่เคยมีเขตเศรษฐกิจในที่ราบกวานจงเป็นตัวชูโรงเศรษฐกิจของส่านซีเสมอมา แน่นอนว่ามังกรแห่งบูรพาต้องการเชื้อเพลิงในการพ่นไฟฉันใด เศรษฐกิจจีนก็ต้องการพลังงานจากภาคตะวันตกของประเทศฉันนั้น และเมืองหยูหลินกำลังจะกลายเป็นฐานเชื้อเพลิงชั้นนำแก่พญามังกรแห่งบูรพาตัวนี้   

              
 จัดทำโดย

นางสาวดุจเนตร อาจหาญศิริ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

วันที่ 6 มิถุนายน 2552 

ภาพโดย

นางสาวดุจเนตร อาจหาญศิริ 

แหล่งข้อมูล

หนังสือพิมพ์ Shaanxi Daily, Xi’an Daily, Xi’an Evening News และหนังสือพิมพ์ Chinese Business View

www.hongzaowang.com

www.sina.com.cn

www.cnwest.com

www.jccoal.com

www.sxsd.gov.cn

www.ylzjb.gov.cn

www.westtimes.com

www.kawise.com/Coalchem/MeiTan/200711/20071126091148.shtml

http://epaper.xplus.com/papers/ylrb/20081209/n55.shtml

http://cn0912.com

และการย้อนรำลึกวันวานเมื่อครั้งได้มีโอกาสติดตามนายวศิน เรืองประทีปแสง รักษาการกงสุงใหญ่ ณ นครซีอานเยือนเมืองหยูหลินระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2551

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ