ศึกษาพัฒนาการเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง

ศึกษาพัฒนาการเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ส.ค. 2564

| 1,511 view

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน (Xi’an Hi-tech Industries Development zone) ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2534 โดยได้รับมติเห็นชอบจากสภาแห่งชาติภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(MOST)และการตั้งเป้าให้มณฑลที่ไร้ทางออกสู่ทะเลแห่งนี้กลายเป็นเขตที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่รวดเร็วไม่แพ้เขตพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจีน เขตไฮเทคฯแห่งนี้จัดได้ว่าเป็นเขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีนอีกด้วย

กว่าจะมาเป็นเขตไฮเทคฯ

 

ในสมัยก่อนพื้นที่ก่อนการก่อสร้างเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน เป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่มีผู้คนเข้ามาทำกิน ภายหลังเมื่อได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อรองรับนโยบายการสร้างความเจริญ การพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกลาง ในปีพ.ศ. 2534 จึงได้มีการเริ่มก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวขึ้น

ลำดับความเป็นมาของเขตไฮเทคฯนครซีอาน

            - ปีพ.ศ.2534 สภาแห่งชาติจีน อนุมัติการจัดตั้งเขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน

            - ปีพ.ศ. 2535 ได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในโรงงานอุตสาหกรรม(国家先进高新技术产业开发区)

            - ปีพ.ศ. 2540 เขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานเป็นเขตฯแรกที่ได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งชาติให้เข้าร่วมเป็น APECSciencePark) (ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิก)

            - ปีพ.ศ. 2544 เขตพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่สาธิตทางด้านเทคโนโลยีระดับสูงของประเทศ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (ซึ่งมีกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเซินเจิ้น และนครอู่ฮั่นที่ได้รับเลือก)

            - ปีพ.ศ. 2546 ได้รับการคัดเลือกจากกรมสถิติแห่งชาติให้เป็น 1 ใน 50 เขตที่มีสภาพแวดล้อมการลงทุนรวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี

            - ปีพ.ศ. 2547 ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงสิ่งเเวดล้อมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เขตไฮเทคฯเป็นพื้นที่การจัดการทางด้านสิ่งเเวดล้อมมาตรฐาน ISO14000

            - ปีพ.ศ. 2548 เป็นเขตอุตสาหกรรมไฮเทค 1 ในพื้นที่พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกจากรัฐบาลแห่งชาติ

เขตไฮเทคฯในปัจจุบัน “ฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศจีน”

ปัจจุบันเขตไฮเทคฯนครซีอานถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สิ่งที่สะท้อนถึงอนาคตและศักยภาพทางด้านการพัฒนาของนครซีอาน จากข้อมูลทางการเขตไฮเทคฯระบุว่าเขตไฮเทคเริ่มมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงปีพ.ศ.2548-2550 โดยในปี พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้ประกาศให้เขตไฮเทคฯนครซีอานเป็น 1 ใน 6 ฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งชาติ (First-Class Hi-Tech Development Zones) ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจีน ในปีพ.ศ.2549 เขตไฮเทคฯนครซีอานยังได้ต้อนรับวิสาหกิจกว่า 1,062 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ การผลิตสื่อดิจิตอล อุตสาหกรรมการผลิตยา อุตสาหกรรมสำหรับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบใหม่ (New Materials) นอกจากนี้ มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้วกว่า 7,000 ชิ้น

 

จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นว่าการพัฒนาเขตไฮเทคฯนครซีอานมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุตสาหกรรมหลักทำเงินจำนวน 4 ประเภทที่ถือเป็นหัวใจหลักของเขตฯดังนี้   

1.อุตสาหกรรมประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า (Electronic information Industries)

เขตไฮเทคฯเป็นฐานที่ตั้งของวิสาหกิจผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารมากมาย อาทิเช่น HUAWEI(华为),ZTE(中兴),Longcheer (上海龙旗),NEC, FUJITSU, SIEMENS, MOBI(摩比)ปัจจุบันเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานถือเป็นฐานการผลิตวัสดุ อุปกรณ์ ชิ้นส่วนที่ใช้ในระบบการสื่อสารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ

2.อุตสาหกรรมประเภทหลอดให้แสงสว่าง (LED Industries)

เป็นฐานที่ตั้งของบ.ผู้ผลิตอุปกรณ์ให้แสงสว่างชั้นนำของโลก อาทิ GE,Kingsun ผู้ผลิตอุปกรณ์ให้สัญญาณด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และฐานการผลิตซิลิคอนชิป รวมไปถึงเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Lighting Research production base)

3.อุตสาหกรรม Software และ Outsourcing

อุตสาหกรรมดังกล่าวในปัจจุบันมีการขยายตัวที่สูงขึ้น เนื่องจากในนครซีอานมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่มีความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรภายภายในองค์กรที่มีอยู่ดังนั้นทางเลือกหนึ่งก็คือ การจ้างองค์กรภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญทำงานแทน เช่น การดูแลเครื่องแม่ข่าย (Server), การดูแลระบบเครือข่าย (Networking), ควบคุมระบบสื่อสาร, การสำรองและเรียกคืนข้อมูล, การใช้ซอฟท์แวร์ประยุกต์, ความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น ในเขตไฮเทคฯถือเป็นอุตสาหกรรมการให้บริการอีกประเภทที่ได้รับความสนใจอย่างมากเนื่องด้วยในปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดเล็กในนครซีอานเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งถ้าลงทุนทำเองทั้งหมดต้องใช้เวลาและงบประมาณสูง

4.อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง(Advanced Manufacturing)

อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับการผลักดันจากคณะกรรมการบริหารเขตไฮเทคฯเป็นอย่างมากในปัจจุบันมีวิสาหกิจที่เข้ามาลงทุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหลายราย อาทิ BYD, SHAANXI FAST GEAR, Xi’an Daikin, China XD Group รวมแล้วกว่า 2,000 บริษัท ซึ่งจากสถิติปีพ.ศ.2553 พบว่าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมประเภทนี้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 12.06 ซึ่งในปัจจุบันวิสาหกิจต่างชาติก็ได้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เช่นกัน อาทิ (1) โครงการก่อสร้างระบบการผลิต printed circuit board ของบ.SIMTECH จากประเทศเกาหลีใต้ (2) โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตชิปหน่วยความจำที่มีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียของ บ. Samsung จากประเทศเกาหลีใต้ (3) โครงการก่อสร้างศูนย์การผลิตประจำพื้นที่ตะวันตกของประเทศจีนของกลุ่ม บ. Hunter Douglas จากประเทศเนเธอร์เเลนด์ 

อนึ่ง พบว่าอุตสาหกรรมหลักทั้ง 4 ประเภทข้างต้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทำเงินหลักของเขตฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมด นอกจากนี้ รายได้รวมจากอุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทในปีพ.ศ.2553 อยู่ที่ 50,391 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

นอกจากนี้อุตสาหกรรมอีกหลายประเภทที่ได้รับการจัดให้เป็นอุตสาหกรรมกลุ่มหลักที่คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานกำลังเดินหน้าผลักดัน อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Industries) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนให้พลังงานและเทคโนโลยีพลังงาน (Power Equipment and Energy technology) อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์พลังงานรับแสงอาทิตย์ (Photovoltaic industries) อุตสาหกรรมยานยนตร์ (Automotive Manufacturing) เป็นต้น

ความแข็งแกร่งและศักยภาพของเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน

อาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันเขตไฮเทคฯของนครซีอานเป็นเขตที่มีจำนวนวิสาหกิจและรายได้สูงที่สุดในนครซีอาน เนื่องจากรัฐบาลนครซีอานและคณะกรรมการบริหารเขตพร้อมใจกันดำเนินนโยบายเพื่อแรงจูงใจให้แก่วิสาหกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนในเขตไฮเทคฯ โดยมักออกนโยบายสนับสนุนให้แก่วิสาหกิจอยู่เสมอ

นอกจากนี้เขตไฮเทคฯยังพยายามที่จะสร้างการบริการที่เป็นหนึ่งให้แก่วิสาหกิจและผู้ประกอบการรายย่อยอาทิ การสร้างศูนย์นวัตกรรมการบริการ(创业服务中心) ศูนย์ส่งเสริมการผลิต(生产力促进中心) รวมไปถึงการสร้างศูนย์บ่มเพาะ(ProfessionalincubatorCenter) เพื่อให้บริการแก่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ยังไม่มีงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว ซึ่งศูนย์บ่มเพาะดังกล่าวยังเคยได้รับรางวัลระดับเอเชียมาแล้ว รวมไปถึงศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย 4 แห่งที่รองรับการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานยังได้มีโครงการ “พันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม” มีโครงการความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีกับ 12 ประเทศและศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมจำนวน 77 แห่ง

นโยบายที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาลงทุนของวิสาหกิจในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน

รัฐบาลนครซีอานและคณะกรรมการบริหารเขตไฮเทคฯ ภายใต้นครซีอาน ได้ออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้แก่การเข้ามาลงทุนของวิสาหกิจ โดยในปีพ.ศ.2555 คณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานได้ออกนโยบายพิเศษ(Preferential Policies) จำนวน 5 ประเภทด้วยกันโดยมีเนื้อหาและใจความสำคัญดังนี้

1. นโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตฯ โดยคณะกรรมการบริหารเขตฯ เน้นหนักในเรื่องต่างๆดังนี้

- การให้เงินรางวัลจำนวนตั้งแต่ 1 แสน-1ล้านหยวน แก่วิสาหกิจที่มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 30 ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปีซ้อนหรือมีผลประกอบการเกิน 50 ล้านหยวนขึ้นไปสำหรับวิสาหกิจประเภทเทคโนโลยีระดับสูง

- นโยบายปลอดค่าธรรมเนียม เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ที่ผ่านมา บทความเพิ่มเติม (เขตไฮเทคฯนครซีอานนำมาตรการ “เขตอุตสาหกรรมปลอดค่าธรรมเนียม” จูงใจนักลงทุนมาใช้เป็นแห่งแรกในพื้นที่จีนตะวันตก)

- นโยบายเพื่อดึงดูดและจูงใจบุคลากรที่มีคุณภาพ (吸引高层次人才优惠政策) โดยให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัย การลดภาษีรายได้ส่วนบุคคล ทั้งนี้ผู้ที่มีสิทธิ์ในนโยบายเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่ระบุเอาไว้ด้วย อาทิ หากเป็นบุคลากรสัญชาติจีนที่ประกอบอาชีพในวิสาหกิจประเภท วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ออกแบบจะต้องมีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 400,000 หยวนหรือบุคลากรที่ประกอบอาชีพอื่นๆจะต้องมีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 150,000 หยวน ชาวต่างชาติจะต้องมีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 300,000 หยวนขึ้นไป จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

2.นโยบายให้การสนับสนุนนวัตกรรมรูปแบบใหม่

- นโยบาย “โครงการนักคิดนวัตกรรมอุตสาหกรรม (百名院士创新业工程)” โดยเป็นโครงการของสำนักงานการคลังคณะกรรมการบริหารเขตไฮเทคฯให้เงินทุนสนับสนุนแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวนเงินสูงสุด1 ล้านหยวน

- นโยบายการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาชั่วคราวของเขตเกาซิน ซึ่งเป็นนโยบายที่รองรับการช่วยเหลือ 3 ประเภทอันได้แก่

(1) การคลังและภาษีอากร

(2) ระบบข้อมูลสถิติ

(3) มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยเหลือในรูปแบบของเงินสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ  

3.นโยบายส่งเสริมบรรยากาศการลงทุน

- คณะกรรมการบริหารเขตไฮเทคฯนครซีอานออกนโยบายการจัดหาเงินทุนสำหรับการค้ำประกันรวมไปถึงการรับประกันเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนแก่วิสาหกิจ รวมไปถึงเงินอุดหนุนทางด้านเทคโนโลยีแก่วิสาหกิจ

- มาตรการค้ำประกันความเสี่ยงในการลงทุนและให้เงินอุดหนุนในวิสาหกิจขนาดใหญ่(Large Scale industries) ที่มีผลประกอบการสูงกว่า 5 ล้านหยวนขึ้นไป      

4.นโยบายทางด้านการพัฒนาบุคลากร

- การอบรมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ (Emerging industries) โดยการตั้งงบประมาณสนับสนุนจำนวน 1,000

ล้านหยวนในการให้การอบรมและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โครงสร้างและบุคลากร   

นอกจากนี้ยังให้มีการแบ่งระบบการทำงานเป็นหน่วยย่อยขนาดเล็กเพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงวิสาหกิจรวมไปถึงเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบและอนุมัติโครงการต่างๆได้ทันเวลารวมไปถึงตั้งกองทุนให้การสนับสนุนบุคลากรที่ประสงค์จะศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพโดยจะต้องเป็นบุคลากรที่ทำงานในวิสาหกิจที่มีฐานที่ตั้งในเขตไฮเทคฯและมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี การสนับสนุนสถานที่ตั้งอุปกรณ์การทดลอง การวิจัยต่างๆอีกด้วย                                                           

5.นโยบายการป้องกันสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน

-นโยบายการให้รางวัลและสนับสนุนแก่วิสาหกิจที่เป็นตัวอย่างในระบบการจัดการการปล่อยมลพิษ(鼓励污染物减排奖励) โดยพิจารณาจากปริมาณการสิ้นเปลืองพลังงานรวมต้องลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาของปีที่แล้วและไม่มีเหตุการณ์อุบัติเหตุด้านความปลอดภัยในขั้นตอนการผลิต ซึ่งจะมีเงินรางวัลให้แต่ละวิสาหกิจที่ผ่านการพิจารณาไม่เกินรายละ 400,000 หยวน

-นโยบายการดูแลและจัดการมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมระบบ ISO 14000 ในวิสาหกิจต่างๆ

เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

นอกเหนือจากการผลักดันให้พื้นที่เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอานเป็นแหล่งศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว เขตไฮเทคฯยังได้วางแนวทางให้เป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการวางแนวทางและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการเข้ามาอยู่อาศัยภายในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน อาทิ

                        - โรงเรียน- ห้างสรรพสินค้า  - โรงพยาบาล

                        - โรงแรม - โรงยิม - สปอร์ตคลับ

                        - แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ,สวนสาธารณะ

 

                      

ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจริงในพื้นที่ :เสียงสะท้อนความน่าดึงดูดของเขตไฮเทคฯนครซีอาน

ในช่วงปีพ.ศ.2554-2555 มีกลุ่มวิสาหกิจใหญ่หลายแห่งทั้งจากในและนอกประเทศต่างเร่งให้ความสนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในเขตไฮเทคฯนครซีอาน อาทิ

•การลงทุนฐานการผลิตโรงงานแห่งใหม่ที่เกิดจากการยุบฐานการผลิตในนครเซี่ยงไฮ้และประเทศออสเตรเลียของ Honeywell ยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัย

•การเข้ามาลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตยาของบ.ซีพี จากประเทศไทยตั้งแต่เดือนก.พ. พ.ศ.2555

•การลงทุนก่อสร้างศูนย์การผลิตชิปหน่วยความจำที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียของบ.Samsung electrics ของเกาหลีใต้

•การลงทุนเพื่อก่อสร้างฐานพัฒนาพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 2,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐของบ.Inter Action จากประเทศญี่ปุ่น

•การลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาของบ.The American Applied Materials ซึ่งคาดการณ์ว่าภายหลังการก่อสร้างเสร็จจะกลายเป็นฐานการวิจัยซิลิกอนโซล่าร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

•การเข้ามาลงทุนตั้งสาขาดูแลพื้นที่เขตภาคตะวันตกของจีนทั้งหมดของบ. NTT Data Corporation ยักษ์ใหญ่ทางด้านการให้บริการซอฟแวร์จากประเทศญี่ปุ่น

•การลงนามความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการเขตไฮเทคฯกับกลุ่มบ.IBM ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาเมืองอันชาญฉลาด (Smart City Solutions Development Zone)

จากข้อมูลการลงทุนเหล่านี้ ต่างสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมั่นใจในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน นอกจากนี้ BICยังได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารและผู้แทนของวิสาหกิจข้ามชาติถึงความรู้สึกและข้อคิดเห็นในการเข้ามาลงทุนในเขตไฮเทคฯแห่งนี้

- Citadines กลุ่มวิสาหกิจในเครือ Ascott จากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจประเภท service apartment กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมสูง เนื่องจากเขตไฮเทคฯนี้ เป็นทำเลการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งนับวันได้เพิ่มจำนวนธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

- โรงแรมแชงกรี-ล่าซีอาน กล่าวว่าสภาพแวดล้อมรวมไปถึงศักยภาพทางด้านการลงทุนที่ดีระดับของผู้อาศัยในเขตฯถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับพื้นที่เขตอื่นๆในนครซีอานจึงเหมาะแก่การลงทุนในธุรกิจโรงแรมและที่พักอาศัยระดับหรูหรา 

- กลุ่มโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่าการลงทุนในเขตไฮเทคฯแห่งนี้เป็นเพราะการมองเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตไฮเทคฯซึ่งนับวันประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตฯและพนักงานบริษัทต่างๆมีกำลังการซื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

โอกาสของนักลงทุนชาวไทย

ปัจจุบัน มีวิสาหกิจของไทยบางรายได้เข้ามาทำงานลงทุนในเขตไฮเทคนครซีอานบ้างแล้วทั้งนี้ซีอานถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ประสงค์เข้าถึงตลาดจีนตะวันตกเฉียงเหนือ หรือผู้ที่ประสงค์จะย้ายฐานการผลิตจากเมืองอื่นๆ ในจีน โดยเฉพาะจีนตะวันออกซึ่งนับวันจะมีค่าแรงสูงขึ้นเรื่อยๆและปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า มีวิสาหกิจชั้นนำจากชาติต่างๆ ทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชียตะวันออกที่ เริ่มจะให้ความสนใจพิจารณาการย้ายฐานการผลิตมาที่ซีอานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในส่วนภาคการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าไทยจะมีศักยภาพในการลงทุนได้แก่ การผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน  การพัฒนาการเกษตรที่ไทยมีความรู้และมีบุคลากรผู้ชำนาญการ การพัฒนาทรัพยากรแร่พลังงานและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อ่านบทความเพิ่มเติม(เจาะลึกตลาดท่องเที่ยวไทยในส่านซี)

บทส่งท้าย

นครซีอานเมืองเอกของมณฑลส่านซี แม้ไร้ทางออกสู่ทะเลและเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งประวัติศาสตร์ แต่ก็มีศักยภาพในธุรกิจด้านอื่นๆ โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันกว่า 16,000 บริษัท ได้ลงทุนฐานการผลิตในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงนครซีอาน และภายหลังที่รัฐบาลของประเทศจีนเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างจริงจังทำให้ภาคตะวันตกของจีนได้กลายเป็นแหล่ง“ทำเลทอง” ที่วิสาหกิจทั้งในและนอกประเทศต่างก็ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนและตั้งฐานการผลิต เนื่องจากได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งและมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ต่ำกว่าแรงงานในพื้นที่ตะวันออกของจีน เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณบวกที่ซีอานน่าจะสามารถเร่งพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ให้มีกำลังการผลิตและศักยภาพเทียบเท่ากับจีนตะวันออกได้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการควรทำการศึกษาข้อมูลในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน BIC มองว่าการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจีนของผู้ประกอบการไทยยังมีน้อย ซึ่งหมายถึงไทยจะมีคู่แข่งทางการค้าและการลงทุนที่น้อยอยู่ ดังนั้นโอกาสในการเข้ามาเปิดตลาดในจีนฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของนักลงทุนไทยยังถือได้ว่าเป็นโอกาสทองที่ต้องรีบไขว่คว้า เนื่องจากประเทศอื่นๆต่างก็เล็งเห็นศักยภาพทางการลงทุนในพื้นที่จีนตะวันตกเฉียงเหนือด้วยเช่นกัน 

***********************************

ข้อมูลเพิ่มเติม :มารู้จักเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ของนครซีอาน

 

ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในปีพ.ศ.2555 นี้เขตพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูงนครซีอาน เตรียมผลักดันพื้นที่สาธิตภายใต้แนวคิด “两带四区七园”อันได้แก่

 “两带”การลงทุนในเขตไฮเทคระดับล้านล้านหยวนและพื้นที่บริการทางอุตสาหกรรมโมเดิร์น

“四区” ได้แก่การลงทุนในพื้นที่ชุมชนเชิงพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ที่ดูแลและกำกับด้านเศรษฐกิจ เขตนวัตกรรมสร้างสรรค์และพื้นที่ศูนย์รวมทางด้านการเงินและการพาณิชย์

 “七园” ได้แก่การลงทุนในด้านฐานการผลิตทั้งหมด 7 ประเภทได้แก่1) ศูนย์พัฒนาและการวิจัย 2) ซอฟแวร์พาร์คแห่งใหม่ 3) พื้นที่แปรรูปเพื่อการส่งออกโซน B 4) พื้นที่การผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง 5) ศูนย์การแพทย์ชีวภาพ 6) นิคมอุตสาหกรรมการสื่อสารฉางอันและ7) นิคมอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์เฉ่าถัง นอกจากนี้ยังเดินหน้ามาตรการ “三放 三聚 三辐射” ได้แก่การรวบรวมและเน้นหนักในด้านความร่วมมือทางด้านข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีบูรณาการการใช้ร่วมกันมากขึ้น

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

1.คู่มือการลงทุน สำหรับวิสาหกิจต่างชาติInvestment Guide 

2.เขตไฮเทคฯนครซีอานนำมาตรการ “เขตอุตสาหกรรมปลอดค่าธรรมเนียม” จูงใจนักลงทุนมาใช้เป็นแห่งแรกในพื้นที่จีนตะวันตก

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ