ประสบการณ์น่ารู้ เมื่อส่านซีเตรียมบุกตลาดผลไม้ไทย บทสัมภาษณ์คณะกรรมการผลไม้ประจำมณฑลส่านซี

ประสบการณ์น่ารู้ เมื่อส่านซีเตรียมบุกตลาดผลไม้ไทย บทสัมภาษณ์คณะกรรมการผลไม้ประจำมณฑลส่านซี

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ส.ค. 2564

| 826 view

หลังจากที่บีไอซีซีอานได้นำเสนอข้อมูลตลาดสินค้าผลไม้ไทยในส่านซี และบทความเกี่ยวกับสินค้าเกษตรขึ้นชื่อของส่านซี (แอปเปิ้ล กีวี ทับทิม) มาบ้างแล้ว ล่าสุด บีไอซีได้ติดตามกระแสความเคลื่อนไหวกลุ่มบริษัทผู้ค้าและผู้ส่งออก/นำเข้าผลไม้ในส่านซี กล่าวคือ การจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญผลไม้ส่านซี ซึ่งได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และบีไอซีได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายจาง กวงหลุนประธานคณะกรรมการฯ โดยคุณจางได้ให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นสำหรับโอกาสด้านการตลาดสินค้าเกษตรที่น่าสนใจ ในโอกาสนี้ด้วย

1.อยากทราบวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้ ในครั้งนี้

                การก่อตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้นี้ เป็นผลจากการผลักดันของสำนักงานพาณิชย์มณฑลส่านซีรวมไปถึงสมาคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทย-ส่านซี มีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซีรวมไปถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันครับ

2.จากที่ได้กล่าวไว้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไทยและมณฑลส่านซี  อยากทราบว่าคณะกรรมการฯมองทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทยเป็นอย่างไร รวมไปถึงวางแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯอย่างไรบ้าง

                ภาคเกษตรกรรมถือเป็นหัวใจหลักของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชนิด คุณภาพ ปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร ประเทศไทยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมืออาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งคณะกรรมการฯเองก็ได้เล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปทำความร่วมมือด้านเกษตรกรรมร่วมกับประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านผลไม้ ปัจจุบันผลไม้ไทยหลายประเภทเป็นที่ต้องการของตลาดจีนตะวันตกเฉียงเหนือ คณะกรรมการฯได้วางแนวทางการปฏิบัติงานดังนี้

                                1.เน้นในเรื่องเส้นทางการขนส่งลำเลียงผลไม้จากไทยมายังมณฑลส่านซี รวมไปถึงการนำผลไม้เมืองหนาวของมณฑลส่านซีส่งขายยังประเทศไทยอีกด้วย

                                2.กระตุ้นให้มีการเชื่อมต่อ สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการชาวไทย-ชาวส่านซี เพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกันรวมไปถึงความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุนด้านผลไม้เป็นหลัก

                                3.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ผลไม้นำเข้าเป็นที่รู้จักซึ่งกันและกัน โดยต้องเร่งการสร้างมาตรฐานของการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานและกำหนดระดับการค้าไทย-ส่านซีให้ชัดเจนมากขึ้น

3.จากสถิติการค้าระหว่างประเทศทราบว่า ผลไม้จากมณฑลส่านซีส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด นอกเหนือจากนี้ยังมีการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศใดบ้างค่ะ

                ใช่ครับ มณฑลส่านซีส่งออกผลไม้ไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด นอกจากนี้เรายังส่งออกผลไม้ไปยังประเทศรัสเซีย ตะวันออกกลาง EU แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ รวมๆแล้วทั้งสิ้น 20 ประเทศครับ นอกจากนี้ประเทศไทยยังถือเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรของมณฑลเราไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย จากสถิติของมณฑลส่านซีพบว่าในปีพ.ศ.2552 มณฑลส่านซีส่งออกผลไม้ไปยังไทย 14,700 ตันคิดเป็นมูลค่า 10.18 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ปีพ.ศ.2553 ปริมาณ 12,900 ตัน มูลค่า 8.64 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และปีล่าสุดปริมาณการส่งออกลดลงเนื่องจากประเทศไทยประสบอุทกภัย 7,163.8 ตัน มูลค่า 6.78 ดอลล่าร์สหรัฐ

4.มณฑลส่านซีส่งออกผลไม้ไปยังประเทศไทยในปี 2554 คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดค่ะ

                - ปริมาณการส่งออกของปีที่แล้วลดลงเนื่องจากไทยประสบอุทกภัยครับ โดยประมาณก็ร้อยละ 25 ครับ

5.คณะกรรมการฯเล็งเห็นปัญหาในด้านการนำเข้าส่งออกผลไม้มายังมณฑลส่านซี ในด้านใดบ้างค่ะ

                ปัญหาที่ทางคณะกรรมการเล็งเห็นในปัจจุบันมีดังนี้ เส้นทางหลักในการขนส่งผลไม้จากประเทศไทยมายังมณฑลส่านซียังคงเป็นทางเรือและการขนส่งทางบกผ่านทางมณฑลยูนนาน แต่มักพบว่าข้อเสียของการขนส่งทางเรือและทางบกสร้างความเสียหายให้แก่ผลไม้ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบในเชิงการขนส่งทางอากาศ ผลไม้ส่วนมากเมื่อมาถึงมณฑลส่านซีมักมีสภาพที่ไม่สดใหม่รวมไปถึงเน่าเสียง่าย ซึ่งเส้นทางR3 ถือว่าเป็นเส้นทางที่ผู้ประกอบการนิยมใช้กันมากและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกได้ดี แต่ก็พบว่าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4(เชียงของ-ห้วยทราย)[1] ค่อนข้างล่าช้า ซึ่งผมคิดว่าถ้าการก่อสร้างเส้นทางนี้เสร็จสิ้น จะทำให้สามารถร่นระยะเวลาการขนส่งลำเลียงผลไม้หรือสินค้าต่างๆจากไทยมายังจีนได้เร็วและสะดวกมากขึ้น

                นอกจากนี้วิสาหกิจของส่านซีเองได้รับใบอนุญาติประกอบการส่งออก ใบอนุญาตแปรรูปผลไม้ส่งออกไปยังต่างประเทศน้อยครับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการผลไม้สดและผลไม้แปรรูป ซึ่งคณะกรรมการฯหวังว่าจะสามารถเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยยินดีที่จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานไทยและหน่วยงานของมณฑลส่านซี เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจของมณฑลส่านซี

6.เป็นที่ทราบกันดีว่า การขนส่งผลไม้ของส่านซีไปจำหน่ายยังประเทศไทยโดยบกยึดเอาเส้นทาง R3A, R9, R12 เป็นหลักอยากทราบว่านอกเหนือจากการส่งออกผลไม้ส่านซีแล้ว วิสาหกิจส่านซีส่วนใหญ่นำผลไม้เมืองร้อนของไทยเข้ามาจำหน่ายยังมณฑลส่านซีด้วยหรือไม่ค่ะ

                ผู้บริโภคในมณฑลส่านซีและพื้นที่มณฑลใกล้เคียงชอบผลไม้ไทยมากนะครับ เฉพาะยอดขายผลไม้ไทยในนครซีอานก็ประมาณ 20,000 ตัน/ปี แต่โส่วนมากยังคงเป็นการนำเข้าผ่านตลาดในนครกวางโจว ซึ่งเป้าหมายของคณะกรรมการฯต้องการที่จะลดการพึ่งพาพื้นที่การนำเข้าทางมณฑลกวางโจวครับ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการนำเข้าพบปัญหาพ่อค้าคนกลางและคุณภาพสินค้าเมื่อต้องขนส่งต่อมายังนครซีอานเพื่อทำการกระจายสินค้าไปยังที่ต่างๆ ก็ทำให้คุณภาพด้อยลงมาก ตอนนี้ทางคณะกรรมการฯกำลังเร่งผลักดันและให้ความช่วยเหลือบ.ส่านซีซิ่งเถียนอยู่ครับเนื่องจากเป็นวิสาหกิจทางด้านผลไม้ของส่านซีโดยตรง กำลังมีโครงการก่อตั้งศูนย์จำหน่ายผลไม้จากมณฑลส่านซีที่จ.เชียงใหม่ และโครงการการก่อสร้างศูนย์การขนส่งผลไม้ที่ประเทศกัมพูชาในช่วงปลายปี 2555 ในอนาคตจะเร่งผลักดันให้มีการก่อตั้งศูนย์รับซื้อสินค้าเกษตรที่ไทยด้วยครับ

                สำหรับผู้ประกอบการที่นำเข้าผลไม้จากไทยมายังส่านซีเอง มีการนำมังคุด ทุเรียน และลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ที่คนส่านซีนิยมมากเข้ามาจำหน่ายครับ ซึ่งผมคิดว่าในอนาคตควรมีการนำผลไม้ชนิดใหม่ๆ เข้ามาทดลองตลาดส่านซีดูบ้าง

7.มองสภาพการณ์ลงทุนของไทยเป็นอย่างไรบ้างค่ะ

                มณฑลส่านซีเป็นเมืองเกษตรกรรมเช่นเดียวกับประเทศไทยครับ มีสินค้าเกษตรที่มีจุดเด่นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ แต่วิสาหกิจส่วนใหญ่ในมณฑลสานซียังมีความรู้ความเข้าใจนโยบายการลงทุนของไทยน้อยครับ หากต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย อันดับแรกควรจะมีความรู้ ความเข้าใจสภาวการณ์ในด้านต่างๆของประเทศไทยเสียก่อน นอกจากนี้ผมยังคิดว่าด้วยทิศทางและรูปแบบการทำงานไม่ว่าจะเป็นด้านการแปรรูปที่ดิน การประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่เกิดจากการลงทุน ผมมองว่าทั้งสองประเทศมีวิธีการและแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างกันค่อนข้างมากครับ แน่นอนว่าการลงทุนในต่างประเทศต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องของพื้นที่นำเอาระบบ Cold Chain Logistics (冷链物流) [2]    มาใช้ซึ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าการลงทุนในประเทศถึงร้อยละ 50 ในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการฯได้เน้นย้ำให้วิสาหกิจศึกษาและเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องนโยบายอุดหนุน การให้การสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือในกรณีวิสาหกิจต่างประเทศต้องนำเข้าอุปกรณ์การผลิต เอกสารที่เกี่ยวข้องกับนโยบายลดภาษีศุลกากร พิธีการนำเข้าต่างๆ และศึกษาข้อดี ข้อเสียโครงการความร่วมมือกับวิสาหกิจไทย

8. การก่อตั้งคณะกรรมส่งเสริมด้านผลไม้ในครั้งนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี ในอนาคตจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน อีกหรือเปล่าค่ะ

                มีครับ นอกจากการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้แล้ว ในอนาคตจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมครับ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมกับประเทศไทย

9. คณะกรรมการฯต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลไทยในด้านใดบ้างค่ะ

                ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้สำหรับวิสาหกิจส่านซีคือการรวบรวมนโยบาย ข้อตกลงความร่วมมือของไทยในด้านการลงทุนจากต่างประเทศครับ อยากให้มีระบบที่สามารถแนะนำคู่ค้าทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการชาวต่างชาติให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดการที่ดินเพื่อก่อตั้ง ก่อสร้างในโครงการนั้นๆ

                ในแง่ของธุรกิจผลไม้ อยากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องความร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ท้องถิ่นหรือในรูปแบบการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ชุมชนของเกษตรกรครับ รวมไปถึงความร่วมมือกับธุรกิจในแขนงที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเอาผลผลิตมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไป ซึ่งผมคิดว่าหากได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้จะช่วยกระตุ้นให้การนำเข้าส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรอย่างอื่นจากประเทศไทยมายังมณฑลส่านซีขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้น

_______________________________

[1] ข้อตกลงและสัญญาการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 (เชียงของ -ห้วยทราย) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยที่บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายกับประเทศลาวที่บ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ระยะทาง 248 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,624 ล้านบาท โดยการสมทบทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน มีกำหนดเสร็จสิ้นในปลายปีนี้(www.th.wikipedia.org/wiki)

[2] ระบบ COLD CHAIN LOGISTICS คือระบบการจัดการเก็บรักษาสินค้าเพื่อช่วยรักษาและควบคุมคุณภาพของสินค้าให้คงอยู่ขณะการจัดเก็บและขนส่งไปยังผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญในเรื่องของอุณหภูมิ และ เวลา เนื่องจากสองปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหลักในการควบคุมสภาพของสินค้าให้อยู่ในสภาพที่ผู้บริโภคต้องการ     

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน

แหล่งข้อมูล จากการสัมภาษณ์

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

1. สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-ส่านซีจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านผลไม้

2.อุตสาหกรรมผลไม้มณฑลส่านซีรุดหน้า พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำของประเทศจีนใน 8 ด้าน

3. แอบดู OTOP ส่านซี : แอปเปิ้ล ของดีจากลั่วชวน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ